ปฏิรูปกฎหมาย (ตอนที่2) : วีระศักดิ์ โควสรัตน์

Ittipan Buathong

ประเทศไทยเรานี่ หากจะจัดนิทรรศการบาบีคิวนานาชาติเพื่อโชว์ศักยภาพการเป็นเมืองแห่งอาหารและการปิ้งย่างแนวสตรีทฟู้ด  คนจัดคงต้องยอมเสี่ยงทำผิดกฎหมายเพราะยังไงๆก็ต้องมีการนำเข้ามาซึ่งวัตถุดิบที่จะอวดว่าของปิ้งย่างเสียบไม้แบบบ้านเมืองอื่น เค้ามีวัตถุดิบที่ให้รสชาติ และองค์ประกอบของซอสที่ใช้จิ้มใช้ราดยังไงกันบ้าง

ปฏิรูปกฎหมาย (ตอนที่2) : วีระศักดิ์ โควสรัตน์

แต่ระเบียบของไทยในการนำวัตถุดิบสำหรับทำบาร์บีคิวจากต่างแดนนั้น มีเยอะโดยไม่ตั้งใจครับ!

โอกาสที่จัดงานจนจบไปแล้ว วัตถุดิบก็ยังติดอยู่ที่ด่านตรวจมีโอกาสสูง

เพราะถ้าบาร์บีคิวไม้นั้นจะเสียบไว้ด้วยพริกหยวก สัปปะรด ไก่ หมู และกุ้ง

ผู้จะนำบาร์บีคิวนั้นเข้ามาจากนอกราชอาณาจักรเพื่อจัดแสดงในงานแฟร์ต้องยื่นเอกสารขออนุญาตการนำเข้าต่อเจ้าหน้าที่กรมต่างๆดังนี้

ชิ้นเนื้อไก่ ไปยื่นขออนุญาตนำเข้าที่กรมปศุสัตว์

กุ้ง ไปยื่นขออนุญาตนำเข้าที่กรมประมง

พริกหยวก ไปยื่นขออนุญาตนำเข้าที่กรมวิชาการเกษตร

ไม้เสียบ ต้องไปยื่นพิสูจน์ว่าไม่ใช่ไม้ต้องห้ามที่กรมป่าไม้ (เงื่อนไขนี้จะใช้เฉพาะการนำไม้เสียบที่ว่าเข้ามาทางชายแดนหรอกนะครับ)

ส่วนน้ำจิ้มและซอส ต้องไปยื่นขออนุญาตที่สำนักงานอาหารและยา

นี่ว่าตามกฎระเบียบ ซึ่งก็แยกย้ายกระจายกันอยู่ตามกรมตามกอง ต่างกระทรวงกัน

แล้วกว่าจะได้รับใบอนุญาตจนครบ คุณคิดว่าจะต้องเตรียมการล่วงหน้ากี่นาน?

ต้องใช้เอกสารประกอบ หนังสือรับรอง กี่ใบ

นี่ยกตัวอย่างคลาสสิค ที่เคยถกกันขำๆในวงผู้จัดแสดงสินค้านานาชาติ

ต่างหน่วย ก็ต่างออกระเบียบเงื่อนไข

โดยมีเจตนาดี คือจะคุ้มครองประชาชน คุ้มครองผู้บริโภคซึ่งถูกต้องแล้ว

แต่ผู้ร่างกฎอาจไม่ทันเผื่อเรื่องการนำเข้าชั่วคราวในปริมาณน้อยๆ เพื่อร่วมงานแสดงสินค้า ที่ไม่ใช่เพื่อการจัดจำหน่ายอันเป็นการทั่วไป

อุตสาหกรรมMICE ย่อมาจากคำว่า

 Meeting (การจัดประชุม)

Incentive traveling (การเดินทางที่   เป็นรางวัลจากภาคธุรกิจ)

Convention (การสัมมนา)และ

Exhibition (การจัดแสดงสินค้า)

แต่ละกิจกรรมไม่ใช่การท่องเที่ยวทิ้กท้อเฮฮาเฉยๆอย่างนักท่องเที่ยวปกติ แต่แฝงไปด้วยการสร้างกิจกรรมพัฒนาธุรกิจและพัฒนาวงการของตัว

อุตสาหกรรมเครื่องมือการแพทย์ เครื่องจักรเครื่องมือ เครื่องพิมพ์ การแสดงด้านสิ่งทอ การแสดงสินค้าเป็นหนึ่งในวิธีที่สำคัญที่สุดที่ช่วยให้ผู้ผลิตและผู้สนใจจะซื้อ ได้เดินทางมาเจอกัน พร้อมๆกันจากหลายๆประเทศ

นักเดินทางเหล่านี้กลางวันไปร่วมเจรจาสนทนาธุรกิจทั้งวัน พอบ่ายค่ำก็จัดงานดินเนอร์และปารตี้ ใช้จ่ายกันเพื่อสร้างเครือข่าย

กล่าวได้ว่านักเดินทางธุรกิจนั้นใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปหัวละสามเท่า!!

ปีหนึ่งนำรายได้เข้าประเทศไทยมาหลายแสนล้านบาทอยู่

ก่อนปีโควิดอาละวาด นักเดินทางธุรกิจต่างชาติบินเข้ามาเมืองไทยราวล้านกว่าคนต่อปี

เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เห็นประเด็น และได้แก้ไขความในกฎหมายเครื่องสำอางเปิดข้อยกเว้นไปให้แล้ว สำหรับกิจกรรมนำเข้าเครื่องสำอางเพื่อร่วมงานแสดงนิทรรศการนานาชาติ

ปฏิรูปกฎหมาย (ตอนที่2) : วีระศักดิ์ โควสรัตน์

มาตรา16 ของพ.ร.บ. เครื่องสำอาง ที่แก้ไขเมื่อปี2558 ระบุให้ใหม่เสียเลยว่า…” ผู้ซึ่งผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางเพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่อจัดนิทรรศการ หรือเพื่อใช้ในการศึกษา วิจัย หรือวิเคราะห์ทางวิชาการ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องขอใบจดแจ้งสำหรับเครื่องสำอางดังกล่าว ตามมาตรา14…”

เพราะมิได้จำหน่าย นี่เอง

มาตรา14 อันเป็นหลักของกฎหมายเครื่องสำอางบอกว่า….”ผู้ใดประสงค์จะผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย ต้องจดแจ้งรายละเอียดของเครื่องสำอางต่อผู้รับจดแจ้ง (คือ อย.) และเมื่อผู้รับจดแจ้งออกใบรับจดแจ้งให้แล้ว จึงจะผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางนั้นได้”….ดังนั้นมาตรา16ที่มาใหม่จึงช่วยทำให้เกิดข้อยกเว้นที่ไม่ขัดกับหลักการ ของมาตรา14 พ.ร.บ.เครื่องสำอาง

ผมเคยเป็นประธานบอรด์ของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือTCEB สังกัดภายใต้รองนายกรัฐมนตรีในช่วง2558-2560พอดี เลยได้รู้เรื่องนี้

รัฐบาลขณะนั้นได้รับทราบและเห็นประเด็น จึงสนับสนุนให้อย.ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นภาระต่อการจัดนิทรรศการนานาชาติด้านเครื่องสำอาง

เพราะถ้าจัดงานแสดงเครื่องสำอางในไทย บริษัททั่วโลกที่ทำธุรกิจเครื่องสำอางย่อมบินมาร่วมกิจกรรมและเดินดูนิทรรศการนี้ในไทย ซึ่งแน่นอนว่าเครื่องสำอางแบรนด์ไทย สมุนไพรประทินโฉมสารพัดของไทย ก็จะได้โอกาสโชว์ของ และอาจได้ตลาดส่งออกหรือร่วมแบรนด์กัน

ผมจำได้ว่าเวลานั้นรัฐธรรมนูญ2560ยังอยู่ระหว่างยกร่างเท่านั้น การแก้ไขกฎหมายก็ยังทำมาสำเร็จได้ แม้ไม่ต้องอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา77ที่กำหนดให้รัฐต้องทำการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้เหมาะสมแก่กาลสมัย ขจัดภาระทางกฎหมายที่ไม่จำเป็นแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ

คณะรัฐมนตรีในเวลานั้นเสนอแก้ไขพ.ร.บ..เครื่องสำอางเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และผ่านออกมาเป็นกฎหมายจนเรียบร้อย

ด้วยตัวอย่างที่แก้ได้แล้วในเรื่องนำเข้าเครื่องสำอางนี่เอง เราจึงน่าจะเอาเรื่ององค์ประกอบ หมูไก่ผักสัปปะรดของบาร์บีคิวมาพิจารณาดูใหม่ว่าถ้าเป็นไปเพื่อการแสดงนิทรรศการนานาชาตินั้น

พอจะสามารถยืดหยุ่นมากขึ้นได้หรือไม่

เพียงแต่งานนี้ต้องขอแรงหลากหลายกรม และต่างกระทรวงกันหน่อย

และบัดนี้รัฐธรรมนูญมาตรา77 ก็เบิกทางให้เป็นหลักการแล้ว

ทำให้สำเร็จในช่วงยังปิดโควิดเสียเลยจะดีมาก

พอแก้ไขกติกาเสร็จก็ป่าวประกาศให้โลกรับรู้

สหพันธ์ สมาพันธ์ สมาคม และวงการอาหาร เครื่องมือเครื่องใช้ด้านต่างๆก็จะได้ตื่นเต้นคิดอ่านวางแผนมาจัดนิทรรศการสตรีทฟู้ดในไทยกัน

ปฏิรูปกฎหมาย (ตอนที่2) : วีระศักดิ์ โควสรัตน์

มิเช่นนั้น เมืองหลวงของสตรีทฟู้ด แต่ตอนจัดงานสตรีทฟู้ดนานาชาติ ก็คงต้องใช้วัตถุดิบที่หยิบฉวยเอาได้จากตลาดภายในประเทศเป็นหลักต่อไป

ปฏิรูปกฎหมาย (ตอนที่2) : วีระศักดิ์ โควสรัตน์

ไหนๆก็อธิบายเรื่อง MICE มาถึงบรรทัดนี้แล้ว

น่าดีใจที่ตอนนี้ข้าราชการประจำอาศัยช่วงโควิดหารือกันพยายามจะทำให้เกิดแพคเกจวีซ่าที่จะทำให้นักเดินทางธุรกิจที่มาประชุมสัมมนาหรือร่วมงานนิทรรศการช่วงสั้นๆให้ได้รับใบอนุญาตทำงานในระหว่างอยู่ในไทยไปด้วย

เพราะที่ผ่านๆมา การที่นักเดินทางธุรกิจเข้ามาทำธุระในไทยแม้จะแค่สองสามคืน แต่ตัวกิจกรรมหลายอย่างก็สุ่มเสี่ยงต่อการขัดกับคำที่บัญญัติห้ามไว้ในตัวบทกฎหมาย เช่น เขามางานแสดงเครื่องจักรกล พอเค้าขึ้นเวทีสัมมนาหรือนั่งอธิบายให้ผู้มาเดินงานฟังเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์ของเขา เขาก็เข้าข่ายว่ากำลัง ”ทำงาน” !!

ปฏิรูปกฎหมาย (ตอนที่2) : วีระศักดิ์ โควสรัตน์

ถ้าทีมเขามาหลายคน คนที่เป็นหัวหน้าย่อมมีการสั่งงาน จ่ายงาน แบ่งงานให้คณะของเขาไปทำในแต่ละวัน อันนี้ก็อาจเข้าข่าย”ทำงานบริหาร”

พอตอนที่เขาตรวจสต้อคของ ตรวจบัญชีรายการเพื่อบันทึกเก็บไว้ นี่ก็เข้าข่าย”ทำงาน”อีกแล้ว

