ป.ป.ช. ลุยตรวจโครงการอนุรักษ์ป่าชายเลนฯ อบจ.สมุทรปราการ พบเบิกจ่ายล่วงหน้าให้ผู้รับเหมาแล้ว 2 ปี กว่า 1.4 พันล้านบาท แต่ยังไม่ติดตั้งตามสัญญา
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสมุทรปราการ ลงพื้นที่ไปยัง อบจ.สมุทรปราการ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงประเด็นการร้องเรียนเรื่อง “โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนจังหวัดสมุทรปราการโดยใช้นวัตกรรมโกงกางเทียมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ” ไม่ได้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไม่มีการขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
มีการเบิกจ่ายเงินล่วงหน้าให้ผู้รับเหมาไปแล้วกว่า 1,400 ล้านบาท แต่ไม่มีการนำโกงกางเทียมไปติดตั้งตามที่ระบุไว้ในสัญญา ตลอดจนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโกงกางเทียมด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากถูกปลดจากบัญชีนวัตกรรมแล้ว
จากการสอบถามข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่ อบจ.สมุทรปราการ ได้ชี้แจงถึงสภาพปัญหาที่นำมาสู่โครงการดังกล่าวว่าในพื้นที่ อ.บางบ่อ อ.บางปู อ.เมืองสมุทรปราการ ถึง อ.พระสมุทรเจดีย์ มีการกัดเซาะชายฝั่งมากกว่า 50 เมตร ในระยะเวลา 10 ปี ดังเห็นได้จากวัดขุนสมุทรจีนที่มีการกัดเซาะชายฝั่งเข้าไปจนลึกมาก
ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา แต่ยังพบว่าปัญหายังคงมีอยู่และมากขึ้น มีการนำเขื่อนไม้ไผ่มาปักแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ประกอบกับมีหน่วยงานร้องขอมาที่ อบจ.สมุทรปราการให้แก้ไข
ซึ่ง อบจ.สมุทรปราการ ได้ศึกษาผลงานวิจัยพบว่าการปลูกต้นไม้ไม้จริง ยังคงเกิดปัญหาคลื่นซัดชายฝั่งเนื่องจากต้นไม้ที่ปลูกในระยะแรกยังไม่หยั่งรากลึกจะเจอกับปัญหารากลอยและเป็นปัญหาซ้ำซาก การใช้ไม้ไผ่ปักไม่ก่อให้เกิดตะกอนดินที่จะเกิดเป็นพื้นดินได้ โดยโกงกางเทียมซึ่งทำจากยางสังเคราะห์ มีความทนทานต่อการกัดเซาะ สามารถดักตะกอนดินและเพิ่มพื้นดินได้ เมื่อเพิ่มพื้นดินแล้วจะมีการขยายไปปักในจุดอื่นๆ ที่พบปัญหาต่อไป
สำหรับประเด็นที่มีการร้องเรียนดังกล่าว อบจ.สมุทรปราการ ได้ชี้แจงรายละเอียดดังนี้ 1.การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อบจ.สมุทรปราการได้ชี้แจงว่า ได้มีหนังสือหารือไปที่สำนักนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเรื่องการจัดทำ EIA โดยสำนักนโยบายฯ ได้มีความเห็นว่าโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนจังหวัดสมุทรปราการโดยใช้นวัตกรรมโกงกางเทียมนั้น ไม่ใช่โครงการในลักษณะการก่อสร้างเขื่อน จึงไม่ต้องทำการศึกษา EIA ซึ่งการจัดทำ EIA จะมีข้อกำหนดที่แน่ชัดว่าโครงการลักษณะใด ขนาดใดบ้างที่ต้องจัดทำ EIA
2.การขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อบจ.สมุทรปราการได้ชี้แจงว่า จุดเริ่มแรกที่ อบจ.สมุทรปราการ วางแผนดำเนินการปักโกงกางเทียมคือบริเวณสถานตากอากาศบางปู โดยได้จัดทำหนังสือขออนุญาตไปยังกรมพลาธิการทหารบกเพื่อขออนุญาตจัดวางโกงกางเทียม
ซึ่งกรมพลาธิการทหารบกได้มีหนังสือตอบอนุญาตให้ อบจ.สมุทรปราการ สามารถดำเนินการได้ และได้มีหนังสือไปยังกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขออนุญาตและขอให้ตรวจสอบว่าพื้นที่ที่มีการติดตั้งโกงกางเทียมเป็นพื้นที่ป่าชายเลนหรือไม่
โดยกรมทรัพยากรฯ ได้มีความเห็นว่าพื้นที่ที่มีการติดตั้งโกงกางเทียมไม่ใช่พื้นที่ป่าชายเลน อบจ.สมุทรปราการสามารถดำเนินการได้ สำหรับกรมเจ้าท่านั้นทาง อบจ.สมุทรปราการ ได้มีหนังสือขออนุญาตด้วยเช่นกัน แต่ในขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นเอกสารเพิ่มเติม
