การทำสงครามกับโควิด-19 ระลอก 3 ทำให้มีการพูดถึงภาวะผู้นำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นอย่างมาก วันนี้ขอพาย้อนกลับไปดูบทวิพากษ์ของอดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช.ที่เขียนไว้เมื่อปี 2561 “ปรีดิยาธร เทวกุล: 8 เหตุผลที่ผมไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯอีก”

“…การใช้งบประมาณแผ่นดินในการสร้างคะแนนนิยมให้แก่ตนเองและพรรคการเมืองฝ่ายตน ดังที่ประกาศเป็นโครงการแจกเงินหลายประเภทในช่วงเดือน ธ.ค. 2561 ก่อนเริ่มหาเสียงเพียง 1 สัปดาห์ และในช่วงเดือน ธ.ค. 2561 ถึง ก.ย. 2562 ซึ่งเป็นช่วง เวลาที่คาบเกี่ยวกับการหาเสียง การลงคะแนนเสียง และการตั้งรัฐบาล โดยไม่รู้สึกละอายว่านำเงินของประชาชนไปใช้หาเสียง อีกทั้งยังปฏิเสธอย่างหน้าไม่อายว่าโครงการนั้นไม่ใช่โครงการประชานิยม เป็นลักษณะของคนที่ต้องการใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้แน่ใจว่าได้เปรียบคู่ต่อสู้มากแล้ว จึงจะกล้าลงไปต่อสู้กับคู่ต่อสู้ ไม่น่าจะเป็นชายชาติทหารได้เลย…”

24 ธันวาคม 2561 เขียนโดย ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ที่มา สำนักข่าวอิศรา

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยากเป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไปในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ มีการตั้งพรรคพลังประชารัฐขึ้นมาเพื่อปูทางให้พลเอก ประยุทธ์ ได้สืบทอดอำนาจต่อไป ซึ่งเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย แต่พลเอก ประยุทธ์ ก็กระทำการที่ไม่สง่างามเท่าใดนัก กล่าวคือในระยะแรกใช้อำนาจทางกฎหมายที่มีอยู่ห้ามพรรคการเมืองอื่นหาเสียงกับประชาชน แต่ใช้การประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นที่แฝงตัวในการหาเสียงทั่วประเทศ และอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมให้เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างคะแนนนิยมทุกท้องถิ่นที่คณะรัฐมนตรีออกไปประชุมในจังหวัดต่าง ๆ เป็นการหาเสียงก่อนพรรคการเมืองอื่นเป็นเวลาหลายเดือน

นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้รัฐมนตรีในสังกัดที่เป็นผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่แฝงตัวในการหาเสียงก่อนพรรคการเมืองอีกด้วย เป็นการสร้างสภาวการณ์ที่ได้เปรียบคู่ต่อสู้อยู่ตลอดเวลา

และที่น่าเกลียดมากคือ การใช้งบประมาณแผ่นดินในการสร้างคะแนนนิยมให้แก่ตนเองและพรรคการเมืองฝ่ายตน ดังที่ประกาศเป็นโครงการแจกเงินหลายประเภทในช่วงเดือน ธ.ค. 2561 ก่อนเริ่มหาเสียงเพียง 1 สัปดาห์ และในช่วงเดือน ธ.ค. 2561 ถึง ก.ย. 2562 ซึ่งเป็นช่วง เวลาที่คาบเกี่ยวกับการหาเสียง การลงคะแนนเสียง และการตั้งรัฐบาล โดยไม่รู้สึกละอายว่านำเงินของประชาชนไปใช้หาเสียง อีกทั้งยังปฏิเสธอย่างหน้าไม่อายว่าโครงการนั้นไม่ใช่โครงการประชานิยม เป็นลักษณะของคนที่ต้องการใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้แน่ใจว่าได้เปรียบคู่ต่อสู้มากแล้ว จึงจะกล้าลงไปต่อสู้กับคู่ต่อสู้ ไม่น่าจะเป็นชายชาติทหารได้เลย

ผมเห็นการกระทำที่เอาเปรียบคู่ต่อสู้อย่างไม่ละอายเช่นนี้แล้ว ก็ต้องการที่จะลดความได้เปรียบของฝ่ายพลเอก ประยุทธ์ ลงเพื่อให้มีการแข่งขันในการหาเสียงที่เป็นธรรมขึ้น จึงตัดสินใจ เขียนบทความนี้ เพื่อให้เห็นถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศชาติหากพลเอก ประยุทธ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ผมมี 8 เหตุผลที่ผมไม่ต้องการให้พลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีก

1. ในระยะเวลา 3 ปีหลังของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ รัฐบาลกระทำการที่ขาดวินัยทางการคลังอยู่ตลอดเวลา งบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้ ขาดดุลเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อขาดดุลประจำปีเพิ่มอีกไม่ได้แล้ว ก็ใช้วิธีอนุมัติงบประมาณที่มีผลผูกพันไปในอนาคต เท่ากับนำเงินรายได้ในอนาคตมารองรับโครงการจ่ายเงินที่อนุมัติในวันนี้ จนถึงปีงบประมาณปัจจุบันมีการผูกพันงบประมาณไปในระยะ 5 ปีข้างหน้าถึง 1,178,275 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงที่สุดใน ประวัติศาสตร์ งบผูกพันที่สูงที่สุดเป็นของกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการคมนาคมของประเทศที่ต้องใช้เวลาในการก่อสร้างหลายปี จึงต้องตั้งเป็นงบผูกพันไว้ ก็เป็นที่ยอมรับได้

แต่งบผูกพันที่สูงเป็นอันดับสองเป็นของกระทรวงกลาโหม จำนวนสูงถึง 177,294 ล้านบาท (ในขณะที่งบประจำปีเป็นเพียง 227,000 ล้านบาท) เป็นเรื่องที่ดูแล้วขาดวินัยการคลังอย่างน่าเกลียด นอกจากการสร้างเรือดำน้ำซึ่งต้องใช้เวลาหลายปี (ประมาณ 30,000 ล้านบาทเศษ) และยานยนต์บางประเภทแล้ว อาวุธต่างๆ ไม่ได้ใช้เวลานานในการสร้าง ไม่จำเป็นต้องตั้งเป็นงบผูกพันแต่อย่างใด สามารถรอตั้งเป็นงบประจำปีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสภาวะที่การคลังขาดดุลต่อเนื่องมานับสิบปีแล้ว จำเป็นที่เราต้องประหยัดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และทยอยจัดซื้อเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น ถ้าไม่ได้ประโยชน์คุ้มค่าก็ไม่น่าจะซื้อ เช่น กรณีเรือดำน้ำ เป็นต้น