แต่เพราะไม่มีใบอนุญาตทำงานในสามสี่วันนั้นในไทย

ถ้าใครแจ้งให้จับกุม

เจ้าหน้าที่จะไม่ดำเนินการก็คงลำบากใจ เพราะเสี่ยงต่อการเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ จึงกำลังหารือกับหน่วยงานอย่างตม.และกรมการจัดหางานว่าจะมีวิธีทำยังไงให้ลดขั้นตอนที่จะต้องแยกยื่นแยกขอทั้งขออนุญาตเข้าเมือง ขออนุญาตทำงาน ขอนำสินค้าที่จะแสดงนิทรรศการออกมาจากด่านตรวจ

เพราะเขามา ไม่ใช่เพื่อเพื่อจะ ”แย่งงาน”

ไม่ได้มาเพื่อ ”ขายของชิ้นนั้น

แต่เพื่อมาแนะนำของแบบนั้น”

ให้คนสนใจได้รู้จัก มั่นใจ ได้จับต้องและอาจสั่งซื้อสั่งจองได้ต่อไป

แถมเขาเข้ามาจับจ่าย อย่างน้อยก็ค่าที่พักอาหาร ค่าแท้กซี่ ค่าล่ามแปล ค่าวางแสดงสินค้าที่บู้ท ฯลฯ

เราควรอำนวยความสะดวกให้เขามากกว่าจะปล่อยให้คำในกฎหมายที่มุ่งจะใช้กับพวกลักลอบหากินฉวยโอกาสมากระทบต่อคนที่มาช่วยทำให้เศรษฐกิจพัฒนาหรือเปล่า

ปฏิรูปกฎหมาย (ตอนที่2) : วีระศักดิ์ โควสรัตน์

เขียนสักมาตราให้ยกเว้นนักเดินทางธุรกิจที่เข้ามาเป็นผู้แสดงสินค้านานาชาติ เป็นวิทยากร เป็นองค์ปาฐก หรือที่เข้ามาด้วยวีซ่าไมซ์ MICE VISA ได้หรือเปล่า

หลักการนี้ใช้กับการสร้าง ”วีซ่ากองถ่ายหนัง”ด้วยเลยดีไหม

เคยมีมาแล้วที่กองถ่ายหนังต่างประเทศเข้ามาถ่ายกันแล้วมีคนแจ้งตำรวจจับฐานไม่มีใบอนุญาตทำงาน

โน่นล่ะครับ ทั้งดาราดังต่างประเทศและผู้กำกับต่างชาติที่มีชื่อชั้นถูกควบคุมตัวไปนั่งในห้องควบคุมรวมกับผู้ต้องสงสัยเดินยา ลักทรัพย์

นี่แหละครับกฎหมาย”ต่างกรม”ซึ่งส่วนมากมุ่งสร้างความสะดวกให้กรม เน้นควบคุม เน้นป้องกัน ซึ่งย่อมไม่ผิดปกติอะไร

แต่สิ่งที่ต้องเร่งเติมคือ”กฎหมายกลาง ”ที่ทุกหน่วยสามารถใช้ร่วมกัน และมุ่งลดภาระให้ประชาชนและธุรกิจที่จะสร้างการเติบโตของไทย

ปฏิรูปกฎหมาย (ตอนที่2) : วีระศักดิ์ โควสรัตน์

กฎกติกาอะไรที่รุงรัง ไม่อาจบังคับใช้ได้ หรือมีแล้วจุกจิกเกินไปก็ควรหั่นออกหรืออย่างน้อยก็ลดระดับชั้นของกฎนั้นลงให้อยู่ในระดับที่แก้ไขปรับปรุงได้ง่ายๆ  ไม่ต้องเอะอะก็ต้องรอคิวยาวเพื่อเข้าสภาลูกเดียว เสียเวลาบ้านเมืองเปล่าๆ

ถ้าทำได้ เราจะได้ทันต่อกาลสมัยขึ้นอีก

แถมจะได้นักลงทุนนานาชาติเข้ามาเติมพลังให้เศรษฐกิจไทยอีกด้วย

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา

อดีตกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อดีตปธ.กรรมการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน)

Leave a Comment