คุณหญิงกัลยา เตรียมลงนามความร่วมมือ 3 ฝ่าย อาชีวศึกษา-สทนช.- มูลนิธินโยบายสาธารณะไทย พัฒนาองค์ความรู้บริหารจัดการน้ำ ขยายผลชลกรสู่ชุมชนทั่วประเทศ
กระทรวงศึกษาธิการเตรียมลงนามความร่วมมือ 3 ฝ่าย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย พัฒนาองค์ความรู้ด้านบริหารทรัพยากรน้ำ เพื่อบูรณาการสร้างการเรียนรู้ของชุมชน นำโดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ เพื่อยกระดับศักยภาพและองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ขยายผลชลกรสู่ชุมชนทั่วประเทศ พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และนายโชติ โสภณพนิช ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย
นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) กล่าวว่า ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เตรียมจัดให้มีพิธีลงนามทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือการพัฒนาองค์ความรู้ด้านบริหารทรัพยากรน้ำ เพื่อบูรณาการสร้างการเรียนรู้ของชุมชน ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และ มูลนิธินโยบายสาธารณะไทย ในวันอังคารที่ 18 ตุลาคม 2565 ระหว่างเวลา 13.30-15.00 น. ณ ห้องราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ และงานนี้ได้รับเกียรติจาก พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยาน และมอบนโยบายของรัฐบาลด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
นางดรุณวรรณ กล่าวต่อว่า กระทรวงศึกษาธิการ โดยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ได้มีการขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เพื่อสนับสนุนและขยายองค์ความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำในระดับสากลสู่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเกิดเป็นหลักสูตร “ชลกร” เปิดสอนในระดับ ปวส. โดยปัจจุบันเปิดการเรียนการสอนเป็นรุ่นที่ 2 แล้ว ซึ่งการจะขยายผลสู่ชุมชนในวงกว้างได้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยการลงนามความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญที่จะเกิดประโยชน์อย่างมากทั้งในด้านการศึกษา สังคม และเกษตรกรรม
ด้าน ดร.ปริเวท วรรณโกวิท ผู้จัดการโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน กล่าวว่าภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือสนับสนุนการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารทรัพยากรน้ำ เพื่อบูรณาการสร้างการเรียนรู้ของชุมชน แก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการสร้างศักยภาพ การผลิตชลกรและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ท้องถิ่นและคณะกรรมการลุ่มน้ำสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยชุมชนอย่างยั่งยืน