ท่านผู้อ่านอาจจะแย้งว่า การจะมีวินัยการคลังหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง ผมมีประสบการณ์จริงมาแล้ว พลเอกประยุทธ์ เป็นคนที่เมื่อต้องการสิ่งใด ก็จะใช้กลเม็ดต่างๆ ให้ได้ตามใจต้องการ ถ้ารัฐมนตรีคลังต่อต้านก็จะเปลี่ยนรัฐมนตรี และหาคนที่ โอนอ่อนผ่อนตามเข้ามาเป็นรัฐมนตรีคลัง

ตัวอย่างของกรณีเรือดำน้ำเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัด รัฐมนตรีคลังคนแรกของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ คัดค้านเป็นลายลักษณ์อักษร จนฝ่ายทหารต้อง ดึงเรื่องที่เสนอออกจาก ครม. แต่รัฐมนตรีคลังคนต่อมาซึ่งพลเอกประยุทธ์ เลือกเอง ไม่ได้แสดง ความเห็นคัดค้านเรื่องนี้แต่ประการใด ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลังและของสำนักงาน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไม่เห็นด้วย

หากพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ก็ย่อมจะเลือกบุคคลที่โอนอ่อนผ่อนตามคำสั่งของตนเข้ามาเป็นรัฐมนตรีคลัง งบประมาณก็คงจะขาดดุลเพิ่มขึ้นและผูกพันมากขึ้น หนี้สินก็จะพอกพูนขึ้นจนทำให้ฐานะการคลังของประเทศอ่อนแอลง

2. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และเพื่อนร่วมรุ่น 6-7 คน ได้ร่วมกันกระทำการที่ไม่โปร่งใส เพื่อจะแอบตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมา ด้วยวิธีการที่รวมหัวกันเพิ่มบทบัญญัติจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในการพิจารณาพระราชบัญญัติปิโตรเลียม วาระที่ 2 ของกรรมาธิการวิสามัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทั้งๆ ที่ในการพิจารณาอนุมัติ พ.ร.บ.นี้ในขั้นหลักการในวาระ ที่ 1 ไม่มีหลักการในเรื่องการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไว้เลย แต่ได้ใช้กลเม็ดทางกฎหมายเพิ่มเรื่องใหม่เพิ่มเติมขึ้นในวาระที่ 2 จนสำเร็จ

เป็นการร่วมมือกันระหว่างกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งประกอบด้วยนายทหารเป็นเสียงข้างมาก กับ รัฐบาลซึ่งแอบมีมติลับให้เพิ่มบทบัญญัติที่เป็นหลักการใหม่นี้ เป็นวิธีการที่แอบทำโดยไม่เคยมีใครเคยทำมาก่อน โดยมีความตั้งใจที่จะให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นผู้ถือสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศ และในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงาน จะให้กรมพลังงานทหารเป็นผู้บริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไปก่อน

หากเป็นไปตามร่างดังกล่าว กิจการน้ำมันของประเทศก็จะถอยหลังไป ผมจำได้ว่าเมื่อ 50 ปีก่อน ขณะที่กรมพลังงานดูแลกิจการน้ำมัน เรามีน้ำมัน “สามทหาร” ของไทยที่มีส่วนการตลาดน้อยมากและถูกครอบงำโดยบริษัทน้ำมันต่างชาติเป็นสำคัญ ต่อมาเราก่อตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่เสมือนบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งปรากฏว่าพัฒนามาได้ดีอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 เหนือกว่าบริษัทน้ำมันต่างชาติทั้งหมด

ปตท. ได้พัฒนาแหล่งพลังงานใหม่คือก๊าซธรรมชาติรองรับความต้องการพลังงานที่ขยายตัวอย่าง รวดเร็ว ได้ขยายตัวไปสำรวจและผลิตในต่างแดนนำพลังงานกลับมารองรับความเจริญของประเทศได้อย่างทันเหตุการณ์ ได้ขยายเครือข่ายการขายออกไปคุมตลาดในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ และได้ตั้งบริษัทในเครือเพื่อดำเนินกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานอีกหลายบริษัท

เรามีรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่บรรษัทน้ำมันแห่งชาติได้ดีอยู่แล้ว ถ้ามีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติใหม่เกิดขึ้นมา และใช้อำนาจที่มีกฎหมายรองรับดึงกรรมสิทธิ์ของพลังงานทุกชนิดมาอยู่ที่บรรษัทแห่งใหม่นี้ วิสาหกิจและกิจการของบริษัทพลังงานต่างๆ หลายแห่งจะดำเนินอยู่ต่อไปได้อย่างไร

กิจการเหล่านี้เป็นกิจการขนาดใหญ่ หากต้องหยุดลง ปัญหาอาจลุกลามจนเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจได้ และบรรษัทใหม่ซึ่งยังไม่มีประสบการณ์จะพัฒนาตนเองให้สามารถรองรับความเจริญทางเศรษฐกิจได้เพียงพอหรือ? จะสามารถรับมือกับปัญหาและพัฒนาการใหม่ๆ ของกิจการพลังงานได้หรือ? กิจการพลังงานของเราซึ่งรุดหน้ามาด้วยดี คงจะสะดุดจนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้

ก่อนที่จะถึงการพิจารณาวาระที่ 3 ของ สนช. เพื่อรับรองร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่ผ่านการพิจารณาวาระที่ 2 มาแล้ว ผมได้ใช้โอกาสในช่วงเวลาที่เหลือไม่กี่วันทำหนังสือเปิดผนึกถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในเรื่องนี้ ตลอดถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นแก่ประเทศ ชาติ หากอนุมัติให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติได้ ปรากฏว่าสมาชิก สนช. ส่วนใหญ่เข้าใจและเห็นถึงผลเสียที่จะตามมา จึงมีมติให้ตัดบทบัญญัติส่วนที่เพิ่มใน พ.ร.บ.ฯ ที่เกี่ยวกับบรรษัทน้ำมันแห่งชาติออกไปทั้งหมด นับว่าเป็นบุญของประเทศชาติ

แม้ว่า สนช. จะหยุดยั้งเรื่องนี้ไว้ได้แล้ว แต่กลุ่มบุคคลที่เป็นต้นคิดในเรื่องนี้ก็ยังไม่หยุดยั้ง และยังหาจังหวะทางการเมืองที่จะผลักดันเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง บุคคลกลุ่มนี้มีความสนิทสนมกับ พลเอกประยุทธ์ มากทีเดียว หากพลเอกประยุทธ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่ง เมื่อมีพลังทางการเมืองเพิ่มขึ้นแล้ว ก็อาจจะผลักดันเรื่องนี้จนเป็นผลสำเร็จได้ ซึ่งจะมีผลเสียอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติ ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่อยากให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีก

3. ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีนโยบายต่างประเทศที่ถ่วงดุลอำนาจระหว่างประเทศมหามิตรหลายฝ่ายที่มีอำนาจในโลกมาได้เป็นอย่างดีเสมอมา แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ดำเนินนโยบายผูกมิตรกับประเทศมหามิตรฝ่ายหนึ่งมากเกินไป ไม่มีการถ่วงดุลที่เหมาะสม อาจเป็น ปัญหาสำหรับประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทยได้ในอนาคต

รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ดำเนินนโยบายที่เอาใจประเทศจีนมากกว่าประเทศมหามิตรอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา EU และญี่ปุ่น อย่างไม่สมดุลเอาเสียเลย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือโครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างกรุงเทพฯ–หนองคาย ซึ่งรัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายให้ใช้รถไฟความเร็วสูงของจีนเพื่อวิ่งบนเส้นทางดังกล่าว และให้บริษัทจีนเป็นผู้ออกแบบและคุมงาน โดยไม่เปิดโอกาสให้ประเทศอื่นที่มีความสามารถเท่ากันหรือดีกว่าจีนเข้าเสนอโครงการ เพื่อเปรียบเทียบแต่ประการใดเลย และเงื่อนไขของจีนก็มิได้มีเงื่อนไขใดที่ให้ประโยชน์แก่ประเทศไทยเป็นพิเศษแต่อย่างใด ประเทศไทยก็ยังต้องเป็นผู้รับภาระลงทุนก่อสร้างราง ลงทุนในระบบสัญญาณ สร้างขยายสถานี และลงทุนซื้อรถไฟความเร็วสูงจากจีนทั้งหมด ประเทศจีนไม่ต้องแบกภาระลงทุนในเรื่องใดเลย

เราไม่มีโอกาสได้เปรียบเทียบประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับข้อเสนอของประเทศอื่น และปิดโอกาสที่จะได้ใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าที่จีนมี เช่น เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่น มีบางคนพูดว่าจีนเสนอให้เงินกู้แก่การรถไฟเพื่อใช้ในการว่าจ้างบริษัทจีนออกแบบและคุมงาน และอาจรวมถึงการให้เงินกู้เพื่อใช้ในการซื้อรถไฟจากจีนด้วย

เงื่อนไขการให้เงินกู้นี้อาจนับว่าเป็นเงื่อนไขพิเศษได้สำหรับประเทศไทยเมื่อ 60 ปีก่อน ซึ่งขณะนั้นต้องอาศัยเงินกู้จากต่างชาติสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ แต่ประเทศไทยในปัจจุบันซึ่งมีตลาดเงินในประเทศขนาดใหญ่ และมีฐานะการเงินเป็นที่ยอมรับของตลาดเงินในต่างประเทศ การหาเงินกู้สำหรับโครงการขนาดนี้ไม่ใช่เงื่อนไขพิเศษแต่ประการใด และประเทศคู่แข่งรายอื่นก็สามารถเสนอเงื่อนไขเงินกู้ระยะยาวควบคู่ไปด้วยได้เหมือนกันอยู่แล้ว ไม่มีเหตุผลใดที่จะสนับสนุนการเลือกให้จีนเป็นผู้ออกแบบ คุมงานก่อสร้าง และเลือกซื้อรถไฟความเร็วสูงจากจีนโดยไม่เปิดโอกาสให้ประเทศอื่นได้เสนอเพื่อพิจารณาเทียบเคียงเลย นอกเสียจากเหตุผลที่จะเอาใจประเทศจีนเท่านั้น

การกระทำอีกเรื่องหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ต้องการเอาใจประเทศจีน เป็นพิเศษก็คือ การสอดไส้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยการบรรจุข้อความที่ เปิดโอกาสอย่างเต็มที่ให้คนต่างชาติเข้ามาเป็นผู้อยู่อาศัยและถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินในประเทศไทย ได้โดยง่าย กล่าวคือในร่าง พ.ร.บ. EEC ซึ่งรัฐบาลเสนอผ่านการรับหลักการในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระที่ 1 ไปแล้ว มีข้อความที่ไม่มีใครเคยเขียนมาก่อนระบุไว้ในมาตรา 48 และมาตรา 49 กล่าวคือในมาตรา 48 ซึ่งให้สิทธิแก่ผู้ประกอบกิจการในหลายๆ เรื่องนั้น มาตรา 48 (2) ระบุให้ “สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่อาศัยในราชอาณาจักร” ได้โดยไม่ได้กำหนดจำนวนสูงสุดไว้

และในมาตรา 49 ระบุ “ให้ผู้ประกอบกิจการหรืออยู่อาศัยในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจ พิเศษซึ่งเป็นคนต่างด้าว…ให้มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นภายในเขตส่งเสริม เศรษฐกิจพิเศษได้ โดยไม่ต้องรับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือภายใต้การจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด”

