ม.ราชภัฏลำปาง จับมือ 12 โรงงานระดับครัวเรือน ชุบชีวิตอุตสาหกรรมเซรามิก

มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางโชว์ความสำเร็จ จับมือ 12 โรงงานระดับครัวเรือน ชุบชีวิตอุตสาหกรรมเซรามิกจากพิษโควิด ด้วยการผสมผสานชุดความรู้จากงานวิจัย ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สร้างอัตลักษณ์สินค้าเชื่อมโยงเข้ากับภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น นำร่องด้วยผลิตภัณฑ์เซรามิก “ระฆังอธิษฐาน”  สร้างรายได้ให้ครัวเรือนและชุมชน เฉียด 1 ล้านบาท

    รศ.ธิติมา คุณยศยิ่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง หัวหน้าโครงการจัดการทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อรักษาคุณค่าสู่การยกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจของเซรามิก จ.ลำปาง  เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมระดับครัวเรือน ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลำปาง และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของลำปาง ถูกกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิดในช่วงที่ผ่านมา กระทั่งมีผู้ประกอบการจำนวนมากต้องเลิกกิจการไป ส่งผลให้ผลผลิตหดหายไปกว่าร้อยละ 33 การจ้างงานลดลงไปกว่าร้อยละ 28 กำลังได้รับการฟื้นฟูให้กลับคืนสู่ความมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง ด้วยการประสานความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง กับโรงงานเซรามิกระดับครัวเรือน 12 แห่ง โดยการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

จากปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างหนักกับกับอุตสาหกรรมเซรามิกในจังหวัดลำปาง กระทบกับการจ้างงาน และเศรษฐกิจภาพรวมของจังหวัด ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยใช้องค์ความรู้และการวิจัยอย่างเป็นระบบ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ให้เป็นหน่วยงานหลักในการระดมความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชนและชุมชน ร่วมกับคณาจารย์ นักวิชาการ ที่มีองค์ความรู้เกี่ยวข้องกับการจัดการทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่น อุตสาหกรรมเซรามิก และการจัดการทางการตลาดเพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น  

    กระบวนการฟื้นฟูอุตสาหกรรมเซรามิกลำปาง เริ่มจากการสังเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้าน แล้วนำมาวิเคราะห์ออกแบบแผนการทำงานเพื่อความอยู่รอดของโรงงานเซรามิก ระดับครัวเรือน ภายใต้แนวความคิดที่ตกผลึกร่วมกันระหว่างทีมวิจัย และผู้ประกอบการ คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ความหลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด  รวมทั้งการนำอัตลักษณ์ทุนทางวัฒนธรรมล้านนาจังหวัดลำปาง เช่น ลวดลายของวัดพระธาตุลำปางหลวง จิตรกรรมฝาผนัง หรือการละเล่นของจังหวัดลำปาง มาใช้ในการออกแบบสร้างสรรค์และผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิก  เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า  

    นอกจากนั้นยังพบว่า มีความจำเป็นที่จะต้องมีการหาตลาดให้กว้างขึ้น เพราะบางโรงงานเคยขายของให้กับผู้ค้ารายใหญ่ไม่กี่ราย เมื่อขาดออเดอร์ทำให้ได้รับผลกระทบมาก อย่างไรก็ตามหากจะปรับเปลี่ยนมาขายสินค้าออนไลน์ก็จำเป็นต้องปรับปรุงสินค้าให้ทันความต้องการของลูกค้า  และต้องมีการทำผลิตภัณฑ์งานเคลือบ งานอาร์ต และเล่นสีสันให้มีความทันสมัย  

ทั้งนี้ในการออกแบบลวดลายผลิตภัณฑ์เซรามิกให้ได้รับความสนใจจากผู้ซื้อมากขึ้นคณะผู้วิจัยได้ทำงานร่วมกับโรงงานเซรามิกที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 12 แห่งเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ และลวดลายขึ้นใหม่โดยอ้างอิงจากอัตลักษณ์ทุนทางวัฒนธรรมล้านนาจังหวัดลำปางที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม ทำให้ได้สินค้าใหม่ และเป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกันของแต่ละโรงงาน โดยโรงงานบ้านปั้นแต่งดินเผา พัฒนาผลงานกระถางปลูกต้นไม้เซรามิก จากแนวความคิด ลายคำล้านนา โรงงานเสมียนเซรามิก พัฒนาผลงานระฆังเซรามิก จากแนวความคิด ลายคำจั๋งโก๋  โรงงานฆ้อนทองเซรามิก พัฒนาผลงานกระถางเซรามิก สำหรับปลูกต้นไม้ขนาดเล็ก โรงงานพัชธิดาเซรามิก พัฒนาผลงานจานเซรามิก จากแนวความคิดดาวเพดาน

     โรงงานบ้านปั้นจันทร์พัฒนาผลงานชุดกรวดน้ำเซรามิก  โรงงาน ก.เซรามิก พัฒนาผลงานกระถางปลูกต้นไม้จากแนวความคิด นาคทัณฑ์หรือคันทวย  โรงงานสร้อยทิพย์เซรามิก พัฒนาผลงานแจกันเซรามิก จากแนวความคิดการจำลองรูปทรงน้ำต้น  โรงงานประภาสิทธิ์เซรามิก พัฒนาผลงานผลิตภัณฑ์ชุดสปาเชรามิก จากแนวความคิดลายเตาเมืองวัง  โรงงานลีลามิค พัฒนาผลงานแจกันเซรามิก จากแนวความคิดการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ โรงงานมณีเซรามิก พัฒนาผลงานเครื่องประดับเซรามิก จากแนวความคิดลายคำล้านนาโรงงานปั้นงานเซรามิก พัฒนาผลงานผลิตภัณฑ์จาน และเขียงเซรามิก และโรงงานนกเซรามิก พัฒนาผลงานกระถางปลูกต้นไม้เซรามิกจากแนวความคิดลวดลายปูนปั้น 

    รศ.ธิติมากล่าวด้วยว่า ในการวิจัยในปี 2564 คณะผู้วิจัยได้ทดลองสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าเซรามิก โดยผลิตจากดินขาวลำปางในรูปแบบระฆังและความเป็นสิริมงคล เพื่อทดสอบความสนใจของตลาดผ่านการจัดกิจกรรมพิเศษทางการตลาด โดยมุ่งการสื่อสารเรื่องอัตลักษณ์ทุนทางวัฒนธรรมล้านนาลำปาง เมืองเซรามิก ผ่านแนวคิด “ระฆังอธิษฐาน” ด้วยกิจกรรมพิเศษทางการตลาดที่ผู้วิจัยได้จัดขึ้น ภายใต้ความร่วมมือกับเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยพระฌาน อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง 

    “ในการทำกิจกรรมระฆังอธิษฐาน คณะผู้วิจัยได้ประสานงานกับเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยพระฌาน อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง  โดยจัดสถานที่และจุดแขวนระฆังที่ออกแบบและผลิตโดยผู้ประกอบการเซรามิกระดับครัวเรือน โดยออกแบบจุดแขวนระฆังให้เข้ากับบรรยากาศของวัดดอยพระฌาณ มีจุดจำหน่ายระฆังที่ผู้บริโภคที่สนใจแขวนระฆัง สามารถเลือกได้ตามความต้องการ มีสถานที่แขวนระฆังเพื่อขอพรพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ที่ประดิษฐานอยู่บนยอดเขา การสร้างกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์สามารถสร้างห่วงโซ่ที่เข้มแข็ง และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับโรงงาน และชุมชนรอบข้างได้ เช่น ผู้ประกอบการเซรามิกระดับครัวเรือนได้รับคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง ชุมชนรอบวัด หรือใกล้เคียง และวัดเกิดรายได้ “

ทั้งนี้คณะนักวิจัยได้จัดเก็บข้อมูล ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จากการวิจัยใน 1 ปีในช่วงปี 2564 มีผู้เกี่ยวข้องได้ประโยชน์จากโครงการวิจัย เป็นมูลค่ารวมกว่า 900,000 บาท โดยมีผู้ได้ผลประโยชน์ 6 กลุ่ม ได้แก่ วัด ชุมชนโดยรอบ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ผู้ประกอบการเซรามิกระดับครัวเรือน มีรายได้เพิ่มขึ้น จากการจำหน่ายระฆังเซรามิก 199,000 บาท 

    วัดพระธาตุดอยพระฌานมีรายได้เข้าวัด จากการจำหน่ายระฆังเซรามิกให้กับผู้มีจิตศรัทธา และนักท่องเที่ยว ฯลฯ 199,000 บาท พนักงานจำหน่ายที่จำหน่ายระฆังอธิษฐาน เป็นผู้ได้รับเงินจากการจ้างงาน 45,000 บาท ส่วนผู้ให้บริการรถรับ – ส่ง ได้รับรายได้เพิ่มขึ้น 50,000 บาท  ร้านกาแฟและร้านจำหน่าย ของที่ระลึกภายในวัดถือเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ทางอ้อม ในด้านรายได้และการจ้างงานจาก จากจำนวนของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น 35,000 บาท ส่วน ร้านกาแฟและร้านอาหาร ภายในชุมชน ได้รายได้จากจำนวนของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น 25,000 บาท

    “กิจกรรมระฆังอธิษฐาน ได้แนวคิด และแรงบันดาลใจ มาจากพระไดบุทสึที่ ประเทศญี่ปุ่น ที่เจ้าอาวาสได้ร่วมกับลูก ศิษย์และผู้เลื่อมใสศรัทธาสร้างองค์พระขึ้นมา ประกอบกับวัดดอยพระฌานแห่งนี้ มีความงดงาม ตามธรรมชาติ ที่ตั้งวัดอยู่บนดอยที่มีอากาศดี สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์เมืองลำปางได้ 360 องศา จึงเหมาะสมที่จะสร้างกิจกรรมนี้ขึ้นมาและได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี” 

    ส่วนในปี 2565 ทีมวิจัยเตรียมที่จะเสนอโครงการต่อเนื่องเพื่อขอทุนสนับสนุนจาก บพท.เพื่อทำโครงการในการพัฒนาย่านวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นในจ.ลำปางเพื่อให้สามารถผลิตสินค้าจากท้องถิ่นที่มีความหลากหลาย เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และพัฒนาช่องทางการทางการตลาดในการจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการในจังหวัดลำปางเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมเซรามิกในจังหวัดให้ฟื้นตัวและมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นในอนาคต  

ฮอนด้า แอคคอร์ด

ที่สุดแห่งเทคโนโลยีการขับเคลื่อนระดับพรีเมียม