ปฏิรูปกฎหมาย (ตอนที่3) : วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

Ittipan Buathong

ในฐานะที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้วุฒิสภาติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศไทย

ภาษาคำย่อ บอกว่าวุฒิสภาต้องทำหน้าที่ ตสร. (ติดตาม~เสนอแนะ~เร่งรัด)การปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ

ปฏิรูปกฎหมาย (ตอนที่3) : วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

ในฐานะนักกฎหมาย ผมเคยอภิปรายเรื่องการเร่งยกเลิกกฎหมายล้าสมัยและหรือที่ขาดไร้การบังคับใช้ในที่ประชุมวุฒิสภาหลายหน เพราะเคยมีโอกาสทำงานอย่างนี้มาก่อนในสมัยที่ผมเคยเป็น กรรมการพัฒนากฎหมายที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

และในฐานะคนเขียนบทความเสนอนโยบายสาธารณะบ่อยๆ ผมเคยเขียนเอาไว้ในบทความหลายหนว่า หนึ่งในเรื่องน่าทำมากที่สุดในช่วงโควิด19คือการล้างท่อ ขัดตะกรันตามคอขวดในระบบราชการนี่แหละครับ

ทุกวันนี้ เรือลำเลียงสินค้าทางทะเลที่จะเอาสินค้าขึ้นท่า ต้องรอการอนุญาตจากกรมเจ้าท่าก่อน

ปฏิรูปกฎหมาย (ตอนที่3) : วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

อันนี้พอเข้าใจ เพราะคนที่บริการขนส่งทางเรือสามารถเตรียมการล่วงหน้าทางเอกสารได้ ตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง หรือระหว่างเดินทางอยู่ก็ยังพอได้

แต่ถ้าไปใกล้ท่าเรือปลายทางแล้ว แต่มีเหตุที่ไม่สามารถเข้าเทียบท่าที่ขออนุญาตไว้ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของฝ่ายเรือ เช่นท่าเรือเต็ม มีเรืออื่นไม่ยอมออกจากท่าเพราะยังขนถ่ายไม่เสร็จ เรือสินค้าลำนี้จะต้องลอยลำรอจนกว่าทางการจะอนุญาตให้เปลี่ยนท่าเข้าเทียบจอดเพื่อลำเลียงสินค้าลงจากเรือได้

ปฏิรูปกฎหมาย (ตอนที่3) : วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

ในทางปฏิบัติจริง เรือสินค้าไม่สามารถลอยลำรอในทะเลได้นานนักเพราะเรือเหล่านี้มีคิวต้องส่งสินค้าลงและต้องแล่นไปรับสินค้าจากที่หมายใหม่ ตามที่ทำสัญญาขนส่งไว้ ถ้าเรือผิดเวลาก็จะโดนเล่นงานฐานผิดสัญญา

เรือก็คล้ายเครื่องบิน บินไปแล้วมีเหตุที่ต้องเปลี่ยนสนามบินลงจอด จะเพื่อหลบพายุหรือเพราะน้ำมันเหลือน้อย การขออนุญาตก็อาศัยการวิทยุสื่อสาร

เรื่องค่าแลนดิ้งกระแทกรันเวย์ ค่าหลุมจอด ค่าพนักงานภาคพื้นดินที่จะมาช่วยโบกช่วยเดินบันไดเทียบข้าง เดี๋ยวค่อยมาว่ากันทีหลัง

ส่งบิลไปตามเก็บกันได้

แต่พอมาใช้กับเรือขนส่งสินค้า

ไม่ยักได้แฮะ

อย่างไรก็ดี  กัปตันเรือสินค้ามักจะนำเรือเข้าจอดที่ท่าแห่งใหม่ที่พอจะหาได้แล้วแจ้งเอกสารต่อทางการเพื่อขออนุญาตตามหลังอีกที

ซึ่งตามกฎหมาย วิธีนี้จะเป็นความผิดของเรือสินค้า ทั้งที่การที่ท่าเทียบเรือให้เรือเข้าเทียบไม่ได้ไม่มีสาเหตุมาจากเรือลำที่ว่า

เครนยกของของท่าเรืออาจจะเพิ่งเสียหายจากเรืออื่นชนจึงปิดซ่อมหรือน้ำลงจนสันดอนทรายตื้นเขินเกินกว่าจะรับเรือใหญ่เข้าไปเทียบได้ตามปกติ

ถ้าเรามีกฎระเบียบให้เรือแจ้งทางการทราบเฉยๆ หรือขออนุญาตทางวิทยุสื่อสาร มีบันทึกเสียงกรือจะให้ส่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์ก็ตามเมื่อต้องเปลี่ยนท่าเทียบ คือไม่ต้องถึงยื่นหนังสือ จะเพียงพอได้ไหม

ผลคือทางการก็ยังได้ข้อมูลและควบคุมการเลือกท่าจอดได้อยู่ และท่าที่จะให้เทียบได้ก็ย่อมสามารถกำหนดให้เลือกเข้าเทียบได้เฉพาะตามที่ทางการจะกำหนดไว้คือเป็นลิสต์ Aก็พอไหม

ในต่างประเทศที่เค้าทำเมืองท่าได้มีประสิทธิภาพสูงๆ  เค้ามีกติกาที่เอื้อให้ระบบโลจิสติกคล่องตัวอย่างไร เราน่าจะเทียบเคียงดู

ไทยพึ่งพาการส่งออกมานาน เราเองยังต้องมีทั้งการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มอีกแยะ แถมเรากำลังมีรถไฟทางคู่และรถไฟไทยจีนซึ่งก็แน่ชัดว่าจะเปิดบริการในอีกไม่กี่ปีแล้วและจะมุ่งเชื่อมเมืองท่าต่างๆ

เรายิ่งควรสังคายนากฎระเบียบให้ไม่เป็นอุปสรรคที่ไม่จำเป็น

ปฏิรูปกฎหมาย (ตอนที่3) : วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

ทีนี้มองไปที่ ธุรกิจ สปา ในไทยบ้าง

ธุรกิจสปาต้องขอต่อใบอนุญาตใหม่ทุก5ปี

นัยว่าจะได้มีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสถานที่ให้ปลอดภัยไร้เชื้อกระมัง

คำถามคือแล้วทางการมีเจ้าหน้าไปตรวจก่อนต่อใบอนุญาตได้เร็วเพียงใด หรือตรวจแล้วไม่ต่อใบอนุญาตให้เยอะเลยหรือเปล่า

ถ้าตรวจแล้วส่วนมากก็ผ่าน เราจะให้ใบอนุญาตมีอายุนานแค่ไหน จึงจะพอเหมาะ

กฎระเบียบบอกด้วยว่าเจ้าของร้านสปาต้องยื่นแจ้งเลิกสปาต่อทางการด้วย ถ้าจะเลิกกิจการ

ในช่วงโควิดจึงมีคนคิดถามเหมือนกันว่า ถ้าร้านสปาหยุดบริการไปนาน แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะกลับมาเปิดใหม่หรือไม่

เจ้าของร้านต้องทำยังไง

ปฏิรูปกฎหมาย (ตอนที่3) : วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

การกำหนดในกฎหมายว่าถ้าเลิกกิจการต้องมาแจ้งทางการนั้น เป็นภาระที่รัฐสร้างต่อผู้เปิดร้านเกินจำเป็นมั้ย หรือจะให้แจ้งทางออนไลน์แจ้งด้วยไปรษณียบัตรเฉยๆจะเพียงพอหรือเปล่า

จะว่าไปแล้วก็ยังไม่ค่อยมีสปาที่ไหนเลิกเพราะไม่ขาดทุน

แล้วจะเพิ่มภาระให้ต้องมาแจ้งต่อทางการอีก

มันก็น่าจะลดราวาศอกได้นี่นะ

แล้วถ้ายังไม่เลิกกิจการแต่ยังไม่มีปัญญาจะเปิดอีกเพราะลูกค้ามีน้อยมากล่ะ หรือเจ้าของทะเลาะกับพนักงานนวด จนมีสไตรค์กัน จะหามือนวดใหม่มาก็ไม่มีในช่วงนั้น เลยจำใจต้องหยุดเปิดบริการไปนานโข

รัฐจะถือว่าเลิกโดยไม่มาจดแจ้งตามกฎหมายอีกหรือเปล่า

อีกเรื่องที่ร้านสปาแบกภาระอยู่เพราะกฎหมาย คือเรื่อง การกำหนดให้มีการแจ้งขึ้นทะเบียนหมอนวดคือผู้ให้บริการการนวดในร้านทุกคน ต่อทางการ

ปฏิรูปกฎหมาย (ตอนที่3) : วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

แต่ในทางปฏิบัติ พนักงานผู้ให้บริการนวดมักจะย้ายที่ทำงานจากร้านหนึ่งไปอีกร้านในย่านใหม่ที่มีลูกค้ามากกว่าเป็นปกติของคนจะทำมาหาเลี้ยงครอบครัว

การที่ทางการอยากรู้ว่าคนที่กำลังทำงานนวดให้ลูกค้าเป็นคนที่ทางการรับรองหรือไม่จึงน่าจะเปลี่ยนไปกำหนดให้สถานศึกษาอบรมที่สร้างหมอนวดทำหน้าที่ครั้งเดียวตอนอบรมจบกล่าวคือให้ครูผู้สอนจนจบนั่นแหละที่จะส่งรายชื่อผู้สำเร็จการศึกษาอบรมให้ทางการรับรู้ตั้งแต่แรกเพียงหนเดียวก็พอ ลดภาระแก่ทุกฝ่าย  ไม่มีใครต่อใครต้องส่งชื่อส่งหลักฐานสารพัดทุกหนที่หมอนวดย้ายร้าน