ข้อความในสองมาตราดังกล่าวนี้ถ้าผ่านสภาฯ ออกเป็นกฎหมายก็จะเปิดโอกาสให้นายทุน ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเขต EEC สามารถนำคนงานต่างด้าวเข้ามาพร้อมทั้งครอบครัวที่เป็นผู้อยู่อาศัยได้ด้วย โดยคนงานและผู้อยู่อาศัยทุกคนมีสิทธิจะเป็นเจ้าของที่ดินในประเทศไทยได้เช่นกันเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีรัฐบาลใดเปิดโอกาสเช่นนี้ให้แก่คนต่างด้าวมาก่อนเลย

ผมเจาะข้อมูลเพิ่มเติม กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบมาว่าผู้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีให้บรรจุข้อความในสองมาตราดังกล่าว นั้นคือรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่มีความใกล้ชิดกับจีนเป็นพิเศษ และผมก็ได้สอบถามความเห็นของวงการนักลงทุนชาติอื่น เช่น ญี่ปุ่นและยุโรปแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่านักลงทุนชาติเหล่า นั้นมีความต้องการเอาผู้อยู่อาศัยเข้ามาถือครองที่ดินแต่ประการใด คงมีความต้องการเฉพาะให้ผู้ประกอบการมีสิทธิครอบครองที่ดินบ้างเท่านั้น

ผมได้หาข้อมูลเพิ่มเติม ก็ปรากฏว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านของเรามาแล้ว ผลก็คือขณะนี้ในประเทศเพื่อนบ้านของเรามีคนจีนเข้าไปครอบครองที่ดินและอยู่อาศัยถึงแสนครอบครัว ไม่ใช่นักลงทุนหรือผู้อยู่อาศัยจากชาติอื่นเลย

เดชะบุญที่สมาชิก สนช. ที่เป็นกรรมาธิการในวาระที่ 2 มองเห็นประเด็นนี้และยกขึ้นพิจารณาร่วมกัน ด้วยความรักแผ่นดินและต้องการรักษาแผ่นดินไว้ให้ลูกหลานไทย กรรมาธิการ วาระ 2 จึงได้มีมติเอกฉันท์ให้ตัดคำว่า ‘ผู้อยู่อาศัย’ออกทุกแห่งที่ปรากฏในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จึงทำให้รอดพ้นจากภัยคุกคามเรื่องนี้ไปได้ จริงอยู่ต้นคิดเรื่องนี้ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี แต่นายกรัฐมนตรีก็รับรู้และอนุมัติให้ส่งเข้าสภาฯ จนผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 ไปได้ ด้วยเหตุผลใดผมไม่อาจทราบได้

ผมกลัวว่าหากพลเอกประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง เมื่อมีอำนาจทาง การเมืองในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น ก็อาจยินยอมให้แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.EEC ให้เพิ่มเรื่อง อนุญาตให้นำผู้อยู่อาศัยเข้ามาถือครองที่ดินได้อีก

พลเอกประยุทธ์ คงไม่ได้รับรู้ว่า ในประเทศเพื่อนบ้านที่คนจีนเพิ่งเข้าไปถือครองที่ดินและอยู่อาศัยถึงแสนครอบครัวนั้น เขาได้แทรกแซงทำ การค้า (Trading) ในเมืองต่างๆ ของประเทศนั้นในวงกว้างทีเดียว แล้วด้วยเงินทุนที่มีมากกว่า ทำให้พ่อค้าชาวจีนครอบงำการค้า (Trading) ของประเทศนั้นมากแล้วทีเดียว

คนจีนที่อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยในสมัยต้นและสมัยกลางของยุครัตนโกสินทร์นั้น เป็นคนจีนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น จากฐานะที่ลำบากยากจนไม่มีช่องทางทำมาหากิน ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเพื่อสร้างชีวิตใหม่ ทำให้คนจีนเหล่านี้สำนึกในบุญคุณของประเทศไทย ได้ตัดสินใจตั้งรกรากทำมาหากินและเป็นกำลังสำคัญในการทำธุรกิจช่วยให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวรุ่งเรืองจนถึงทุกวันนี้

แต่คนจีนสมัยนี้ที่เตรียมการจะเข้ามาถือครองที่ดินและอยู่อาศัยในประเทศไทยนั้น เป็นคนจีนที่ทำธุรกิจการค้าอยู่แล้ว ไม่ใช่คนที่จะหนีร้อนมาพึ่งเย็น แต่เป็นคนที่จะเข้ามาขยายโอกาสกอบโกยจากธุรกิจการค้า (Trading) ไม่ใช่คนที่เมื่อเข้ามาแล้วจะสำนึกบุญคุณประเทศไทยและจะทำเพื่อประเทศไทยแต่อย่างใดหรอก

ดร.มหาธีร์ มูฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของมาเลเซียได้ประกาศยกเลิกโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จีนสนับสนุนเพื่อใช้เป็นเส้นทางสำหรับนักเดินทางจากจีนตอนใต้ผ่านลาว ไทย มาเลเซีย ไปสิงคโปร์ ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า นโยบายสร้างเส้นทางรถไฟสายดังกล่าวของจีนนี้ เป็นนโยบายล่าอาณานิคมมิติใหม่ (New Colonialism)

ใช่ครับเป็นนโยบายที่อำนวยความสะดวกให้พ่อค้านักธุรกิจจีนได้ใช้รถไฟความเร็วสูงเข้ามาขยาย ธุรกิจการค้าในประเทศเหล่านี้ได้โดยสะดวก เป็นการขยายเครือข่ายการค้าที่ครอบงำโดยพ่อค้า ชาวจีนเป็นสำคัญ เป็นการสร้างอาณานิคมในมิติของเครือข่ายทางการค้า

การพัฒนาการค้าให้ขยายและคล่องตัวมากขึ้นเป็นของดี แต่จำเป็นด้วยหรือที่ต้องเปิดโอกาสให้เครือข่ายการค้าของชาติใดชาติหนึ่งโดยเฉพาะเข้ามาครอบงำการค้าของไทย การครอบงำการค้าในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะพ่อค้าในประเทศที่มีอยู่ แข็งแรงพอที่จะต้านแรงครอบงำจากต่างชาติได้

แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือการค้าในต่างจังหวัดตาม เส้นทางที่รถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่าน เพราะพลังของพ่อค้าในเมืองเหล่านั้นไม่มากพอที่จะต่อสู้กับพลังนายทุนของพ่อค้าจากประเทศจีนสมัยนี้ที่มีแผนจะเข้ามาขยายเครือข่ายการค้าในเมืองเหล่านั้น ดังที่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้วว่าพ่อค้าจีนเหล่านี้ได้เริ่มจัดหาที่ดินเพื่อเป็นฐานค้าขายใกล้ เส้นทางรถไฟแล้ว โดยใช้คนไทยที่ฐานะอ่อนด้อยเป็นตัวแทน (Nominee) ในการถือครองที่ดิน คนในท้องถิ่นรู้กันหมด แต่รัฐบาลก็ยังเพิกเฉยอยู่

ผมเชื่อว่าถ้าพลเอกประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก ก็คงจะไม่มีนโยบายที่จะดูแล แก้ปัญหาในเรื่องนี้ ด้วยความที่ไม่อยากขัดใจจีน หรือไม่ก็คงจะเป็นเพราะความไม่รู้และไม่เข้าใจ ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างอาณานิคมในมิติของเครือข่ายทางการค้า

4. ในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ และ คสช. ได้กระทำการหลายอย่างเป็น ประจำที่ทำให้คนไทยโดยทั่วไปเห็นว่าทหารมีอภิสิทธิ์เหนือพลเรือน เช่น กรณีโครงการราชภักดิ์ที่หัวหิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบพบว่ามีความไม่ถูกต้องหลายประการ ก็ถูกแรงกดดันจากรัฐบาลให้หัวหน้าสำนักตรวจเงินแผ่นดินชี้แจงเสมือนเป็นเรื่องปกติได้ประชาชนเชื่อว่าหากเป็นหน่วยราชการอื่นที่ไม่ใช่หน่วยทหารเป็นผู้จัดทำ ก็คงจะถูกเปิดโปงและ มีการลงโทษกัน

หรือเช่นกรณีรายงานทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ครบถ้วน ซึ่งยัง ไม่แน่ว่าจะผิดหรือไม่ผิด แต่การที่ ป.ป.ช. ถ่วงเวลาในการตัดสินและชี้แจงต่อประชาชนออกมา นานกว่าที่ควรจะเป็นมาก ก็ทำให้ประชาชนเห็นว่า เพราะบุคคลผู้นั้นเป็นทหาร จึงมีผลให้ ป.ป.ช. ถ่วงเวลาให้ หากบุคคลนั้นเป็นพลเรือน ป.ป.ช. ก็คงตัดสินไปนานแล้ว

นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ และ คสช. ยังพยายามให้เห็นว่าทหารคือฝ่ายปกครองในขณะ ที่พลเรือนคือผู้ถูกปกครอง การเรียกตัวเอกชนไปให้ทหารเป็นผู้ปรับทัศนคติในกรมทหารก็ดี การใช้ทหารกำกับการทำงานของข้าราชการกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรในท้องถิ่นก็ดี ทำให้เกิดความรู้สึกว่าทหารคือผู้ปกครองและพลเรือนอยู่ใต้การปกครองของทหาร

ความรู้สึกที่ว่า ทหารมีอภิสิทธิ์เหนือพลเรือน และความรู้สึกที่ว่าทหารทำตัวเป็นผู้ปกครอง เมื่อนานไปก็มีผลให้ประชาชนทั่วไปไม่ชอบทหารมากขึ้นทุกที ความรู้สึกไม่พอใจทหารในขณะนี้ ไม่ต่างจากช่วงเวลา พ.ศ. 2510 ถึง พ.ศ. 2516 หากปล่อยให้สะสมมากขึ้นต่อไปอาจจะเป็น อันตรายต่อบ้านเมืองได้

ในสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ท่านไม่เคยทำให้ประชาชนไม่พอใจทหารเลย ในทางตรงข้ามท่านทำให้ประชาชนเห็นว่าทหารเป็นที่พึ่งของ ประชาชนที่สามารถพึ่งได้ในยามคับขัน และความรู้สึกที่ดีนี้ก็มีตลอดมาจนถึงปี 2557 แต่ในวันนี้ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อทหารได้เปลี่ยนไปแล้ว ยังไม่สายเกินไปที่จะแก้ เพราะเกิดจากการ กระทำของทหารเพียงกลุ่มเดียวที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่ความคิดของทหารส่วนใหญ่ หากพลเอก ประยุทธ์ ลงจากตำแหน่งไม่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก และหาก คสช.ยุติบทบาท ปล่อยให้เป็นเรื่องของระบอบประชาธิปไตย และไม่พยายามแฝงตัวเพื่อมีอำนาจในการบริหารประเทศนอกระบอบประชาธิปไตย ทำหน้าที่ดูแลประเทศชาติอย่างที่เคยทำมาในช่วงก่อน พฤษภาคม 2557 ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อทหารก็จะค่อยๆ ดีขึ้น และเปลี่ยนจากความไม่พอใจความมีอภิสิทธิ์ของทหารมาเป็นความสบายใจที่มีทหารเป็นที่พึ่งในยามคับขันต่อไป

แต่ถ้าพลเอก ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ความกลัวที่ไม่กล้ายืนคนเดียวแต่จะต้องมี กองทัพมาหนุนหลังและรายล้อมปกป้อง จะทำให้ความรู้สึกไม่พอใจทหารจะคงอยู่ต่อไปหรือ มากขึ้นไปอีก

5. ในระหว่างหนึ่งปีที่ผมทำงานกับพลเอกประยุทธ์ ได้เห็นว่าพลเอกประยุทธ์ สนิทสนม และใกล้ชิดกับนายทุนที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่บางราย เริ่มตั้งแต่การแต่งตั้งบุคคลที่สนิทสนมกับกลุ่มธุรกิจปลอดภาษีเป็นประธานของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ตามมา ด้วยการแต่งตั้งให้บุคคลที่เป็นตัวแทนของกลุ่มธุรกิจใหญ่กลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ เข้าไปนั่งเป็น กรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งช่วยให้สามารถได้รู้ข้อมูลด้านการลงทุนที่ยังไม่เปิดเผยก่อนผู้อื่น และรู้แง่มุมของการวางนโยบายที่เป็นเรื่องไม่พึงเปิดเผยด้วย และยังเคยเชิญ นักธุรกิจคนหนึ่งให้เข้าไปร่วมแสดงความเห็นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย ซึ่งก็เป็นความเห็นที่ เป็นประโยชน์แก่นักธุรกิจผู้นั้นโดยเฉพาะและยังมีตัวอย่างอื่นอีกหลายเรื่องที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักธุรกิจรายใหญ่บางคนโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ ยังเคยเอ่ยปากให้ผมจัดให้กลุ่มธุรกิจกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งเป็นผู้ลงทุนและดำเนินการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน โดยไม่ต้องมีการประมูล เคยเอ่ยปากให้ผมจัดให้กรมธนารักษ์ให้เช่าที่ดินในเขตทหารบริเวณกาญจนบุรี ให้เอกชนรายหนึ่งเช่าโดยให้คิดค่าเช่าในราคาถูก

