วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  ขั้นตอนคดีที่เป็นมิตรกว่าสำหรับจำเลยจนๆ

Ittipan Buathong

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  ขั้นตอนคดีที่เป็นมิตรกว่าสำหรับจำเลยจนๆ

ในการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ของคณะกรรมาธิการร่วมของรัฐสภา คือมีสมาชิกจากทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรมานั่งทำงานร่วมกัน

วานก่อนนี้ผมได้ขออภิปรายเปิดประเด็นใหม่เกี่ยวกับบางมาตราของร่างกฎหมายนี้

ซึ่งผมมองว่าน่าจะเป็นหนึ่งในหัวใจที่สำคัญที่สุดของการปฏิรูปกฏหมายในเรื่องนี้

ปรับเป็นพินัยนั้น คำว่าพินัยเป็นคำที่เคยใช้มาในยุคกรุงศรีอยุธยา  ก่อนกฏหมายตราสามดวงยุคตั้งรัตนโกสินทร์โน่นทีเดียว

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  ขั้นตอนคดีที่เป็นมิตรกว่าสำหรับจำเลยจนๆ

แปลว่าปรับเข้าแผ่นดินแหละ

แต่ปรับแบบเป็นพินัย ไม่ได้ถือเป็นการลงโทษลงทัณฑ์ อย่างปรับตามประมวลกฎหมายอาญาที่ผลิตออกมาในภายหลัง

การปรับเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาในกฏหมายไทยนับร้อยๆฉบับให้’’ลดรูป’’ลงมาเป็นการปรับเป็นพินัย นั้น

แม้เงินค่าปรับยังตกเป็นของแผ่นดินเหมือนเดิม

แต่ที่จะเปลี่ยนไปคือ ผู้กระทำความผิดจนถูกปรับนั้นจะไม่ติดในประวัติอาชญากรรม เพราะโทษปรับเงินสถานเดียวนั้น มักจะใช้เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำผิดให้ใช้ความระมัดระวังมากขึ้น ไม่ใช่ความผิดที่ทางการถึงกับต้องเอาตัวไปกักขังแยกออกจากสังคมอยู่แล้ว

ถ้ากฏหมายไม่มองว่าเป็นเรื่องไม่คอขาดบาดตาย กฏหมายก็ย่อมจะเขียนว่าให้ทั้งจำและทั้งปรับ

ศาลจะพิจารณาสั่งเป็นอย่างอื่นหรือเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้

อนึ่ง  มีหลายกรณีในอดีต ที่แม้คนจนทำผิดเล็กน้อย มีเงินไม่พอจ่ายค่าปรับ กฏหมายไม่ได้เปิดทางเลือกอื่นนอกจากให้เอาตัวไปกักขังแทนค่าปรับ

ให้คำนวณวันขังว่าแทนวันละกี่บาทก็ว่ากันไปตามอัตราเงินเฟ้อเป็นช่วงๆ

แต่นี่เองที่ทำให้เกิดบรรยากาศที่เป็นความเหลื่อมล้ำจากวิธีปฏิบัติทางกฏหมาย

คนมีเงินจ่าย  พอชำระค่าปรับแล้วรับใบเสร็จกลับบ้านได้ คดีเป็นอันเลิกไป (แม้จะบันทึกในประวัติอาชญากรรมแล้ว)

แต่คนยากจน เงินขาดมือ ในความผิดเดียวกันกลับถูกส่งเข้าห้องขัง และถูกบันทึกว่ามีประวัติอาชญากรรม และคดียังไม่นับว่าเลิกกันจนกว่าจะกักขังครบวันที่คำนวนแล้ว

ร่างกฏหมายนี้พัฒนามาจากคณะกรรมการพัฒนากฏหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งผมเองเคยร่วมนั่งเป็นกรรมการชุดนี้อยู่ด้วย ได้ยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยส่งไปผ่านคณะรัฐมนตรีแล้วเดินทางมาจนถึงที่ประชุมร่วมรัฐสภา

ในฐานะเป็นกฏหมายที่จำเป็นต่อการปฏิรูปประเทศ

จึงนับว่าเป็นกฏหมายที่สำคัญแน่นอน

ปรากฏว่ารัฐสภามีมติรับหลักการอย่างท่วมท้นและตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภาไปพิจารณารายมาตราต่อ

ที่ประชุมคณะกรรมาธิการมีมติตั้ง ศาสตราจารย์ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณเป็นประธานกรรมาธิการ

พร้อมทั้งตั้งผมเป็นรองประธานร่วมกับท่านผู้ใหญ่ที่มีอาวุโสทางกฏหมายและงานสภาอีกหลายท่าน

ร่างกฏหมายบอกว่าเมื่อผู้กระทำความผิดยอมรับแล้วว่าทำผิดและจะถูกปรับเป็นพินัย แต่จำเลยเองเป็นคนยากจนเหลือทนทาน ร่างกฎหมายบอกต่อไปทำนองว่าให้จำเลยร้องขอต่อศาลเพื่อขอลดค่าปรับ หรือขอไปทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะแทนก็ได้

(คำว่ายากจนเหลือทนทานนี้ก็ถูกเปลี่ยนเข้ามาแทนคำว่ายากจนแสนสาหัส โดยคณะกรรมาธิการนี้เช่นกันในสัปดาห์ก่อน เพราะสมาชิกในกรรมาธิการเห็นว่าเพื่อให้สอดคล้องและเป็นคำที่ประมวลกฏหมายอาญาก็ใช้อยู่แล้ว  เป็นคำที่ปรากฏในพระราชบัญญัติอื่นเช่นกฏหมายต่อต้านการค้ามนุษย์อยู่แล้ว  ดังนั้น เพื่อให้การตีความคำในกฏหมายไทยไม่ซับซ้อนลักลั่นกัน จึงให้แก้ไขคำจากคำว่า ยากจนข้นแค้น มาเป็นยากจนเหลือทนทานแทน : ท่านที่สนใจประเด็นนี้สามารถค้นอ่านจากข้อเขียนของท่านคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นกรรมาธิการที่มีบทบาทสำคัญอีกท่านในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้)

แต่คำนี้จะผ่านที่ประชุมรัฐสภาในวาระสามหรือไม่คงต้องรอถึงตอนนั้นอีกที

ประเด็นในบทความที่ผมบันทึกไว้คราวนี้  มาจาก การที่ร่างกฎหมายกำหนดเอาว่าให้ผู้กระทำความผิดที่เป็นคนยากจนเหลือทนทานที่ว่า ยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้พิจารณาสั่งลดอัตราค่าปรับหรือให้ไปทำงานสาธารณะประโยชน์ชดใช้แทนก็ได้

ซึ่งแปลว่าคนยากจนเหลือทนทานนี้ต้องร้องและยื่นเรื่องต่อศาลเอาเอง

ตรงนี้แหละ ที่ผมเห็นว่าน่าจะขอปรับแก้ให้ยืดหยุ่นเป็นมิตรแก่จำเลยผู้ยากจนเหลือทนทานเหล่านี้ให้มากขึ้นได้สิน่า

คนเราจะยากจนเหลือทนทานได้นั้นส่วนมากก็ด้วยสาเหตุด้านโครงสร้าง สาเหตุขาดโอกาส ขาดการศึกษา ขาดทักษะที่จำเป็นในการหางานทำ ขาดทรัพย์สินที่จะเริ่มต้นชีวิตอย่างเพียงพอ และได้ตกอยู่ในสภาพที่ใครมาตกอยู่ในภาวะเช่นนั้นก็คงจะเหลือทนได้แล้ว

แปลว่าต้องเดือดร้อนหนักกว่าความยากจนที่ข้นแค้นเสียด้วยซ้ำ และคงต้องนับว่าคงทุกข์เสียยิ่งกว่าคนยากจนแสนสาหัสเสียอีกด้วย

จึงน่าจะเป็นปกติที่คนจนเหล่านี้จะอ่อนด้อยในความรู้ อ่อนด้อยในข้อมูลและข้อกฏหมาย บางกรณีอาจมีความบกพร่องทางการอ่านเขียน การรับรู้ หรือการแสดงออกต่อคดีด้วย

การที่ร่างกฎหมายบัญญัติให้เขาต้องรู้จักรอบรู้จนจะยื่นคำร้องเอาเองนั้น

จึงน่าจะเป็นสิ่งที่เขาไม่น่าจะเข้าถึงโอกาสอย่างนั้นได้

เพราะเกินเขย่งไหว!

ดังนั้น ข้อเสนอที่ผมยกมือขออภิปรายไว้ในสัปดาห์ก่อนหน้าในห้องประชุมคณะกรรมาธิการคณะนี้จึงเกิดขึ้น และโชคดีที่ท่านประธานบวรศักดิ์ เห็นว่าเป็นประเด็น แต่เวลาการประชุมบ่ายนั้น หมดลงเสียก่อน

ท่านจึงให้บันทึกไว้

และให้นำมาพิจารณาอย่างละเอียดในรอบการประชุมในสัปดาห์นี้

ที่ประชุมรับฟังข้อเสนอของผมแล้วมีการอภิปรายทั้งเห็นพ้องและเห็นต่างอยู่เหมือนกัน

แต่เมื่อได้รับฟังกันไปพอประมาณแล้วก็สามารถได้ข้อยุติว่าควรแก้ไขให้เพิ่มอีกวรรคหนึ่งเติมขึ้นมา โดยฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยเสนอข้อความมาให้เพิ่มเป็นวรรคใหม่ และให้เอาหลักนี้ไปเติมใส่ในร่างมาตราอื่น ให้สอดรับกันไปด้วย

โดยวรรคใหม่ที่เติมมา บัญญัติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องมีหน้าที่ช่วยยื่นเรื่องราวความยากจนเหลือทนทานของผู้กระทำความผิดให้ศาลทราบด้วย เมื่อความปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่เจ้าหน้าที่

ไม่ใช่แม้เจ้าหน้าที่รัฐรู้ว่าผู้กระทำความผิดยากจนเหลือทนทานแล้วก็อาจจะยื่นมือช่วยหรือไม่ช่วยทำความให้ประจักษ์แก่ศาลก็ได้

ดังนั้น เมื่อไปบวกกับความในวรรคถัดๆไปของร่างมาตรานี้ ซึ่งบัญญัติทำนองว่า เมื่อความประจักษ์แก่ศาลในตอนหนึ่งตอนใด ให้ศาลมีอำนาจสั่งลดอัตราค่าปรับ งดการปรับหรือจะสั่งให้จำเลยไปทำงานสาธารณะประโยชน์เป็นการทดแทนค่าปรับได้เอง

ประมวลเรื่องราวที่คณะกรรมาธิการได้ร่วมกันเสนอแนะติติงในเรื่องนี้แล้วก็คงนับว่าน่าจะช่วยให้สิทธิและโอกาสของคนยากจนที่ยอมรับว่าได้ทำผิดไปด้วยสภาพที่ยากจนเหลือทนทานไม่ถูกมองข้ามหลงลืมไปง่ายๆในคดี

ส่วนศาลจะให้ลดให้งดค่าปรับหรือไม่เป็นอีกเรื่องตามดุลยพินิจของศาลท่านซึ่งมีอิสระนะครับ

หากร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยได้กลับไปถึงห้องประชุมใหญ่ของรัฐสภาอีกครั้งกลางปีนี้

เราก็คงจะสามารถกล่าวได้ว่า รัฐไทย ได้พยายามปฏิรูปกฏหมายไปได้อีกหนึ่งประเด็น ที่นอกจากจะลดความเฝือความเฟ้อของการมีโทษทางอาญาในกฏหมายหลายร้อยฉบับลงแล้ว

ยังมีบทกฏหมายที่ช่วยเอื้อโอกาสแก่คนจนผู้เป็นจำเลยซึ่งรับสารภาพที่บังเอิญได้ทำความผิดอันมิใช่เรื่องฉกรรจ์ให้ไม่ต้องตกสภาพจำเป็น  ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ ทั้งที่เขาก็ยากจนเหลือทนทานอยู่แต่เดิมแล้วเสียที

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์  :  ขั้นตอนคดีที่เป็นมิตรกว่าสำหรับจำเลยจนๆ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

สมาชิกวุฒิสภา

รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภา พิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.…

Leave a Comment