ประธานรัฐสภาเปิดการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30 หรือ APPF ครั้งที่ 30 ณ รัฐสภา

ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานเจ้าภาพการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30 หรือ APPF ครั้งที่ 30 และประธานคณะกรรมการบริหาร เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30 ภายใต้หัวข้อ “บทบาทของรัฐสภาในการเร่งรัดการพัฒนาที่ยั่งยืนภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 : Parliaments and the Post – COVID – 19 Sustainable Development” ระหว่างวันที่ 26 – 29 ตุลาคม 2565 

โอกาสนี้ ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานเจ้าภาพการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30 หรือ APPF ครั้งที่ 30 และประธานคณะกรรมการบริหาร กล่าวเปิดการประชุม ใจความสำคัญว่า ในนามของรัฐสภาแห่งราชอาณาจักรไทย ยินดีต้อนรับและขอส่งความปรารถนาดีจากประชาชนชาวไทยไปยังผู้เข้าร่วมประชุมในการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30 ทุกท่าน ประเทศไทยมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APPF อีกครั้งนับตั้งแต่การเป็นเจ้าภาพครั้งก่อนในปี พ.ศ. 2539 โดยการประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐสภาไทยจัดการประชุมที่สัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งมีความหมายว่าสถานที่สำหรับประกอบกรรมดี นับตั้งแต่การก่อตั้ง APPF ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ได้มีการพัฒนาความร่วมมืออันก่อให้เกิดผลดี มีการติดต่อสื่อสารกันอย่างใกล้ชิด และสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันในบรรดารัฐสภาประเทศสมาชิก ซึ่งเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่ามิตรภาพและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดที่ได้สั่งสมมาในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาจะช่วยส่งเสริมความพยายามร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดการฟื้นฟูภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และนำไปสู่การเติบโตและความมั่งคั่งในภูมิภาคในที่สุด หัวข้อหลักของการประชุมครั้งนี้คือ “บทบาทของรัฐสภาในการเร่งรัดการพัฒนาที่ยั่งยืนภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” 

มาจากความตระหนักถึงโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เป็นมากกว่าวิกฤติด้านสุขภาพ การระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบในเกือบทุกด้านของชีวิตเรา และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และนี่เป็นสาเหตุให้ เรา ในฐานะผู้แทนของประชาชน มารวมตัวกัน ณ ที่ประชุมแห่งนี้ในวันนี้ ด้วยเป้าหมายที่จะขยายความเป็นหุ้นส่วนและมุ่งมั่นที่จะสร้างภูมิภาคที่มีความยืดหยุ่นในการรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้มากขึ้นโดยมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูที่สมดุล ยั่งยืน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เมื่อทิ้งโรคระบาดไว้เบื้องหลัง เราจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกระดับความพยายามให้มากยิ่งขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายการฟื้นฟูภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในอีกหลายปีที่เหลือต่อจากนี้ซึ่งเป็น “ทศวรรษแห่งการลงมือทำ” ขององค์การสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าประเทศสมาชิกAPPFทุกประเทศจะมุ่งมั่นที่จะปรับตัวให้เข้ากับวิกฤตการณ์ในภูมิภาคที่สามารถต้านทานและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น ความมุ่งมั่นของเราคือการส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคีเพื่อเร่งรัดการดำเนินการตามวาระ 2030 ของสหประชาชาติ และรับรองการพัฒนาบนพื้นฐานสิทธิและครอบคลุมทุกภาคส่วน สำหรับประเทศไทยนั้นตนได้ให้แนวทางไว้ 2 แนวทางที่จะเร่งรัดการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ดังนี้

 แนวทางแรกคือ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสมดุลในชีวิตใน 4 มิติ ได้แก่ 

ด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้มีการนำเสนอในรายงานการพัฒนามนุษย์ของประเทศไทยของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำปี พ.ศ.2550 : เศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนามนุษย์ ตลอดจนในปฏิญญาระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม 77 และแนวทางที่สองคือ การนำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือบีซีจี มาใช้ในการฟื้นฟูภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในภูมิภาค  โมเดลนี้สร้างขึ้นจากความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของภูมิภาค มุ่งเน้นการเติบโตบนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดปริมาณขยะ และการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ 

โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเฉพาะ ประชาคม APPF มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมมือกันพลิกวิกฤติโควิด-19 ให้เป็นโอกาสในการดำเนินการร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างสภาพแวดล้อมแห่งสันติสุขในภูมิภาคโดยการส่งเสริมความไว้วางใจซึ่งกันและกัน รวมถึงความสมัครสมานสามัคคีในการเป็นตัวแทนของประชาชน APPF จะต้องทำหน้าที่เป็นประชาคมที่กำหนดให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางและไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง โดยมีกลุ่มยุวสมาชิกรัฐสภาไทยจะเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วยเพื่อส่งเสริมหลักการ “ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง” ซึ่งสอดคล้องกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สุดท้ายนี้ ตนมั่นใจว่าการประชุมหารือในช่วงเวลาสามวันนี้จะได้มาซึ่งข้อมติร่วมที่เป็นรูปธรรมและนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป

ในการนี้ ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวต้อนรับ หัวหน้าและคณะผู้แทน จากประเทศสมาชิก APPF ประเทศผู้สังเกตการณ์ องค์การระหว่างประเทศ คณะทูตานุทูต และแขกผู้มีเกียรติ และ นายChangHyun Yun หัวหน้าคณะผู้แทนจากสาธารณรัฐเกาหลี ในฐานะประธานการประชุม APPF  ครั้งที่ 29 กล่าวถ้อยแถลง จากนั้น เป็นการเปิดวีดิทัศน์การกล่าวถ้อยแถลง โดย ดร. Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) และนาง Armida Salsiah Alisjahbana รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคม แห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) และการแสดงทางวัฒนธรรม โดยมี นายชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ตลอดจนประธานคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมาธิการวุฒิสภา สมาชิกรัฐสภาไทย คณะผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง

 

การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกที่จัดขึ้นที่อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) โดยมีวาระการประชุมครอบคลุมประเด็นหลากหลายต่าง ๆ จึงเป็นโอกาสอันดีของไทยที่จะผลักดันวาระที่มีความสำคัญและเพิ่มพูนผลประโยชน์แก่ประเทศ ประชาชน ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสสำคัญของรัฐสภาไทยที่จะแสดงบทบาทการเป็นศูนย์กลางความร่วมมือในเวทีรัฐสภาระหว่างประเทศ และช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของประเทศจากวิกฤต  การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยจะมีการประชุมในหัวข้อดังต่อไปนี้

1. ด้านสตรี หัวข้อ “การเสริมสร้างศักยภาพของสตรีเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ในอนาคตการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019”  โดยมีนางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวเปิดการประชุม โอกาสนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาในฐานะประธาน APPF และประธานคณะกรรมการบริหาร ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยานในช่วงเปิดการประชุม

2. ด้านการเมืองและความมั่นคง หัวข้อ “บทบาทการทูตเชิงรัฐสภาในการส่งเสริมความมั่นคง     ในภูมิภาค / การส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในภูมิภาค / รัฐสภาและการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย สันติภาพและความมั่นคง”

3. ด้านเศรษฐกิจและการค้า หัวข้อ “การส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพและเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อการพัฒนาที่ครอบคลุม / การเพิ่มความเชื่อมโยงและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก”

.

4. ด้านความร่วมมือระดับภูมิภาคภายในเอเชีย-แปซิฟิก หัวข้อ “บทบาทของรัฐสภาในการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ / การพัฒนาและการขยายการเข้าถึงสาธารณสุขมูลฐานอย่างเท่าเทียม / การส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับภูมิภาค และการสนับสนุนความเข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรม”

นอกจากนี้ ยังมีการประชุมกลุ่มอนุภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การประชุมคณะกรรมการบริหาร การประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างข้อมติและแถลงการณ์ร่วม การประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรี การอภิปรายโต๊ะกลมของรัฐสภา เรื่อง“การมีส่วนร่วมของยุวสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิกเพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และการเยี่ยมคารวะ ในโอกาสที่ประเทศไทยได้รับเกียรติในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ถือเป็นโอกาสอันดี ที่จะแสดงให้เห็นว่าประเทศมีความพร้อมในทุกด้าน และกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 อันจะเป็นการช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของประเทศต่อนานาประเทศ นอกจากนี้ ยังได้จัดโปรแกรมการศึกษาดูงาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนได้สัมผัสถึงวัฒนธรรมอันดีงามและความสวยงามของประเทศไทย และกลับมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยอีกครั้ง

 

ทั้งนี้ ได้มีการแสดงวิดีทัศน์ต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ “ไทยแลนด์ แดนศิวิไลซ์” ในรูปแบบโลก ของจักรวาลนฤมิตร(Metaverse) และการดำเนินการประชุมครั้งนี้เป็นไปภายใต้แนวคิด “การประชุมสีเขียว (Green Conference) เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐสภาคำนึงถึงการลดปริมาณขยะ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  เพราะตระหนักถึงภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติและโลกร้อน ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นรูปแบบ Zero Waste เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอาทิ ใช้ปากกา recycle กระดาษ re-used และภาชนะ ที่ย่อยสลายได้ในการจัดเลี้ยง นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ 90 ปีรัฐสภาไทย และการจัดบูธแสดงสินค้าผ้าไทย ภายในงาน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับรัฐสภาไทย และเห็นถึงวัฒนธรรมผ้าไทย    อันเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย

การประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APPF) ประกอบด้วย 4 อนุภูมิภาค ได้แก่ 1) เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (5 ประเทศ) ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มองโกเลีย และรัสเซีย 2) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (9 ประเทศ) ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และบรูไนดารุสซาลาม 3) โอเชียเนีย / หมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง ตะวันตก และตอนใต้  (6 ประเทศ) ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิจิไมโครนีเซีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะมาร์แชลล์ 4) อเมริกา (8 ประเทศ) ได้แก่ แคนาดา ชิลี โคลัมเบียเม็กซิโก เปรู สหรัฐอเมริกา เอกวาดอร์ และคอสตาริกา

ในโอกาสที่รัฐสภาไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APPF ครั้งที่ 30 จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทย  จะได้ผลักดันประเด็นความร่วมมือต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและภูมิภาคต่อไป จึงขอเชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมเป็นเจ้าภาพที่ดีในการจัดการประชุมเพื่อความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติภูมิแก่ประเทศไทย

ฮอนด้า แอคคอร์ด

ที่สุดแห่งเทคโนโลยีการขับเคลื่อนระดับพรีเมียม