ลดภาระทางเอกสารให้ทั้งราชการและผู้ยื่น

หากจะให้หยิบยกอีกสักตัวอย่าง ลองดูที่การยื่นขอใช้ไฟฟ้าหรือประปาสังเกตไหมครับว่า ค่าการขอมิเตอร์ชั่วคราวของประชาชนมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการยื่นขอใช้ไฟฟ้าหรือประปาแบบถาวร

ซึ่งพอเข้าใจได้ เพราะถือว่าทางการต้องมาให้บริการแล้วสักพักก็ต้องมาถอดถอนระบบไฟระบบประปากลับไป เพราะขอชั่วคราวนี่

ส่วนการขอใช้ไฟฟ้าประปาแบบถาวรจะทำได้ก็ต่อเมื่อ ผู้ยื่นมีเลขที่บ้านแล้ว

อันนี้ฟังดูเหมือนง่ายๆ

แต่การจะมีเลขที่บ้านได้นั้น ทางการตั้งหลักว่าจะพิจารณาออกให้ก็ต่อเมื่อการก่อสร้างอาคารบ้านพัก”เสร็จ”แล้วเท่านั้น

ดังนั้น ถ้าหากทางการจะลดเงื่อนไขลงมา เหลือแค่ว่าได้ยื่นแบบก่อสร้างและได้รับอนุญาตแบบเรียบร้อย การก่อสร้างเดินไปถึงขนาดที่ดูว่านี่ไม่ใช่การจะเคลื่อนฐานรากกันไปได้ง่ายๆแล้ว ทางการตรวจแล้วไม่เป็นการสร้างรุกที่ดินรัฐ รุกล้ำที่ข้างเคียงก็ออกเลขที่บ้านให้ไป น่าจะดีกว่ามั้ย

เช่นตอกเข็มครบแล้ว หรือขึ้นโครงอาคารถึงจุดที่จะเป็นดาดฟ้าหรือเป็นหลังคากันสำเร็จ ก็พอ

เค้าจะได้ไปยื่นขอใช้ไฟฟ้า ขอใช้น้ำแบบถาวร ไม่ต้องเทียวไล้เทียวขื่อ เตรียมเอกสาร และกรอกแล้วกรอกอีกอยู่หลายรอบ

คือต้องไปยื่นขอเลิกใช้ไฟฟ้าชั่วคราวทีนึง แล้วยื่นเอกสารพร้อมหลักฐานประกอบตอนขอใช้ไฟฟ้าถาวรอีกชุด

แต่จะให้ดี ถ้าทำให้ลดขั้นตอนยิ่งกว่านี้ได้ ก็ยิ่งดี

อันนี้จะช่วยลดภาระแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ซึ่งกำลังลงทุนทำอาคารจะเป็นลูกค้าของรัฐในการใช้น้ำใช้ไฟไม่ใช่หรือ

ปฏิรูปกฎหมาย (ตอนที่3) : วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

ทีนี้ไปดูเรื่องชาวต่างชาติเดินทางมาไทยบ้าง

แบบกระดาษกรอกข้อทูลคนเดินทางหรือใบตม.6ได้ถูกกำหนดให้เลิกใช้กับผู้โดยสารชาวไทยบนเครื่องบินและเรือโดยสารระหว่างประเทศไปแล้ว แต่ยังกำหนดให้ผู้โดยสารต่างประเทศต้องกรอกใบตม.6ยื่นให้ตม.ที่สนามบินหรือด่านนั้น ทางการไทยพอจะมีแผนให้ใช้การสแกนเก็บข้อมูลจากหนังสือเดินทางของผู้โดยสารต่างชาติเฉยๆจะพอไหม

ลดเวลาให้ทั้งคนกรอก คนอ่าน และการเก็บกระดาษใบตม.6

เพราะที่ให้กรอกไปทั้งหลายนั้นมันคือข้อมูลที่ส่วนใหญ่มีในหนังสือเดินทางกับตราประทับวีซ่าแล้วทั้งนั้น เหลือแค่ว่ายังไม่รู้ว่าชาวต่างชาติที่เข้ามาคนนั้นจะไปนอนที่ไหน ส่วนที่ไปถามเค้าว่าเค้ามาทำไม มีรายได้สักเท่าไหร่ ถึงเค้าตอบอะไรมาเราก็คงไม่มีเวลาไปพิสูจน์กระมัง

