น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยปัญหาปากท้องของประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด -19 จึงได้ทยอยออกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพต่างๆ ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการยสนับสนุนให้ประชาชนรักษาวินัยการเงิน ที่อาจเกิดปัญหาได้ในช่วงที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีนโยบายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือประชาชนเต็มที่ โดยเฉพาะการดูแลไม่ให้เกิดปัญหาข้อมูลเครดิต การผิดนัดชำระ จนกระทบต่อการประกอบอาชีพในระยะยาว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ประสานความร่วมมือกับผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อกว่า 22 แห่ง จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งรัฐบาลขอเชิญชวนให้ผู้กำลังประสบปัญหาเข้าร่วม
ทั้งนี้ มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มีข้อเสนอผ่อนปรนสำหรับลูกหนี้ 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 กลุ่มลูกหนี้ NPL ที่มีคำพิพากษาและเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีแล้ว มีข้อเสนอให้ชำระเฉพาะเงินต้น ไม่มีดอกเบี้ย โดยมีการวางกรอบการชำระหนี้ไว้ 3 ระยะ คือภายใน 3 เดือน ภายใน 3 ปี และภายใน 5 ปี หากชำระได้ตามแผนก็จะยกดอกเบี้ยให้ลูกหนี้
กลุ่มที่ 2 ลูกหนี้ NPLที่ยังไม่ถูกฟ้องร้อง หรือถูกฟ้องแล้ว เมื่อสมัครเข้าร่วมมหกรรมฯ จะมีการรับเรื่องเข้าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ของศาล พร้อมกันนี้ ยังมีข้อเสนอผ่อนชำระ ระยะยาว เช่น ภายใน 10 ปี เป็นต้น
กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ขาดสภาพคล้องชั่วคราว ค้างชำระเกิน 3 เดือน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย จะช่วยแปรสภาพหนี้เป็นระยะยาว คิดดอกเบี้ยในอัตราที่ลดลง
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ประชาชนที่มีปัญหาด้านการชำระหนี้ สามารถเข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ฯ ด้วยการลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 14 ก.พ. ถึง 14 เม.ย. ทางเว็บไซต์ของสำนักงานศาลยุติธรรม กรมบังคับคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย และศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ซึ่งภายหลังการลงทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับภายใน 1 สัปดาห์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1213
“รัฐบาลขอเชิญชวนประชาชนที่มีปัญหาด้านการชำระหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเข้าร่วมโครงการเพื่อเปิดให้มีการไกล่เกลี่ยหนี้ พร้อมยื่นข้อเสนอเพื่อหาทางออกร่วมกันระหว่างลูกหนี้กับสถาบันการเงิน แก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนในช่วงสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้างโดยเฉพาะมหกรรมไกล่เกลี่ยครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่ถูกบังคับคดี ยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด จะสามารถไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้แทนการยึดทรัพย์ได้ น.ส.ไตรศุลี กล่าว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าจะมีมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ฯธนาคารแห่งประเทศไทย มีหลายมาตรการที่ช่วยดูแลเครดิตให้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็น ‘ทางด่วนแก้หนี้’ สำหรับประชาชนและธุรกิจที่เป็นลูกหนี้ที่กำลังเดือดร้อน โดยจะช่วยรับเรื่องและเป็นตัวกลางในการส่งข้อมูล ติดต่อหรือเจรจากับผู้ให้บริการทางการเงินในกรณีจำเป็น และมีช่องทาง ‘คลินิกแก้หนี้’ เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ค้างชำระและเป็น NPL กับผู้ให้บริการเพียงรายเดียวหรือหลายราย รวมทั้งหนี้ที่อยู่ในกระบวนการของศาลและมีคำพิพากษาแล้ว
ช่องทางแก้ไขหนี้ ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ มีอะไรบ้างไปดูกันเลย
หากมีข้อสงสัยอย่ารอช้า‼สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โทร. 1213 ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 8.30 – 16.30 น. นะครับ
เพจเฟซบุ๊ก ธนาคารแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความระบุว่า ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ไม่ว่าจะมีสถานะเป็นหนี้ดีที่ยังผ่อนชำระปกติแต่เริ่มขาดสภาพคล่องชั่วคราว หรือหนี้ NPL ทั้งที่ยังไม่มีการฟ้อง อยู่ระหว่างฟ้อง หรือที่มีคำพิพากษาแล้ว เตรียมตัวร่วมงาน “มหกรรมออนไลน์ไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล” ระหว่างวันที่ 14 ก.พ. ถึง 14 เม.ย. 64 นี้ โดยเป็นการไกล่เกลี่ยแบบออนไลน์ที่ www.bot.or.th
โดยงานมหกรรมไกล่เกลี่ยในครั้งนี้ คือ การไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลในส่วนที่มีคำพิพากษาและถูกบังคับคดีแล้ว ซึ่งไม่สามารถเข้าคลินิกแก้หนี้ได้ และปกติเมื่อเรื่องดำเนินมาถึงขั้นตอนนี้เจ้าหนี้มักจะไม่ยอมเจรจา แต่ผู้ให้บริการทางการเงินจำนวน 21 แห่ง จะเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ในชั้นบังคับคดีเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกันได้อีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งข้อเสนอที่ลูกหนี้จะได้รับในงานนี้จะมีความผ่อนปรนตามแนวทางของคลินิกแก้หนี้ เช่น ลูกหนี้จะผ่อนชำระเฉพาะเงินต้นเท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยที่ค้างถ้ามีจะยกให้ ถ้าลูกหนี้จ่ายชำระตามแผนได้สำเร็จ และที่สำคัญจะมีระยะเวลาผ่อนชำระยาวถึง 5 ปี ซึ่งจะทำให้ค่างวดที่ลูกหนี้ต้องจ่ายไม่สูงนักและอยู่ในวิสัยที่ชำระได้
ขอแนะนำให้ศึกษาแนวทางกรอกข้อมูลอย่างละเอียด ตรวจเช็กไม่ให้ผิดพลาด เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว
หากต้องการความช่วยเหลือหรือคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โทร 1213 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น. กรณีนอกเวลาทำการท่านสามารถฝากชื่อและเบอร์โทรศัพท์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรืออีเมล์มาที่ [email protected] เพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