ระบบนิเวศน์ในธรรมชาติของโลก กับเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ตอนที่ 2)

: วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กมธ.การทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา

Climate Change มีผลต่อชีววิทยาทางธรรมชาติอีกมาก อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสัตว์และพืชอีกมากมายหลายชนิด

แต่ผมขอแยกประเด็นนี้ออกไปก่อน เพราะซับซ้อนมากเกินกว่าจะอธิบายเพิ่มในพื้นที่จำกัดนี้

แต่ขอโฟกัสมาสู่การบันทึกว่าบัดนี้เราค้นพบว่าโลกที่ร้อนขึ้นนำเราไปสู่อะไรแล้วบ้าง

อย่างแรก การละลายของน้ำแข็งทั้งโลกเกิดขึ้นรวดเร็ว ดังนั้นน้ำจากที่สูงจะไหลลงไปรวมที่มหาสมุทร

ระดับน้ำทะเลจะท่วมชายฝั่งขึ้นมาเรื่อยๆ

และมนุษย์ฝังรากทางอารยธรรมอยู่ชายฝั่งเป็นส่วนมาก เมืองท่าค้าขาย เมืองเพื่อการผลิต เมืองการอยู่อาศัย เมืองเพื่อการท่องเที่ยว ล้วนมีระดับสูงจากทะเลปานกลางน้อยมากๆ

ส่วนเมืองเกษตรกรรมที่มักอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน มักอยู่ได้ด้วยลำน้ำจืดไหลผ่าน ซึ่งมีลำน้ำสาขาแผ่กระจาย จึงเป็นชลประทานธรรมชาติที่ทำให้มีนามีสวน

น้ำทะเลที่เพิ่ม อาจไม่ท่วมเหนือแผ่นดินลึกเข้าไปมากก็จริง แต่ก้นของแม่น้ำนั้นมักอยู่ในระดับสูงกว่าระดับทะเลปานกลางน้อยยิ่งกว่าเมืองชายฝั่งเสียอีก

แถมหลายสายจะต่ำกว่าทะเลปานกลางด้วย

ดังนั้น นิเวศน้ำจืดจำนวนมากจะถูกรุกล้ำด้วยน้ำเค็มเข้าลึกไปในแผ่นดิน เมืองไทยน้ำเค็มมีแนวโน้มจะบุกลึกใต้แม่น้ำไปถึงอ่างทอง นี่คือสิ่งที่อธิบดีกรมชลประทานเคยคาดการณ์ไว้

ยิ่งเมื่อมีภาวะภัยแล้ง หรือเมื่อน้ำแข็งยอดเขาละลายจนหมด ลำน้ำจืดจะไม่เหลือพลังดันน้ำเค็มอย่างที่เคยทำได้ตลอดปี  ในหน้าแล้งเขื่อนและฝายจะกักเก็บน้ำไว้

น้ำจืดไหลลงร่องน้ำมาน้อยลง แปลว่าน้ำทะเลจะเอ่อเข้าลำน้ำในแผ่นดินไปทำลายนิเวศน้ำจืดของการเพาะปลูกจำนวนมากได้อย่างเงียบๆ

เพราะชาวบ้านสูบน้ำมาเข้าสวนเข้านาปกติไม่มีใครสำรวจหรือชิมว่าน้ำมันเค็มหรือยัง

จะรู้อีกทีก็ใบเหลืองเค็มจนเฉาแล้วทั้งสวน

ความมั่นคงทางอาหารจะถูกสั่นคลอนอย่างร้ายแรง

น้ำแข็งที่ว่าละลายนั้น ก็ให้ปรากฏการณ์ใหม่แก่มนุษย์อีก เพราะเมื่อน้ำแข็งหนาหลายกิโลเมตรของกรีนแลนด์และที่ขั้วโลกใต้ละลาย มันได้กลายเป็นทะเลสาปทีละหย่อมเรียงรายไปสุดลูกตา

ทะเลสาปเหล่านั้นค่อยๆกัดกร่อนน้ำแข็งต่อเพื่อหย่อนให้น้ำเหลวๆใสๆสามารถลงสู่ที่ต่ำตามแรงโน้มถ่วงได้

เกิดสภาพคล้ายสว่านหมุนเกลียวเจาะลงสู่เบื้องล่าง แล้วทำให้กลายเป็นโพรงรูพรุนคล้ายชีส เยอะไปหมด เมื่อน้ำไหลได้ มวลของมันจะส่งพลังการกระแทกเบียดกับผนังน้ำแข็งภายในโพรงราวน้ำตกกระแทกก้อนหิน ซึ่งย่อมเปราะบางกว่าหินมาก

การกร่อนของภูเขาน้ำแข็งจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นถ้ำน้ำลอดเต็มไปหมด

รูโพรงเหล่านี้ทำให้อากาศไหลเข้าไปด้านใน

และนำความอุ่นไปรบกวนน้ำแข็งในระดับโครงสร้างเพิ่มเข้าไปอีก

มนุษย์จึงตกใจว่าธารน้ำแข็งและแผ่นทวีปแอนตาร์กติกาและน้ำแข็งกรีนแลนด์กำลังแตกตัวออกตามที่ต่างๆในอัตราที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ไม่ใช่มันละลาย แต่เพราะโครงสร้างถูกลมอุ่นมุดเข้าไปเจาะภายในราวกับรังปลวกบุกกินไม้อย่างตะกละตะกลาม

ในขณะเดียวกัน น้ำแข็งที่ละลายที่เกาะกรีนแลนด์ ได้ปล่อยน้ำจืดมหาศาลลงทะเลแอตแลนติกตอนบน ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของระบบเครื่องปรับอากาศของโลก ที่เคยเป็นจุดตั้งต้นของสายพานใต้ทะเลส่งความเยือกเย็นจากขั้วโลกให้ถูกน้ำทะเลพาไปไหลเวียนในทุกมหาสมุทรฟรีๆมานับล้านปี

ทำให้ตะกอนแร่ธาตุผงธุลีใต้ทะเลที่รับมาจากแม่น้ำบนฝั่งสามารถเดินทางไปไหลเวียนท้่วท้องมหาสมุทร เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่สารพัดชีวิตใต้ผืนมหาสมุทร

เมื่อการแปลงสภาพน้ำทะเลจากของเหลวไปเป็นน้ำแข็ง เกิดขึ้นมากที่สุดที่ข้างเกาะกรีนแลนด์ เพราะที่นี่ทะเลกว้างและลึกมาก

ต่างจากจุดเชื่อมของทะเลแปซิฟิกกับขั้วโลกเหนือที่ทั้งแคบและตืื้น เฉลี่ยความลึกของแปซิฟิกตอนบนนั้น ตื้นกว่าอ่าวไทยเสียอีก เพราะที่นั่นลึกเพียง50 เมตร ในขณะที่อ่าวไทยลึกเฉลี่ย68เมตร

แต่ที่ข้างเกาะกรีนแลนด์นั้น ทะเลลึกหลายๆพันเมตร

ในการกลายสภาพจากน้ำไปสู่การเป็นน้ำแข็ง กฏทางธรรมชาติของฟิสิกส์จะทำให้โมเลกุลน้ำเท่านั้นที่กลายเป็นน้ำแข็ง

ดังนั้นน้ำแข็งธรรมชาติทั้งมวลจึงจืด เพราะที่ข้างเกาะกรีนแลนด์นั่นเองที่น้ำปริมาณมหาศาลกำลังกลายเป็นน้ำแข็ง ทั้งวันทั้งคืนมันจึงเกิดน้ำตกใต้ทะเลของผงตะกอนแร่ธาตุโดยเฉพาะเกลือที่ร่วงลงมา แล้วถูกแรงโน้มถ่วงโลกดึงมันจมลงสู่ก้นทะเลอันลึกล้ำ

แรงจมของเกลือปริมาณมหาศาลทุกวินาทีตลอดวันตลอดคืนนี้เองที่กลายเป็นแม่ปั้มธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่ดันส่งกระแสน้ำใต้สมุทรจากจุดนี้ให้ไหลดันตามกันไปจนเมื่อเเรงกดส่งตะกอนไปถึงก้นทะเลแล้วยังดันกันต่อไปจนเดินทางลงใต้ไปกระทบกับกับแผ่นดินของขั้วโลกใต้ ซึ่งก็เย็นจัดเช่นกัน แล้วจึงไหลเข้าสู่ก้นมหาสมุทรอินเดีย และแปซิฟิก นำพาความเย็นจากสองขั้วโลกเข้าสู่ใต้สมุทรทั้งหลาย