3.การเบิกจ่ายเงินล่วงหน้าให้ผู้รับเหมาไปแล้วกว่า 1,400 ล้านบาท แต่ไม่มีการนำโกงกางเทียมไปติดตั้งตามที่ระบุไว้ในสัญญา อบจ.สมุทรปราการได้ชี้แจงว่า การจ่ายเงินให้กับผู้รับจ้างมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นการส่งมอบพัสดุโกงกางเทียมตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญา งบประมาณทั้งสิ้น 1,045,000,000 บาท
มีการเบิกจ่ายเงินไปแล้ว 66% ยังเหลืออีกประมาณ 351,000,000 บาท ที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายเนื่องจากผู้รับจ้างยังส่งมอบพัสดุไม่ครบถ้วนตามสัญญา ราคาที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง คือ 14,750 บาท/ชุด และส่วนที่ 2 คือ เป็นส่วนที่ให้ผู้รับจ้างดำเนินการปักเสาโกงกางเทียมในพื้นที่ที่กำหนดในสัญญา ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการเบิกจ่ายเนื่องจากยังไม่ได้ดำเนินการติดตั้งเนื่องจากรอการอนุญาตจากกรมเจ้าท่า
4.กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโกงกางเทียมด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากถูกปลดจากบัญชีนวัตกรรมแล้วนั้น อบจ.สมุทรปราการได้ชี้แจงว่า อบจ.สมุทรปราการ มีการจัดซื้อจัดจ้างใช้วิธีเฉพาะเจาะจงตามระเบียบกระทรวงการคลัง สำหรับการขึ้นบัญชีนวัตกรรมนั้นไม้โกงกางเทียมได้มีการประกาศเป็นนวัตกรรมและขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยปี พ.ศ. 2560-2564 และมีการต่ออายุบัญชีนวัตกรรมไทยเป็นปี พ.ศ. 2564-2568
โดยบริษัท อาร์โต้ เอ็นจิเนียร์ จำกัด เป็นบริษัทยื่นขอจดบัญชีนวัตกรรมไทยเพียงรายเดียว ซึ่งรหัสนวัตกรรม คือ 01010006 ทั้งนี้ พัสดุโกงกางเทียมที่ได้รับมอบมาแล้วนั้น ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่สถานที่ของเอกชนบริเวณฝั่งตรงข้ามวัดราษฎร์บำรุง ถนนสุขุมวิท ต.บางปู อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ โดยผู้รับจ้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา
จากนั้นได้เดินทางไปยังสถานที่จัดเก็บโกงกางเทียม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนสุขุมวิท ต.บางปู อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ โดยผู้รับจ้างได้ทำการเช่าที่ดินเอกชนเป็นสถานที่จัดเก็บโกงกางเทียม พบว่าสถานที่จัดเก็บมีลักษณะเป็นลานกว้าง มีการกางเต็นท์ปกคลุมพัสดุบางส่วนและมีรั้วสังกะสีล้อมรอบบางส่วน ซึ่งลานที่จัดเก็บมี 2 จุดแต่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน
ขณะเดินทางไปถึงสถานที่จัดเก็บพบว่ามีกลุ่มคนงานกำลังกางเต็นท์ในบริเวณพื้นที่จัดเก็บ พบกองพัสดุโกงกางเทียมจำนวนมาก มีทั้งที่เป็นเสายาวประมาณ 2 เมตร และพัสดุคล้ายรากไม้มัดเป็นกลุ่มๆ กองไว้ที่พื้นปูนซีเมนต์
ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการสาธิตการประกอบโกงกางเทียมให้คณะเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสมุทรปราการพิจารณาเบื้องต้น โดยมีพัสดุคล้ายรากไม้เกาะติดล้อมเสายาวสีดำ และใช้ส่วนที่ไม่มีพัสดุคล้ายรากไม้ปักลงไปในพื้นดิน ในส่วนของการดูแลสถานที่จัดเก็บผู้รับจ้างชี้แจงว่าได้มีการจัดเวลายามดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสมุทรปราการ ได้ให้ข้อสังเกตเรื่องของความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการว่าจะเกิดผลประโยชน์มากน้อยเพียงใด และโกงกางเทียมที่ได้รับการส่งมอบจากผู้รับจ้างได้มีการบันทึกหรือทำทะเบียนไว้หรือไม่ เพื่อป้องกันการสูญหาย
รวมถึงการนำโกงกางเทียมมากองไว้โดยไม่ได้ดำเนินการติดตั้งเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี เนื่องจากติดขัดเรื่องการขออนุญาตจากกรมเจ้าท่านั้นเป็นเวลานานแล้วหรือยัง สาเหตุที่ล่าช้าเพราะอะไร ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสมุทรปราการ ได้ขอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าวเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป