สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให้ไปร่วมการปั่นจักรยาน ‘’เปิดประสบการณ์ใหม่ ให้เส้นทางสายไมซ์ ‘’ ที่จังหวัดพิษณุโลก โดยสสปน.หรือสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB)ในฐานะที่เมืองพิษณุโลกได้รับการประกาศให้เป็นเมืองเจ้าภาพ ของการจัดกิจกรรมกีฬานานาชาติ ตามสิทธิ์ของผู้จัดกีฬาจักรยานที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลก คือ ตรู เดอฟรองซ์
ใครที่เคยจำนักปั่นชื่อ แลนซ์ อารม์สตรอง ชาวอเมริกันที่ปั่นชนะเลิศ ตรู เดอฟรองซ์ต่อเนื่องกันหลายปี คงพอจำภาพการปั่นจักรยานทางไกลที่ทั้งสวยแต่โหดของฝรั่งเศส มีช่วงปั่นขึ้นเขา และผ่านสารพัดทุ่งดอกไม้ ผ่านชนบททั่วฝรั่งเศสแล้วมาจบเข้าเส้นชนะที่ประตูชัย กรุงปารีส มีคนเฝ้ารอชมนับแสนคนในการปั่นท่อนสุดท้ายที่ปารีสทุกปี ไม่นับที่รอเฝ้าดูทางการถ่ายทอดอีกกี่ล้านคน
เพราะตรู เดอฟรองซ์ ได้ชื่อว่าเป็นเรซจักรยานที่เก่าแก่และหฤโหดที่สุดรายการหนึ่งของโลก
เริ่มมาตั้งแต่ 1903 จากการท้าแข่งความอึดถึกของการปั่นจักรยานกันผ่านหนังสือพิมพ์ของยุคนั้น
ปรากฏว่าจากนับร้อยคนที่เข้าร่วมแข่ง มีผู้สามารถปั่นฝ่าความหฤโหดจนมาถึงเส้นชัยได้เพียง 26 คน
จากนั้นก็กลายเป็นประเพณี ที่ใครๆก็สนใจติดตามหรือเข้าร่วม ไม่เป็นคนปั่นก็ขอเป็นคนเชียร์ก็ยังดี
แล้วสิทธิการจัดแข่งขันชื่อนี้ก็ขยายจากฝรั่งเศสไปเกิดขยายในอิตาลีบ้าง สเปนบ้าง
ต่อมาเจ้าของสิทธิพัฒนาให้มีเรซที่ลดระดับความโหดลงมาอีกขั้น เรียกมันว่าการแข่งขัน เลอแทปป์ และมีเมืองต่างๆในโลกที่ไปดึงงานมาจัดที่เมืองของตนบ้าง
ในประเทศไทย พังงาเป็นจังหวัดแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ เลอแทปป์ ต่อเนื่อง2-3ปี และปีนี้พิษณุโลกจะรับความเป็นเจ้าภาพต่อ คือตั้งแต่ ปลาย2022ไปอีก3 ปีจนถึง 2024
ต่อเนื่อง 3 ปีติดกัน
โดยอุดรธานีได้รับสิทธิจัดเลอแทปป์แบบขนาดย่อมอีกจังหวัดหนึ่ง
ดังนั้น ถ้าครบทั้ง 3 เมืองนี้เมื่อไหร่ ไทยเราคงพูดได้ล่ะว่า เมืองเจ้าภาพกีฬาจักรยานนานาชาติของเรามีขึ้นแล้วครบทุกภาค คือพิษณุโลกที่ภาคเหนือ อุดรธานีที่ภาคอีสาน พังงาที่ภาคใต้ ส่วนกรุงเทพและภาคตะวันตกนั้นเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬานานาชาติทั้งจักรยานและกีฬาอื่นๆไปพอควรแล้ว
และเท่ากับวัฒนธรรมกีฬาจักรยานของไทยได้เกลื่อนกลืนกับภาคประชาคมของเมืองต่างๆอย่างมีระบบระเบียบเรื่อยมา
นี่จึงนับเป็นทั้งงานเทศกาลที่จะต่อยอดทางเศรษฐกิจ ทางธุรกิจ ทางการท่องเที่ยว ทางกีฬานันทนาการ การพัฒนาเมือง การสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคม และทางด้านการลดใช้พลังงาน ตลอดถึงการรักษาสภาวะแวดล้อมได้อย่างลงตัว
ผมได้รับเชิญให้มาร่วมกิจกรรมการปั่นเพื่อย้อมบรรยากาศ และประกาศชวนเชิญชาวเมืองพิษณุโลกหนนี้ด้วยการจัดปั่นจักรยาน 2 วัน
วันแรกเป็นการปั่นป่าวประกาศไปพร้อมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกท่านใหม่ ที่เพิ่งย้ายมาจากร้อยเอ็ด ท่านภูสิต สมจิตต์ เพื่อปั่นร่วมกันไปช้าๆในเขตเทศบาลเมืองพิษณุโลก ระยะทางสั้นๆ ราว15 กิโลเมตรเศษ แต่เราชวนกันจอดบันทึกภาพที่จุดแลนด์มาร์คสำคัญของเขตกลางเมืองตั้งแต่แม่น้ำน่าน สะพานข้าม วัดพระพุทธชินราช (ชื่อทางการของวัดคือวัดพระศรีมหาธาตุราชวรวิหาร) วัดนางพญา วัดพระเจดีย์หลวง บันทึกภาพที่ลานสตรีทอาร์ต ผ่านย่านที่อยู่อาศัย ร้านรวงและตลาดร้อยปีของตัวเมือง เพื่อบอกกล่าวประชาสัมพันธ์ชักชวนให้ประชาชนเจ้าของเมืองคุ้นชินกับการโบกไม้โบกมือทักทายนักปั่นจักรยานจากทั่วไทยและนานาชาติที่จะทยอยเข้ามาที่นี่ เพราะจุดปล่อยตัวและจุดเส้นชัยจะอยู่ที่พระราชวังจันทน์ อันเป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถาน ที่ตั้งของพระตำหนักของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตรงฝั่งแม่น้ำน่านเกือบจะตรงข้ามกับวัดหลวงพ่อพระพุทธชินราชนั่นเอง
วันที่สอง ผมร่วมปั่นไปกับท่านอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ท่านรณชัย จิตรวิเศษ ซึ่งเป็นผู้ลงนามไปยื่นเสนอความพร้อมของพิษณุโลกในการเป็นเจ้าภาพการแข่งจักรยาน เลอแทปป์ และท่านเพิ่งจะเกษียณอายุราชการเมื่อ 30 กันยายนที่ผ่านมา เราปั่นกันไปนอกเมืองรวมระยะทางราว 30กว่ากิโลเมตร มุ่งเป็นคาราวานจักรยานไปเยือนชุมชนท่องเที่ยวหลายแห่ง ผ่านทุ่งนา คลองส่งน้ำ ผ่านการปั่นลอดอุโมงค์ ผ่านถนนหินคลุก ทุ่งหญ้าและแวะชิมอาหารเช้า ชิมขนมท้องถิ่นที่มีประวัติยาวนาน แถมได้ลงมือร่วมทำขนมใส่ปากตัวเองชิมร่วมกับเครื่องดื่มท้องถิ่นที่ชาวบ้านรักษาสูตรเอาไว้ เช่น น้ำต้มใบขลู่ เป็นอาทิ
ทั้งสองวัน สมาชิกหญิงชายของชมรมจักรยานและพี่น้องคนรักสุขภาพเมืองสองแควพร้อมใจใส่เสื้อโปรโมทกิจกรรมเลอแทปป์สีเหลืองให้คล้องจองกับคำว่า ‘’Yellow Day” ซึ่งเป็นสีเสื้อสามารถของ
การแข่งขันจริงทั้งตรู เดอ ฟรองซ์ และเลอแทปป์ทุกยุค ซึ่งเมื่อถึงวันที่จะมีการแข่งขันจริงของการแข่งจักรยาน เลอแทปป์-พิษณุโลกระหว่างวันที่ 3-5 ธันวาคม 2022 นี้ ก็จะเท่ากับนักแข่งได้ร่วมสวมเสื้อสีเหลืองสอดรับบรรยากาศวันพ่อแห่งชาติไปด้วยทั้งเมือง
สำหรับคนไทย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ชาวต่างชาติทั้งที่อยู่ในไทยและที่อื่นๆของโลก ถ้าสนใจพิษณุโลก หรือสนใจกิจกรรมจักรยาน ใครจะน่องเหล็ก น่องทอง น่องลีบ น่องโป่ง หรือน่องเรียวสวยแค่ไหนก็สามารถมีส่วนร่วมกิจกรรมนี้กันได้ ไม่ว่าจะมาปั่น มายืนเชียร์ หรือมาเดินชิมเดินชม แถมได้ไหว้พระ เยือนสถานที่สำคัญของเมือง ออกไปท่องสนุกผจญภัยกับเกาะแก่ง แหล่งน้ำ ปีนเขาเข้าถ้ำชมธรรมชาติ ชอปสินค้าท้องถิ่น กินอร่อยกับชุมชน พอเมื่อยน่องก็ไปทานก๋วยเตี๋ยวห้อยขา หรือจะเสาะหาร้านอร่อยที่มีอยู่ทั่วเมืองกันได้สะดวก
พิษณุโลกเป็นเมืองศูนย์กลางคมนาคมมาแต่อดีต เป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์ การทหาร การเมือง การศึกษา ผู้จะผ่านขึ้นภาคเหนือ ไม่ว่าจะทางเรือ ทางราง ทางอากาศ ทางถนน ล้วนต้องผ่านพิษณุโลกเป็นสำคัญ
การเป็นเมืองไมซ์สำหรับจัดประชุมสัมมนาหรือจัดอีเว้นท์ เป็นเจ้าภาพมหกรรมแสดงสินค้า หรืออย่างกรณีนี้ มหกรรมกีฬานานาชาติ จึงอยู่ในยุทธศาสตร์ของที่ตั้งที่เหมาะมาก
มีแม่น้ำสองสายใหญ่ ไหลผ่าน
มีภูเขาเกาะแก่ง วัฒนธรรมเรือนแพ ประเพณีเกี่ยวกับสายน้ำ อาหารจากปลาแม่น้ำ ผู้คนในเมืองมีกำลังซื้อที่แข็งแรง ตลาดเก่าแก่ที่นี่มีกับข้าวและสิ่งที่สะท้อนวัฒนธรรมดั้งเดิมของเมืองได้สารพัดอย่างน่าสนใจ
มาแล้วใครชอบตื่นสายได้ไอเย็นผ่านทุ่ง และลมจากเทือกเขา หรือจะตื่นเช้ามาใส่บาตรพระสงฆ์ที่หน้าพระอุโบสถหลวงพ่อพระพุทธชินราชทุกวันเสาร์ก็มีบรรยากาศที่ขลังอย่างยิ่ง ตลาดเช้าวันเสาร์ริมแม่น้ำที่หน้าวัด และตลาดใต้ใจกลางเมืองพิษณุโลกที่บริหารโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลนครพิษณุโลก ท่านเปรมฤดี ชามพูนท ก็คัดสรรแต่สินค้าน่าชิมน่าลองและแม่ค้าที่ยังไม่มีสถานที่ขายของมาลงเรียงรายได้อย่างสะอาดสอ้าน
ผมได้รับทราบว่าทีมนักแข่งขันกีฬาจักรยานที่เป็นระดับชิงแชมป์ทำสถิตินั้น
ปกติจะเข้าไปเก็บตัวฝึกซ้อมล่วงหน้าเพื่อให้ชินเส้นทาง ชินความลาดชัน บริหารจังหวะการปั่นเป็นทีม คำนวณทิศทางลมและแสงแดดของเส้นทางกันล่วงหน้าเป็นเดือน เพื่อซ้อมทั้งความแกร่ง ความเร็ว และความสามารถในการไต่ความชันที่มีในเส้นทาง ดังนั้นเขาจะมีเวลาออกมาชมเมือง มาลองลิ้มชิมนั่นนี่ในถิ่น สื่อจากนอกพิษณุโลกก็จะมาคับคั่งในช่วงจัดแข่ง โอกาสเล่าเรื่องที่มากกว่าใครทำเวลาในการปั่นได้เท่าไหร่ ก็ย่อมจะมีเป็นธรรมดา
สำหรับเลอแทปป์ พิษณุโลกหนนี้ ฟังว่าชาวชุมชนบนเส้นทางผ่านของการปั่นจะมีสารพัดกิจกรรมคอยส่งเสียงและเสบียงน้ำเพื่อเชียร์ให้นักปั่นทั้งที่เป็นกลุ่มปั่นฉิวและปั่นเเบบเรื่อยๆเอาสนุกได้ประทับใจกัน
ระยะทางที่กำหนดมีทั้งแบบ166กิโลเมตรและแบบ66กิโลเมตร มีคัทออฟท้ายแถวของนักปั่นเป็นระยะๆตามเทคนิคการรักษามาตรฐานจัดกิจกรรม เพื่อไม่ให้ต้องมีการปิดถนนจนรบกวนการเดินทางของผู้จำเป็นต้องใช้เส้นทางนานเกินสมควร
ในเมืองและที่พักแรมจะมีจัดนิทรรศการแสดงสินค้าและบริการเกี่ยวกับจักรยานมาจากทั่วโลก
กิจกรรมกีฬานานาชาติอย่างนี้แหละที่จะช่วยดึงภาพจำดีๆที่จะทำให้เมืองรอง และวัฒนธรรมถิ่น สินค้าเมืองเจ้าภาพและวิถีชีวิตของชาวสองแควได้แสดงตนอย่างชัดเจนขึ้นได้มากในเวทีสากล
ถ้าจะอยากดันอีกอย่างให้เป็นส่วนสำคัญของภาพจำเมืองพิษณุโลกครั้งนี้ก็คือการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ และการเข้าถึงความเป็นเมืองต้นแบบของไทยและของอาเซียนให้ผู้คนสนใจและใช้ประโยชน์จากเหมืองแร่ในเมือง คือบริหารกองขยะใดๆที่มีอยู่ ให้สามารถเอากลับมาใช้ประโยชน์อย่างโดดเด่น เห็นคุณค่า
ปรัชญา ‘’โลกนี้ไม่มีขยะ มีเพียงทรัพยากรที่วางไว้ผิดที่เท่านั้น‘’ เป็นสิ่งที่ ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานบริษัทรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ ที่บัดนี้ขยายสาขาหลายพันแห่งจากฐานแรกที่พิษณุโลกไปถึงทั่วไทย และมุ่งออกไปจะทั่วโลก ผ่านทุกขวดพลาสติกของแบรนด์ผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ทุกขวดที่ตกลงขอมีตราประทับรับประกันเป็นชื่อของวงษ์พาณิชย์ว่า เจ้าของผลิตภัณฑ์นั้นจะทำการรีไซเคิลทุกอย่างของทุกขวดบรรจุภัณฑ์ของตน เช่น เป๊ปซี่ มิรินด้าและซันโตรี่ทุกขวดทั้งหมดทั่วโลกให้หมดอย่างเหมาะสม
สมกับแนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่รัฐบาลและผู้นำเอเปคที่กำลังจะเข้ามาร่วมประชุมหารือ ผ่านข้อเสนอของไทยเรื่อง BCG หรือ Bio Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ)+ Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) และ+ Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว)
ได้ไปปั่นจักรยานออกเหงื่อครั้งนี้ ได้พบกัลยาณมิตรดีๆ อีกเพียบเลยครับ
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
อดีตประธาน สสปน.(TCEB)
รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกีฬา ของวุฒิสภา