ความสัมพันธ์เช่นนี้ไม่เหมาะสมสำหรับผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ ไม่เคยเข้าใจนัยสำคัญของเรื่องนี้

6. พลเอกประยุทธ์ เป็นคนที่ไม่กล้าตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องเพราะกลัวเสียคะแนนนิยม รัฐมนตรีที่เคยร่วมงานในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ สามารถเป็นพยานได้ว่า เมื่อมีเรื่องใดที่รัฐบาล ต้องอนุมัติเพื่อแก้ปัญหาหรือเพื่อปฏิรูป หากมีผู้ออกความเห็นคัดค้านใน Social Media บ่อยๆ พลเอกประยุทธ์ ก็สั่งให้ถอยเสมอ ด้วยความกลัวว่าตนเองจะเสียคะแนนนิยม แม้ว่าความเห็นใน Social Media จะไม่มีเหตุผลเพียงพอหรือตรงข้ามกับข้อเท็จจริง แต่ถ้านำลงใน Social Media ให้มากรายและหลายๆ ครั้ง ก็จะทำให้พลเอก ประยุทธ์ กลัวเสียคะแนนนิยมจนสั่งถอนเรื่องเสมอ

เช่น โครงการสร้างโรงไฟฟ้าผลิตจากถ่านหิน (แทนถ่านลิกไนต์ที่เคยทำอยู่เดิมและตัวถ่านหมดลง) เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนภาคใต้ ซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นจนถึงจุดที่กำลังผลิตของโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ทั้งหมดในภาคใต้เกือบจะผลิตได้ไม่พอความต้องการอยู่แล้ว แม้ว่าจะได้ทำการประชาพิจารณ์ถึง 6 ครั้ง และปรับปรุงแก้ไขส่วนต่างๆ ของโครงการให้เป็นไปตามความต้องการด้านความสะอาดและสิ่งแวดล้อมของผู้คนในท้องถิ่นครบถ้วนตามที่เขาต้องการ จนประชาชนในท้องถิ่นออกเสียงให้ดำเนินการได้ในการทำประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้ายแล้วก็ตาม

เมื่อวันที่นำเสนอที่ประชุม ครม. มีเพียง NGO สองคนมาถือป้ายและตะโกนคัดค้าน นายกรัฐมนตรีก็ยังสั่งให้ถอนเรื่องจากที่ประชุม ครม. ถึงวันนี้ 3 ปีหลังจากถอนเรื่องจากที่ประชุม ครม.ครั้งนั้น การสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพื่อป้อนภาคใต้ก็ยังไม่ได้เริ่มทำ

หรือเช่น การประมูลสัมปทานสำรวจและขุดเจาะก๊าซธรรมชาติรอบที่ 21 ซึ่งมีคนกลุ่มหนึ่งคัดค้าน แม้ว่าคณะที่ปรึกษาที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานได้ให้ความเห็นว่าควรสนับสนุนการประมูลให้เสร็จเพื่อให้สามารถสำรวจและขุดเจาะก๊าซธรรมชาติได้ทันใช้ (เนื่องจากก๊าซในบ่อเดิมที่ใช้อยู่เหลือน้อยลง) และแม้จะจัดให้มีการโต้วาทีระหว่างฝ่ายที่ สนับสนุนกับกลุ่มที่คัดค้านตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีแล้ว พอถึงวันประชุม ครม. นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่าฝ่ายสนับสนุนชี้แจงได้ดี และไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้ในที่ประชุม ครม. แต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องที่กระทรวงพลังงานสามารถดำเนินการต่อไปได้เลย ถ้านายกรัฐมนตรี ไม่ขัดข้อง ซึ่งทุกคนเข้าใจว่าเป็นเช่นนั้น

หลังจากนายกรัฐมนตรีกล่าวชมในที่ประชุมแล้ว แต่ปรากฏว่า หลังจากประชุม ครม. พลเอก ประยุทธ์ ออกไปชี้แจงกับนักข่าวว่าที่ประชุม ครม.ได้พิจารณาเรื่องนี้แล้วเห็นควรให้ยกเลิกการประมูล สร้างความประหลาดใจให้กับผมและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานเป็นอย่างมากที่นายกรัฐมนตรียกเลิกการประมูลโดยไม่มีการพิจารณาในที่ประชุม ครม. เลย และไม่ได้บอกกล่าวให้คนที่เกี่ยวข้องรู้ก่อนแถลงข่าวเลย ทั้งนี้ ก็เพราะกลัวจะเสียคะแนนนิยม จนต้องรีบแอบยกเลิกโดยไม่กล้าเผชิญหน้ากับผู้ที่เกี่ยวข้องเลย

อีกเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความไม่กล้าตัดสินใจทำในสิ่งที่ควรทำเพราะกลัวเสียคะแนนนิยมคือ เรื่องภาษีทรัพย์สิน ซึ่งรัฐมนตรีคลังได้ตั้งเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.ก่อนที่จะเสนอสภาฯ เป็นธรรมดาที่การจะเก็บภาษีเพิ่มเติมย่อมมีคนค้าน ผู้ที่คัดค้านทำการค้านผ่านทั้งสื่อมวลชนและ Social Media ซึ่งทำให้นายกรัฐมนตรีเกิดความกลัวจะเสียคะแนนนิยม

ดังนั้นเมื่อเรื่องมาถึงที่ประชุมเตรียมการก่อนเสนอที่ประชุม ครม. ปรากฏว่าพลเอก ประยุทธ์ สั่งให้รอเรื่องไว้ก่อนด้วยเหตุผลเดียวคือ มีคนโจมตี ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ อ่านข้อความที่มีผู้คัดค้านให้ฟังในที่ประชุมด้วย ผมฟังแล้วเห็นว่าเป็นความเห็นคัดค้านของกลุ่มเจ้าของที่ดินที่มีที่ดินมากๆ ไม่ใช่เหตุผลที่ดีพอ ที่จะหยุดกฎหมายนี้ แต่ในที่สุดกระทรวงการคลังก็ต้องดึงเรื่องออกไปตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี และต้องใช้เวลาอีก 3 ปี กว่ากฎหมายจะผ่านสภาฯ ออกมาบังคับใช้ได้แทนที่จะทำได้เสร็จในปีแรก ซึ่งจะทำให้เก็บภาษีได้มากขึ้นสำหรับบรรเทาปัญหาการขาดดุลงบประมาณซึ่งเป็นต่อเนื่องมากว่า 10 ปีแล้ว

เรื่องที่ต้องถอนออกจากที่ประชุมหรือให้รอไปก่อนยังมีอีกมากมาย รัฐมนตรีที่เข้าร่วม ประชุม ครม.รู้ดี เพราะนายกรัฐมนตรีมักจะอ่านข้อความใน Social Media ที่ค้านมาตรการ หรือนโยบายของกระทรวงต่าง ๆ อ่านถึงเรื่องใดนายกรัฐมนตรีก็ออกปากให้หยุดหรือรอเรื่องนั้นไว้ก่อนเป็นประจำ

บุคคลที่ไม่กล้าตัดสินใจเพราะกลัวว่าจะเสียคะแนนนิยมเช่นนี้ หากได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก การปฏิรูปในเรื่องต่างๆ ที่เตรียมกันไว้ก็จะเดินหน้าต่อไปได้ยาก เพราะมาตรการเพื่อ การปฏิรูปทุกเรื่องย่อมจะมีผลกระทบประชาชนบางกลุ่มอย่างแน่นอน ถ้าขาดความกล้าที่จะยืนหยัดเพื่อความถูกต้อง การปฏิรูปก็จะไม่เกิดขึ้น

7. ในปีหน้าประเทศไทยจะเป็นประธานของการประชุม ASEAN ตลอดทั้งปี หากพลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและทำหน้าที่ประธานของที่ประชุมระหว่างประเทศสมาชิก ASEAN รวมทั้งประเทศอื่นที่เข้าสังเกตการณ์ มีความเสี่ยงที่คนไทยจะต้องอับอายขายหน้าประเทศสมาชิกอื่นจากพฤฒิปฏิบัติของประธานที่ประชุมได้ ดังที่เคยเกิดมาแล้วในปี 2558 เมื่อครั้งที่ประเทศไทยได้เป็นประธานของการประชุมประเทศกำลังพัฒนา G77 ของสหประชาชาติที่สิงคโปร์

ในการประชุมครั้งนั้นมีกำหนดให้นายกรัฐมนตรีของประเทศที่เป็นประธานกล่าวสุนทรพจน์ให้มวลชนสมาชิกทั้งหมดฟัง เจ้าหน้าที่ได้ยกร่างสุนทรพจน์ให้พลเอก ประยุทธ์พูดในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายสนใจใคร่รู้

แต่ปรากฏว่า หลังจากที่พูดตามร่างในเรื่องที่เตรียมไว้ไปได้ไม่นาน พลเอก ประยุทธ์ ได้หันไปพูดนอกบทโดยใช้เวทีที่สิงคโปร์ด่าทอสื่อมวลชน นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม และนักวิชาการในประเทศ อันเป็นการด่าคนไทยด้วยกันเองให้คนต่างชาติฟัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไร้สาระสำหรับตัวแทนจาก 130 ประเทศที่เข้า ร่วมรับฟัง

ในวันนั้น การพูดนอกบทที่ไร้สาระเป็นไปอย่างก้าวร้าวและไม่สุภาพ ซึ่งไปกลบเนื้อหาสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่สื่อมวลชนควรได้รับรู้และนำไปเผยแพร่ต่อ ดังนั้น บนหน้า หนังสือพิมพ์ในวันถัดมา จึงให้ความสนใจกับลีลาที่เกรี้ยวกราดและดุดันอย่างไร้กาลเทศะของ พลเอกประยุทธ์ จนเข้าขั้นที่สื่อมวลชนต่างประเทศเรียกว่า เป็นตัวตลก สื่อต่างประเทศพาดหัว ในวันถัดไปว่า “Thailand’s military junta is led by a clown”

นอกจากนี้ เมื่อคราวที่พลเอกประยุทธ์ เข้าพบ President Donald Trump ของสหรัฐอเมริกา คนไทยก็ได้รับรู้ความสามารถในการเจรจากับบุคคลระดับผู้นำประเทศ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ เป็นไก่รองบ่อนอย่างเห็นได้ชัด ผมไม่ได้คาดหวังที่จะให้พลเอกประยุทธ์ พูดภาษาอังกฤษได้คล่องในการเจรจา เพราะผู้นำรัฐบาลสามารถใช้ล่ามได้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องพยายามฟังให้เข้าใจเนื้อหา และใช้สติหาคำตอบที่เหมาะสม ตอบเป็นภาษาไทยให้ล่ามแปลด้วยความรัดกุมก็จะไม่เสียเปรียบ

แต่ความที่อยากจะอวดว่าพูดภาษาอังกฤษเป็น (ทั้งๆ ที่ภาษา อังกฤษใช้ไม่ได้เลย) จึงทำให้กลายเป็นไก่รองบ่อน น่าขายหน้าอีกครั้งหนึ่ง

หากพลเอกประยุทธ์ ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีในปีหน้า ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ประธานของที่ประชุมผู้นำ ASEAN ด้วย ก็มีโอกาสที่คนไทยจะต้องอับอายขายหน้าอีกครั้ง เพราะพลเอกประยุทธ์ เป็นคนที่ไม่มีวุฒิภาวะในการควบคุมอารมณ์ และเมื่ออารมณ์เสียแล้วก็จะบุ่มบ่ามและมุทะลุ นอกจากนี้ ยังเป็นคนที่ต้องการแสดงออกให้คนรู้ว่าตนเองเก่งและรอบรู้ ซึ่งเป็นแรงกระตุ้น ภายในที่มักจะทำให้เกิดการแสดงออกที่พลาดท่าได้

8. ในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา นักข่าวก็มีโอกาสได้ฟังนายกแถลงข่าวทุกวันประชุม ครม. และนำบทแถลงข่าวและบทให้สัมภาษณ์ของพลเอกประยุทธ์ ออกให้คนชมทางโทรทัศน์เป็นประจำ ทุกคนได้เห็นถึงการพูดด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว มีลักษณะที่ก้าวร้าวและบางครั้งก็ใช้คำหยาบคายที่ไม่มีใครคาดคิดว่า จะออกมาจากปากของคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ ซึ่งอาจกลายเป็นตัวอย่างที่เยาวชนจะทำตาม

เด็กๆ ย่อมมองเห็นบุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นแบบอย่างสำหรับทำตามอยู่แล้ว เมื่อนายกรัฐมนตรีพูดก้าวร้าวได้และพูดหยาบคายได้ เยาวชนก็จะคิดว่าเขาน่าจะมีสิทธิทำได้เช่นกัน พลเอกประยุทธ์ ไม่เคยระวังตัวในการใช้คำพูดเลย ไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีควรวางตัวอย่างไรหรือพูดจาอย่างไรจึงจะเหมาะสม และเป็นตัวอย่างที่ดีของเยาวชน

นอกจากนี้ คนไทยทุกคนยังมีโอกาสได้ฟังคำปราศรัยของนายกรัฐมนตรีทางโทรทัศน์ทุกเย็นวันศุกร์ สิ่งที่น่าอนาถใจคือ การใช้ภาษาไทยในการพูดของพลเอก ประยุทธ์ ไม่เหมาะสม สำหรับผู้ที่เป็นถึงนายกรัฐมนตรีของประเทศในหลายประการ

ประการแรก พลเอกประยุทธ์ พูดจารวบคำอยู่เสมอ เช่น คำว่า “ประชาชน” พูดว่า “ประชน” หรือคำว่า “พิษณุโลก” พูดว่า “พิษโลก” ตัวอย่างการพูดรวบคำของพลเอกประยุทธ์ ยังมีอีกนับร้อย เมื่อผู้นำพูดเช่นนี้บ่อยๆ คนก็จะทำตามจนอาจทำให้ภาษาวิบัติได้

นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ ยังไม่สนใจที่จะพูดจาให้ไพเราะเสนาะหูอันเป็นลักษณะของการพูดภาษาไทยที่ดีเลย สำเนียงที่ลงท้ายประโยคเป็นไปอย่างห้วนๆ และแข็งกระด้าง โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้ฟังเลย ท่วงทำนองและคำที่ใช้เป็นไปในลักษณะที่ผู้พูดรู้สึกว่าตนมีฐานะเหนือผู้ฟังตลอดเวลา ไม่เคยพูดด้วยความนุ่มนวลและสุภาพในลักษณะที่ให้เกียรติผู้ฟังแต่ประการใดเลย ซึ่งอาจทำให้เยาวชนเข้าใจว่า วิธีการพูดแบบนี้เป็นวิธีการพูดที่ถูกต้อง การใช้ภาษาไทยก็จะเสื่อมลงได้

มีผู้ช่วยแก้ต่างให้พลเอกประยุทธ์ว่า ที่พูดจาลักษณะนี้เพราะเป็นทหาร ผมคิดว่าเราไม่ควรกล่าวหาทหารเช่นนั้น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็พูดจาไพเราะเสนาะหู ไม่เคยพูดก้าวร้าว พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก็พูดจาดีและนุ่มนวล เพื่อนของผมที่เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายคน ก็พูดจาดี สุภาพ ไม่หยาบคาย

และผมก็ทราบว่า กองทัพบกมีหลักสูตรสำหรับฝึกการพูดให้แก่ผู้ที่จะเป็นนายทหารระดับสูง ให้มีความเป็นสุภาพชนที่เหมาะสม คงมีพลเอกประยุทธ์ นี่แหละที่ทำได้ไม่ดีเท่านายทหารคนอื่น

โดยสรุป ผมเห็นว่าหากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก การปฏิรูปที่เตรียมไว้ก็คงจะไม่สำเร็จเพราะความไม่กล้าตัดสินใจ เนื่องจากกลัวเสียคะแนนนิยม แม้ว่าจะมีผู้คัดค้านเพียงหยิบมือเดียว ฐานะการคลังของประเทศก็คงจะเสื่อมลงไปอีกเพราะขาดวินัยที่ดี คนไทยก็คงต้องทนฟังการพูดภาษาไทยที่ขัดหู รวบคำ และแข็งกระด้าง และต้องนั่งเป็นห่วงว่าเยาวชนอาจเลียนแบบตัวอย่างที่ไม่ดี ต้องนั่งใจเต้นว่า นายกรัฐมนตรีจะไปทำให้ประเทศไทยขายหน้าในการเป็นประธานการประชุมในเวทีโลกอีกหรือไม่

ต้องเป็นห่วงว่าจะมีการผลักดันให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติซึ่งจะมีผลเสียต่อเศรษฐกิจอีกหรือไม่ และจะหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ต้องเป็นห่วงว่าประเทศไทยจะถูกแทรกซึมในธุรกิจการค้าโดยประเทศมหาอำนาจบางประเทศหรือไม่ การให้ประโยชน์แก่กลุ่มธุรกิจที่ใกล้ชิดกับพลเอกประยุทธ์ จะมีส่วนสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชน และหากรวมเข้ากับความไม่พอใจในการที่ทหารมีอภิสิทธิ์เหนือพลเรือน ก็อาจจะทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองได้ ด้วยเหตุเหล่านี้

ผมจึงไม่ต้องการให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเลย

ใส่ความเห็น

ฮอนด้า แอคคอร์ด

ที่สุดแห่งเทคโนโลยีการขับเคลื่อนระดับพรีเมียม