เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา ได้อภิปรายในเวทีเสวนา ทางออนไลน์ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง : Climate Change : ภาวะโลกรวน..ปัญหาที่ถูกลืม? โดยระบุว่า สภาวะถึง เครื่องมือ 3 ลักษณะที่รัฐราชการควรใช้ร่วมกันในการทำงานในการขับเคลื่อนประเด็นเกี่ยวกับปัญหาสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง คือ 1 .การทำงานแบบหุ้นส่วนกับภาคประชาสังคม 2 .การปรับปรุงให้ระบบการใช้จ่ายใดๆ การจ้างใดๆ รวมทั้งการประเมินการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐควรมีลักษณะเป็นการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว หรือ Green Procurement ให้เด่นชัด และ3. การเร่งเสนอร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาโดยไม่ล่าช้า ทั้งร่างพรบ.การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ร่างพรบ.การจัดการขยะอันตรายและซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ร่างพรบ.การจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ
‘’…รัฐพึงแต่งตั้งโฆษก Climate Change ที่สื่อสารได้โดยข้ามมิติความขัดแย้งในการเมือง และข้ามกำแพงภาษาและวัฒนธรรม ข้ามกลุ่มอายุและอาชีพ มีความต่อเนื่องในการสื่อสาร และมีวาระดำเนินงานนานกว่าวาระของรัฐบาล เพื่อให้สามารถรักษาความต่อเนื่องในการรณรงค์ สื่อสาร และชี้แจงให้สารพัดเครือข่ายได้ทำงานร่วมกันไปยาวนาน เพราะปัญหานี้ซับซ้อน และสะสมมานาน การจะแกะแก้มันได้อย่างมีพลังและมีดุลยภาพ จำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารที่สามารถเลี่ยงความขัดแย้ง แต่สร้างความน่าสนใจร่วมกันเพื่ออนาคตที่ดีของทุกคน…’’ นายวีระศักดิ์กล่าว
นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงกลุ่มเปราะบางที่จะตกเป็นผู้รับผลกระทบหนักและรับผลก่อนกลุ่มอื่น การเตรียมกลไกทางเศรษฐศาสตร์ทั้งเพื่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต การบริโภค การบริหาร และการป้องกันจึงต้องถูกเร่งให้เกิดขึ้นอย่างครอบคลุม และทันเวลา นายวีระศักดิ์ให้ข้อสังเกต
…’’อีกทั้งควรสนับสนุนเอกชนปลูกไม้ใหญ่ในที่ดินเอกชนให้เป็นระบบ เพราะที่ดินที่เอกชนครอบครองนั้นบัดนี้มีปริมาณเท่าเขตป่าไม้และอุทยานแห่งชาติทั้งหมดรวมกัน รวมทั้งเร่งทำความเข้าใจกลไกและความสำคัญของแพลงตอนในทะเลซึ่งเป็นผู้ผลิตออกซิเจนกว่าครึ่งของโลกเรา ว่าอะไรบ้างคือสิ่งที่มนุษย์เราต้องทำเพื่อไม่ไปทำลายแพลงตอนเหล่านั้นโดยไม่ตั้งใจ…’’
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา
รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา