เส้นทางพัฒนาอารยสถาปัตย์ การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล อีกหนึ่งกุศโลบายที่จะทำให้เกิดการร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (ตอนจบ)

จากนั้นในช่วงสาย เราออกมาสำรวจปัญหาของทางเท้าสร้างใหม่ของกรมทางหลวง ที่ตัดผ่านชุมชนท่องเที่ยวของเขาหลัก จังหวัดพังงาพบว่าเป็นปัญหาคลาสสิคมายาวนานทั่วไทย

นั่นคือ ทำทางเท้าแล้วไม่ทำทางลาดไว้ให้ แถมเมื่อทางเท้าใหม่อยู่สูงกว่าเก่า

มนุษย์ล้อ มนุษย์ไม้เท้า มนุษย์วอลคเกอร์ รถเข็นเด็ก และแม้แต่คนลากกระเป๋ามีล้อ ก็จะไปยากขึ้นเรื่อย

ขึ้นลงขึ้นลงจนไม่ไหว ก็คงต้องลงไปเสี่ยงชีวิตบนถนนที่เป็นผิวการจราจร ถ้ามีรถจอดชิดทางเท้าก็ยิ่งต้องเอาตัวออกไปเดินบนเลนที่สองถ้าคนเดินปกติอาจทำตัวลีบๆไปเร็วๆ  แต่คนที่ต้องใช้ทางลาดในทุกช่วงวัยย่อมไปช้า และจะเบียดข้างก็ไม่ได้อีก

จุดเหล่านี้จึงต้องขอร้องให้ท่านผู้รับผิดรับชอบทบทวนแก้ไขด่วนจี๋ เพราะถ้ามีใครเป็นไรไป มีใครตัดสินใจเอาเรื่องเป็นคดีสู่ศาล ย่อมหาคำแก้ตัวได้ไม่ง่าย

เพราะนโยบายมี กฏกระทรวงมี  แต่สงสัยว่าในแบบก่อสร้างจะไม่มีในสิ่งที่ควรมี แล้วมันผ่านมือผ่านตาผู้มีหน้าที่มาจนถึงขั้นที่มีการทักการแจ้งแล้วไม่แก้ไข

ยังไงๆก็คงไม่จบไปอย่างเงียบเชียบมังนะครับ

 ปิดท้ายทริปนี้ ด้วยการไปลงเรือแคนูยาง ที่บริการโดยกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนในตะกั่วป่า ที่คลองสังเน่ห์  ชาวบ้านเรียกพายท่องลิตเติ้ลอเมซอน!!

ผมอุ้มคุณกฤษณะลงเรือแล้วนั่งประกบไปด้วยกันเผื่อมีเหตุฉุกเฉิน

แต่พอลงไปจึงได้รู้ว่า ทางน้ำแรกที่จะพาไปนั้นลึกแค่ไม่ถึงเข่า

แต่เสน่ห์ของการนั่งในเรือเล็กๆกินน้ำตื้น ไปชมรากไม้ รากอากาศของป่าไทร ป่าจาก และต้นไม้ท้องถิ่นนั้น น่าสนุกอย่าบอกใครเชียวครับ มีเส้นทางเป็นสองง่ามของทางน้ำ

 เส้นทางแรกเป็นการพายไปเพื่อเข้าชมแผงของรากต้นไทรที่พันเกี่ยวกันไปมาจนเป็นตาข่ายของรากให้เราขึ้นไปไต่ชมได้ ที่จริงเส้นนี้คือทางที่ชาวบ้านใช้เรือท้องแบนลำเล็กๆมาบรรทุกเพื่อเข็นๆไถๆเอาผลปาลม์ออกจากสวนที่มีน้ำนองพื้นตลอดปี

แต่เส้นทางนี้มีธรรมชาติที่งดงามราวป่าอเมซอน เพราะเป็นป่าดิบชื้น ดังนั้นผู้นั่งมาในเรือจะไม่โดนแดดเลย อากาศจะเย็นฉ่ำตลอดเวลา แถมไม่ต้องกลัวว่าจะอันตราย เพราะน้ำลึกไม่ถึงเข่า มีสะพานเตี้ยๆให้ได้ลอดกันพอขำๆ

ก่อนจะย่อนกลับมาตั้งต้นที่สามแยกเพื่อไปทางเส้นที่สอง เส้นที่สองนี้จะลึกราวๆอกผมละ คือสักเมตรเกินครึ่งนิดหน่อย เราจึงต้องให้คุณอ๋อยใส่ชูชีพให้แน่ใจไว้ก่อน

จากนั้นฝีพายจะพาเราเลาะไปตามคลองที่คดเคี้ยว มีสุมทุมพุ่มไม้ทั้งต้นไทร ต้นกก ต้นจิก ต้นหวายทะเล ต้นจาก และที่น่าสนใจมาก คือต้นเหงือกปลาหมอที่เป็นสมุนไพรถอนพิษได้ดีขึ้นเป็นกอตามตลิ่งแคบฟของคลองนี้