ปฏิรูปกฎหมาย (ตอนที่3) : วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

นอกจากเอาคำตอบมาประมวลเป็นสถิติไว้แถลง

เวียดนาม มาเลเซียเค้าก็เลิกระบบนี้ไปนานพอควรแล้ว

ในใบตม.6 ช่องกรอกที่พักที่อยู่ที่ให้ชาวต่างชาติกรอกรายละเอียดนั้น เอาเข้าจริงคนต่างชาติที่เข้ามาเมืองไทยนั้น อาจพักแรมตามแหล่งท่องเที่ยวแค่คืนละจุดอยู่ดี ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะกรอกล่วงหน้าได้มากไปกว่าว่าเขาจะพักแรมที่ไหนในคืนแรก และส่วนมากไม่รู้บ้านเลขที่และถนนที่ชัดๆ อยู่ดี

เรามีกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ให้ที่พักแรมแก่คนต่างด้าวต้องแจ้งการเข้าพักของคนต่างด้าวต่อทางการทั้งต่อตม.ในพื้นที่และต่อฝ่ายปกครองคือนายอำเภอในท้องที่ตามกฎหมายพ.ร.บ.คนเข้าเมืองอยู่แล้ว รวมทั้งในกฎหมายโรงแรมก็มีสั่งไว้

การให้กรอกแล้วกรอกอีก ในข้อมูลเดิมๆจึงดูจะเป็นการเมินการใช้เทคโนโลยีไปหน่อย

และในหลายกรณีก็อาจมองได้ว่าเป็นการไม่สื่อสารแชร์ข้อมูลกันเองระหว่างหน่วยงานภายในได้เสียอีก

ถ้าผู้ให้ที่พักแรมแก่คนต่างด้าวแจ้งข้อมูลต่อตม.ในพื้นที่เฉยๆก็น่าจะพอแล้ว

เพราะนายอำเภอกับตม.ควรจะแชร์ข้อมูลกันเองในระดับพื้นที่ได้

แต่เพราะกฎหมายเขียนว่า”และ” เลยควรต้องพิจารณาแก้ที่ถ้อยคำในกฎหมาย รวมทั้งต้องทำให้ทางปฏิบัติไปได้ และมีประสิทธิภาพที่รัฐก็ควรได้ คนเดินทางก็ควรสะดวก เจ้าสำนักโรงแรมหอพักอพาร์ตเมนต์ก็ไม่มีภาระด้านเอกสารเกินจำเป็น

รายงานการศึกษาของ TDRI ล่าสุดครอบคลุมเรื่องข้างต้นเหล่านี้แหละครับ ผมหยิบรายงานย่อมาอ่านแล้วเห็นว่าดีงามเป็นประโยชน์ที่สังคมน่าจะได้ร่วมรู้ จึงนำมาเล่าย่อๆในบทความตอนที่ 3 นี้

ทีมทำวิจัยศึกษาเรื่องนี้คือ ดร.ดวงเด่น เด่นดวงบริรักษ์และคณะ ได้ร่วมทำงานกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจนคณะวิจัยสามารถนำข้อมูลเสนอต่อทางการได้เมื่อปลายปี2562

ก่อนโควิด19จะปรากฏตัวขึ้นมาแผลบเดียว

แต่ดร.เดือนเด่นก็มีอันต้องประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตไปอย่างน่าเสียดายก่อนจะได้มีโอกาสเห็นผลของงานวิจัยชิ้นสำคัญนี้เดินไปถึงจุดเปลี่ยนด้วยตนเอง

งานชิ้นนี้เป็นเสมือนเครื่องมือปลดพันธนาการชุดใหญ่ให้แก่กฎหมายและระเบียบต่างๆในราชการไทย ให้สมเหตุสมผลขึ้น แบกกันเบาลง ทั้งแก่บ่าของประชาชน และบ่าของข้าราชการ

ขอคาราวะดร.เดือนเด่นและคณะของ TDRI ที่ได้แจกแจง และชี้เป้าบรรดาคอขวดเพื่อจัดการกับกฎระเบียบที่ควรจะ

Cut (ยกเลิก)

Change (เปลี่ยนแปลง)

Combine (รวมเข้าด้วยกันไม่ให้ซ้ำซ้อน)

Create (สร้างกติกาใหม่ที่ดีกว่า เป็นธรรมกว่า มีประสิทธิภาพกว่า)

Continue (ถ้ายังเหมาะสมก็ให้คงอยู่ต่อไปได้)

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา

#ท่านที่สนใจอ่านสรุปของรายงานนี้สามารถเปิดได้ทางออนไลน์ 20 หน้า ทาง https://tdri.or.th/2021/04/regulatory-guillotine-2/ หรือที่ https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2021/04/wb175.pdf

Leave a Comment