จากนั้นน้ำทะเลที่ไหลนี้จึงเริ่มมีน้ำหนักเบาขึ้น และค่อยๆสะสมการรับแดดในเขตศูนย์สูตรแล้วเดินทางต่อจนกลับมายังแอตแลนติกข้างเกาะกรีนแลนด์เหมือนเดิม

หนึ่งรอบวงจรนี้ ใช้เวลาราวพันปี

วงจรนี้เรียกว่า The Great Conveyor Belt ของโลกที่ส่งความเยือกเย็นจากสองขั้วโลกให้ไหลไปถึงใต้ชายฝั่งทะเลทั้งหลาย

ภูมิอากาศของโลกจึงถูกระบบนี้กำกับให้มาโดยตลอด

แต่เพราะน้ำจืดที่ละลายลงมาที่กรีนแลนด์ ทำให้ม่านความเค็มใต้ทะเลที่จุดเริ่มต้นการเดินทาง เจือจางลงมาก

ทำให้สารละลายขาดน้ำหนักเพียงพอที่จะจมลงในอัตราที่เคยเป็น

แรงดันใต้มหาสมุทรให้เป็นกระแสธารของความเยือกเย็นจึงอ่อนลงเรื่อยๆ รายงานจากงานวิจัยชี้ว่าอ่อนลงกว่า15%และยังคงอ่อนลงเรื่อยๆ

ระบบปรับอุณหภูมิของใต้สมุทรจึงกำลังค่อยๆพังทลายลง

และพลังการส่งสารอาหารให้เดินทางไปทั่วผืนสมุทรจึงกำลังหมดลงด้วย

อากาศเหนือชายฝั่งจึงต้องถูกกระทบ

หมู่ปลาและสัตว์ทะเลจะปั่นป่วนเพราะธาตุอาหารที่เคยไหลผ่านจางลงจนอาจหายไป

แล้วมนุษย์ซึ่งพึ่งพาทั้งเกษตรบนแผ่นดินและโปรตีนจากทะเลจะทำอย่างไร

ทั้งหมดนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่มนุษย์ต้องคลี่คลายให้ได้ก่อนที่จะถึงวันที่หลายระบบจะล่มลงหรืออ่อนลงจนธรรมชาติเอื้อมส่งวงจรทางนิเวศกันไม่ถึง

ปี2030 เป็นเสมือน Tipping Points ชุดแรกที่บอกเราได้ ว่าลูกบอลที่ชื่อนิเวศของโลกใบนี้จะตกบันไดที่น่าจะกู่ไม่กลับแล้ว

และถ้ายังปล่อยไปหรือเบรคไว้ไม่แรงพอ

ปี2050 คือชุดบันไดยาวๆที่ลูกบอลแห่งระบบนิเวศนี้จะร่วงหล่นกลิ้งเป็นลูกขนุนตกเขา  แม้มีเงินมีเศรษฐกิจชนิดไหน ณ ที่ใดของโลก ทุกระบบก็จะกระเด็นกระดอนจนพังพินาศทั้งหมด

There is no healthy business on a collapsing planet

โลกใบนี้มีมานานก่อนมนุษย์คนแรกกลุ่มแรกจะปรากฏตัวขึ้น

และโลกใบนี้จะอยู่ได้สบายด้วย แม้ไม่มีมนุษย์อยู่อาศัยหลังจากนั้นแล้ว

แต่มนุษย์ต่างหากที่จะสาปสูญ ถ้าระบบธรรมชาติของโลกถูกรบกวนมากเกินไป

บทความนี้ถูกเขียนเรียบเรียงขึ้นเพื่อยืนยันว่า

ทุกระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม และระบบการเมืองใดๆก็ไม่อาจอยู่ได้

ถ้าระบบนิเวศน์ธรรมชาติของโลก เอาคืนหรือไม่เอื้อให้ระบบมนุษย์อยู่กันได้อีกต่อไป

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกความพยายามที่จะรื้อฟื้น คืนทุนให้ระบบธรรมชาติ ผ่านกลไกเศรษฐกิจสีเขียว การค้าสีเขียว การลงทุนสีเขียว และสังคมที่ระดมให้ทุกชีวิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมครับ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

สมาชิกวุฒิสภา

กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ฮอนด้า แอคคอร์ด

ที่สุดแห่งเทคโนโลยีการขับเคลื่อนระดับพรีเมียม