นายกฯแจ้ง 6 ยุทธศาสตร์จัดทำงบฯ 3.1 ล้านล้านบาท เพื่อประโยชน์สูงสุด เน้นใช้จ่ายที่คุ้มค่า ยึด รัฐธรรมนูญไทย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2  สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1  เป็นพิเศษ  พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรถึงเป้าหมายและแนวทางร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565  เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมทั้งขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยยึดบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ  พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561  พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561  รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจ้งสาระสำคัญงบประมาณรายจ่าย 2565 จำนวน 3,100,000 ล้านบาท เป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล กำหนดรายได้สุทธิจำนวน 2,400,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 700,000 ล้านบาท รวมเป็นรายรับทั้งสิ้น 3,100,000 ล้านบาท จำแนกยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ด้านความมั่นคง จำนวน  387,909.6 ล้านบาท ร้อยละ 12.5 ของวงเงินงบประมาณ ด้วยการเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ   รักษาความสงบภายในประเทศ พัฒนาและเสริมสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  ปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ การป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด  ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง และพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศเพื่อพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ พัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติและระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ พัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม รวมทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน  จำนวน 338,547.6 ล้านบาท ร้อยละ 10.9 ของวงเงินงบประมาณ โดยมีเป้าหมายกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกภูมิภาคของประเทศ ดังนี้  การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ เพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น พัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม รองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน  การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว กระจายรายได้จากการท่องเที่ยวสู่ชุมชนและพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การพัฒนาผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล โดยมีเป้าหมายให้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี  การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต การเกษตรสร้างมูลค่า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร การพัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ การพัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก  การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เพิ่มมูลค่าของธุรกิจดิจิทัลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล/อินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง การพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์  จำนวน 548,185.7 ล้านบาท ร้อนละ 17.7  ด้วยการเสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี  พัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต พัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ เสริมสร้างศักยภาพการกีฬา ปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม มีความรักและความภูมิใจในความเป็นไทย น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต เพื่อให้สังคมไทยมีความสุข สนับสนุนด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัย

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม  จำนวน 733,749.6 ล้านบาท ร้อยละ 23.7 เพื่อสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม กระจายศูนย์กลางความเจริญให้ทั่วถึง เพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ ด้วยการเสริมสร้างพลังทางสังคม ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมเพิ่มขึ้น กระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  พัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ  เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย พัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก สร้างหลักประกันทางสังคมและความเสมอภาคทางการศึกษา รวมทั้งมาตรการแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เพื่อเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐและโอกาสทางสังคมได้อย่างเท่าเทียมกันและปลอดภัย

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  จำนวนเงิน 119,600.3 ล้านบาท ร้อยละ 3.9 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาและอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล สร้างการเติบโตบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง หมอกควันและไฟป่า ปัญหามลพิษและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้ประเทศมีความมั่นคงด้านน้ำเพิ่มขึ้น การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ   สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจ  จัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ มลพิษและสิ่งแวดล้อม ยกระดับกระบวนทัศน์เพื่อกำหนดอนาคตประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ยุทธศาสตร์ที่ 6 : ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ  จำนวน 559,300.5 ล้านบาท ร้อยละ 18.0 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยมีแผนงานเน้นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ลดปัญหาการทุจริตในสังคมไทยให้ค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index : CPI) อยู่ในอันดับ 1 ใน 54 และ/หรือได้คะแนนสูงกว่า 50 คะแนน ภายใต้รัฐบาลดิจิทัล พัฒนาการให้บริการภาครัฐผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้อย่างคุ้มค่า พัฒนาบริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐ พัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา ปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รวดเร็ว โปร่งใส มีขนาดที่เล็กลง พร้อมปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า งบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันนโยบายและให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจภายในประเทศและผลกระทบจากภายนอก รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งในปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 4.0 – 5.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก แนวโน้มขยายตัวทั้งการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 – 1.7  ซึ่งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2565 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี 

ใส่ความเห็น

ฮอนด้า แอคคอร์ด

ที่สุดแห่งเทคโนโลยีการขับเคลื่อนระดับพรีเมียม