คลองนี้ยาวราว600เมตรจะไปบรรจบกับแม่น้ำ จากแม่น้ำอีกสักกิโลเมตรก็จะถึงทะเลอันดามัน

ดังนั้น ที่นี่จึงรับอิทธิพลของน่ำขึ้นน้ำลง เป็นคลองน้ำกร่อย เป็นแหล่งอนุบาลกุ้งปู ปลาตอนอายุน้อยตามธรรมชาติ เพราะมีพูพอนรากไม้เยอะแยะให้สามารถซ่อนตัว และหาแพลงตอนกินก่อนจะโตพอออกสู่ทะเล

เราพายเรือมาอย่างเงียบๆ

จึงสามารถสังเกตเห็นนกกินปลามาดุ่มๆในน้ำบ้าง เห็นนกเงือกตัวย่อมๆมาเกาะบนคบไม้เหนือศรีษะ

เห็นงูปล้องทองนอนหลบแดดช่วงกลางวันบนกิ่งไม้  ที่นี่มีนักส่องนกมาพบนกแปลกตาจำนวนมาก

ส่วนชาวบ้านจะนิยมมาจับปูดำหรือปูทะเลก้ามโตๆไปกินกันจากคลองนี้ ตามทางมีต้นไม้ที่ล้มจากพายุเข้าหลายวันก่อน ชาวบ้านเอาเลื่อยมาตัดกิ่งออกพอให้ไม่ขวางเรือ

เราจึงมีกิจกรรมก้มๆมุดๆให้ผ่านช่องของง่ามไม้ที่ล้มลงแบบสนุกๆอีกครั้ง ที่นี่มีป่าไทรอีกเช่นกัน แถมเป็นไทรม้วนเพราะรากอากาศของไทรฝั่งนี้จะม้วนตัวเป็นเกลียวพร้อมๆกันทั้งต้นจนคนเรือบอกว่าเหมือนเส้นบะหมี่สำเร็จรูป เรียกเสียงฮือฮาจากคนโดยสารได้ทีเดียว เพราะจริงดั่งสาธยายมาก

เราใช้เวลาล่องเรือพายไปและกลับขึ้นที่ท่าน้ำตามสูตรของแพคเกจคือ หนึ่งชั่วโมง ราคาลำละห้าร้อยบาท

ได้อุดหนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่จัดโดยชุมชน สร้างการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบด้วยการเคารพสิ่งแวดล้อม ไม่ทิ้งขยะ ไม่ส่งเสียงรบกวนธรรมชาติ ได้ความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ

และที่สำคัญ ไม่ไกลจากเมืองเลย เราก็สามารถซาบซึ้งกับบรรยากาศอันแสนโรแมนติค  ผมจึงขอแนะนำให้เราไปอุดหนุนชุมชนกันนะครับ

ท่านที่ไปนั่งเรือแล้วนึกท่าโพสต์ถ่ายรูปไม่ออก ขอแนะนำให้เอ่ยปากบอกพี่คนพายได้เลย เพราะผมเห็นพี่คนพายลำข้างๆแนะนำสารพัดท่าโพสต์เก๋ไก๋ พร้อมกับใช้พายบังคับเรือให้หันรับมุมแสงและแบ้คกราวน์ได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นมืออาชีพแบบช่างถ่ายภาพเลยเชียว

แถมยังสามารถทำหน้าที่รับกล้องมากดแชะกดแชะให้คุณลูกค้าได้อย่างรู้งานมากๆ

รายได้เสริมเหล่านี้แหละ ที่ช่วยให้ชาวบ้านชาวสวนมีทั้งเงินเพิ่ม มีทักษะใหม่ๆในการเปลี่ยนจากพรานผู้เคยล่ามาเป็นพรานผู้เล่า อย่างภาคภูมิใจ

คนฟังก็พลอยได้ความรู้

และหวังว่าคนดูจะพลอยได้เกิดประกายอยากไปเยือนชุมชนท่องเที่ยว

ชิมอาหารท้องถิ่น

กินกับคนพื้นบ้าน

และช่วยกันนำเรื่องเล่าอันน่าภูมิใจเหล่านั้นไปบอกกันต่อไปเรื่อยๆครับ

เป็นอันจบทริปสามวันสองคืน นั่งรถลงใต้จากกรุงเทพ สู่พังงารอบนี้แต่เพียงเท่านี้

ขอบคุณกิจกรรมกฤษณะทัวร์ยกล้อ เส้นทางพัฒนาอารยสถาปัตย์ การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล

อีกหนึ่งกุศโลบายที่จะทำให้เกิดการร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ทั่วไทยครับ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา

ใส่ความเห็น

ฮอนด้า แอคคอร์ด

ที่สุดแห่งเทคโนโลยีการขับเคลื่อนระดับพรีเมียม