ถ้ามีใครถามว่า อำเภออะไรที่อยู่ไกลศาลากลางจังหวัดมากที่สุด คงมีน้อยคนจะทราบว่า อุ้มผางเป็นที่หนึ่งเลยครับ นายอำเภออุ้มผางจะต้องใช้เวลาขับรถผ่านทางคดเคี้ยวในเทือกเขาถนนธงชัยไปให้ถึงศาลากลางจังหวัดที่อำเภอเมือง จังหวัดตาก ใช้เวลาราว 6 ชั่วโมง!!
โดยต้องเผอิญไม่มีใครต้อนฝูงสัตว์มาขวางทางนะครับ
อีกความเป็นที่สุดก็คงเป็นขนาดของพื้นที่ดินอำเภอ ที่เป็นแชมป์ของประเทศไทยอีกเช่นกัน เพราะพื้นที่อำเภออุ้มผางมีขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับอำเภอใดๆในไทย
ถ้าถามเล่นๆ เป็นความรู้รอบตัวแล้วจบ
ก็คงผ่านไป แต่ผมสะกิดใจว่า แล้วข้อเท็จจริงนี้บอกใบ้อะไรเราอีก
และจะควรคิดแก้ไขปรับปรุงอย่างไรได้หรือไม่
ไซส์ของอำเภอในไทยที่ใหญ่ใกล้เคียงไล่หลังอำเภออุ้มผางมา ล้วนอยู่ในเขตติดต่อทางการปกครองไล่ๆกันลงมาตามแนวป่าตะวันตกของประเทศ เช่นอำเภอทองผาภูมิ อำเภอสังขละบุรี อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอไทรโยค ที่จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี อำเภอสามเงา จังหวัดตาก อำเภอแก่งกระจาน เพชรบุรี อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
แปลว่าแนวชายแดนไทยฝั่งตะวันตก ที่มีเทือกเขาถนนธงชัยและเทือกเขาตระนาวศรีกั้นพรมแดนธรรมชาติกับพม่านั้น ล้วนเป็นอำเภอขนาดมหึมา ประชากรถิ่นมีเบาบาง และการเดินทางระหว่างกันเองจะยากลำบาก การเดินทางเข้าศูนย์อำนาจการบริหารราชการภูมิภาคคือไปศาลากลางต้องใช้เวลานาน และเส้นทางมีความจำกัด
ส่วนการบริหารวิธีการเดินทางเข้ากรุงเทพไปประชุมที่เมืองหลวงยิ่งใช้นานกว่าอำเภออื่นๆ ทั้งที่ถ้าเอาวงเวียนมากางวัดระยะทาง ส่วนใหญ่จะพบว่าอำเภอเหล่านี้ ไม่ไกลจากคลื่นวิทยุจากกรุงเทพด้วยซ้ำ
แต่ด้วยภูมิประเทศของอำเภอ ขนาดของอำเภอ ทำให้กว่าจะเดินทางพ้นเขตอำเภอตัวเองและอำเภอที่ต้องแล่นผ่านมาเข้าสู่เส้นเมน เพื่อเข้าถึงศาลกลางหรือเมืองหลวง ก็ลิ้นห้อยพอดี
นี่ว่าเฉพาะขาออก ยังต้องใช้เวลาพอๆกันในการเดินทางกลับให้ถึงที่บ้านอีก
แต่แทบทุกอำเภอข้างต้นติดหรือใกล้จะติดชายแดนไทยพม่า
อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเรื่องคนต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง ไม่ได้ฝากอยู่ที่ท้องถิ่น ไม่ว่าจะเทศบาลหรืออบต. แต่ฝากที่นายอำเภอ
ดังนั้นนับว่านายอำเภอและโรงพยาบาลตามอำเภอชายแดนเหล่านี้ มีภารกิจที่ท้าทายยิ่ง
แต่กฎหมายและระเบียบราชการไทย ไม่เขียนข้อยกเว้นอะไรกับพื้นที่เหล่านี้ และปฏิบัติเป็นอย่างเดียวกันกับระเบียบที่ใช้ในสมุทรปราการ นนทบุรี หรือปทุมธานี
แค่เจอคำสั่งเวียนให้ทุกอำเภอเข้ามาประชุมร่วม หรือมาต้อนรับผู้บริหาร หรือมาร่วมงานประเพณีที่ศาลากลางจังหวัด ก็หมดวันสองวันไปได้ง่ายๆ ยิ่งถ้ามาแล้วถือโอกาสเอางานอื่นด้วย ก็อาจจะต้องค้างแรมอีกหนึ่งหรือสองวัน แปลว่าย่อมต้องอาศัยมือรองหรือผู้ช่วยในอำเภอช่วยรักษาการหรือปฏิบัติการแทนไปนานวันกว่าที่นนทบุรี ปทุมธานีหรือกรุงเทพล่ะ
ความใกล้ชิดติดพื้นที่ระหว่างราษฏรกับหัวหน้าหน่วยผู้บริหารราชการของพื้นที่แบบนี้จึงน่าพิจารณาความอ่อนไหวให้เขาให้ดี
ผมมีโอกาสสอบถามอดีตปลัดมหาดไทยทราบว่า มีประเพณีปฏิบัติที่อะลุ้มอล่วยให้เขตห่างไกลเหล่านี้เหมือนกัน แต่ไม่มีเขียนกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
โควิดทำให้การประชุมทางไกลกลายเป็นทางออก การงด ลดงานรวมตัวกลายเป็นทางเลือกใหม่ ผมก็หวังว่าพื้นที่ไกลปืนเที่ยงอย่างนี้จะได้รับความเข้าใจและการสนับสนุนจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้ดีขึ้นได้อีก
ผมขอกลับมาโฟกัสที่อำเภออุ้มผางกันต่อ
เรารู้ละ ว่าอุ้มผางนั้นมีขนาดพื้นที่ใหญ่สุด เดินทางยากเย็น และอยู่ไกลที่สุดจากศูนย์อำนาจ และอยู่ประชิดชายแดนประเทศเพื่อนบ้านที่มีประชากรต่อพื้นที่ที่หนาแน่นกว่า
และพื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภออุ้มผางเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง
และอุ้มผางเป็นอำเภอที่ตั้งของน้ำตก ทีลอซู น้ำตกที่ใหญ่ที่สุดของไทย
แบบเรียนหนังสือของไทยบอกให้นักเรียนไทยรู้จักชื่อน้ำตกทีลอซู กันมานานนม ผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่จำชื่ออุ้มผาง และทีลอซูได้มาตั้งแต่เรียนมัธยมต้น
ทีลอซู จึงเป็นหนึ่งใน bucket list ของคนไทยจำนวนมาก ที่ใฝ่ฝันไว้ว่าอยากจะไปเห็นสักหน ภาษาฝรั่งให้ความหมาย bucket list ว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ชีวิตพึงได้ไปเห็นสักครั้งก่อนจะบ๋ายบาย…จากโลกใบนี้ไป
อนึ่ง น้ำตกทีลอซู ไม่ได้อยู่ในอุทยานแห่งชาตินะครับ แต่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง คืออยู่ในผืนป่าหวงห้ามที่มีขนาดใหญ่ถึง 1.6 ล้านไร่!!
ใหญ่ไล่ๆกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งอยู่ติดๆกัน
ในขณะที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่เหลืออีกห้าสิบกว่าแห่งทั่วไทยจะมีขนาดเล็กกว่าไซส์ใหญ่ 3 บิ้คนี้หลายๆเท่าตัว
ดังนั้นเมื่อรวม3บิ้คนี้กัน ที่นี่จึงเป็นผืนป่าที่ไม่ค่อยถูกรบกวนผืนใหญ่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แล้วของประเทศไทย
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้น นับว่ามีข้อห้ามตามกฏหมายที่เคร่งครัดยิ่งกว่าเขตห้ามล่าสัตว์ป่า และเข้มงวดกว่าเขตอุทยานแห่งชาติ
ส่วนเขตอุทยานแห่งชาติก็เข้มงวดห้ามนั่นห้ามนี่ยิ่งกว่า เขตป่าสงวน และเขตป่าไม้ทั่วๆไป
เป็นอันว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า คือเขตป่าที่เข้มงวดสุดของที่สุดในระบบกฏหมายป่าไม้ของไทยแล้วล่ะ
แม้ชายขอบของเขตอำเภออุ้มผางจะติดกับเขตอำเภอทองผาภูมิของจังหวัดกาญจนบุรี แต่สองอำเภอนี้ก็ไม่มีถนนที่เชื่อมกัน เพราะมีผืนป่าขนาดใหญ่และภูเขาอีกเป็นเทือกใหญ่ๆหลายๆเทือกขวางเอาไว้
การคมนาคมเข้าหรือกลับออกจากอำเภออุ้มผาง จึงถูกออกแบบไว้ให้มีทางเดียว คือต้องแล่นรถจากอำเภอแม่สอด เลาะไปตามเทือกเขาสูงชันเป็นเวลา เกือบ4 ชั่วโมง
ไม่มีปั้มน้ำมันระหว่างเส้นทางในภูเขา คนขับรถต้องคำนวณให้ดี
นับเป็นเสมือนซอยตัน ที่เข้าลึกที่สุดในแผ่นดินสยามแล้ว
ทั้งนี้ก็เพื่อจะพยายามรักษาความสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพของป่าตะวันตกของไทยเอาไว้ให้ได้ ทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ป่า
ทางการเคยมีความจำเป็นต้องเริ่มเร่งตัดถนนจากกำแพงเพชรเพื่อหมายจะทำทางลัดทะลุเข้าถึงอำเภออุ้มผางในช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไปอาศัยใช้อุ้มผางเป็นฐานปฏิบัติการ เพื่อจะได้จัดกำลังทหารเข้าปราบปราม แต่เมื่อนโยบายการเมืองนำการทหารในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี สามารถออกแนวทาง เปลี่ยนผู้เห็นต่างทางอุดมการณ์การเมืองมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เกิดการวางอาวุธรบ และนิรโทษกรรมความผิดอย่างเป็นทางการ ถนนทางลัดแต่ตัดกลางป่าสายที่ว่าซึ่งสร้างยังไม่เสร็จก็ถูกทิ้งโครงการไป การสำรวจคืนพื้นที่จากกรมทางหลวงคืนกรมอุทยานฯครั้งล่าสุด ปีที่ผ่านมา จึงพบว่าสภาพทางถนนที่ว่าแทบไม่มีอะไรเหลือแล้ว มีเพียงซากเสาคอนกรีตผุๆอยู่ที่สะพานข้ามห้วยไม่กี่แห่ง ที่เหลือต้นไม้ใหญ่เติบโตปกคลุมจนไม่มีสภาพเหลือแล้ว
ความหลากหลายทางชีวภาพในป่าผืนสำคัญนี้จึงรอดจากการถูกรบกวนจากภายนอกได้
อย่างไรก็ดี
ผมได้รับฟังข้อมูลข่าวสารตั้งแต่ปีที่แล้วว่า เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มที่อุ้มผาง ถนนถูกตัดขาดจากโลกภายนอกไปพักหนึ่ง ลำธารลำน้ำเต็มไปด้วยซากปรักวัสดุที่ดินโคลนและกระแสน้ำป่าซึ่งพัดผ่านบ้านเรือนผู้คนพาเอาสิ่งของแปลกตามาติดอยู่ตามเส้นทางน้ำผ่าน อาทิ ทีวี มอเตอร์ไซค์ โอ่งไห กะทะ ตะกร้าเข่งแม้แต่พัดลมและไหกะปิน้ำปลา
ครั้นเมื่อน้ำลดแล้วก็ปรากฏสิ่งของข้างต้นที่เสียหายกลายสภาพเป็นขยะไปติดอยู่ตามจุดต่างๆที่น้ำผ่านอีกมาก
ทางน้ำแทบทั้งหมดในอุ้มผางจะไหลมารวมกันเเล้วเคลื่อนสู่แควน้อย และแควใหญ่ในกาญจนบุรี จากที่นั่นก็ไหลต่อไปเฉียดสุพรรณบุรี ผ่านอัมพวา สมุทรสงครามออกทะเลในนามแม่น้ำแม่กลอง
ดังนั้นสายน้ำทั้งหลายที่อำเภออุ้มผางนี่แหละ คือต้นของสายน้ำ แม่กลอง
และคำว่าแม่กลองนั้นมาจากคำพ้องเสียงในภาษามอญแต่ดั้งเดิม แปลว่า ทางน้ำ คือคลอง
ดังนั้น แม่กลองจึงคือแม่คลอง
คนสยามเรียกชื่อตามๆกันมาจนเสียงเปลี่ยนเป็นแม่กลอง คนภายหลังจึงนึกว่ากลองคือกลองที่ขึงด้วยหนังสัตว์ ใช้ตีให้เสียงดัง!
อุ้มผางนั้น ก็เป็นคำพ้องเสียงที่แปลงมาจาก อุผะ อันเป็นชื่อเรียกพาชนะทรงกระบอกทำจากไม้ไผ่ มีฝาปิดครอบ มีไว้ใส่เอกสารเพื่อเดินทางไม่ให้ต้องยับเปียกเสียหายง่าย เป็นศัพท์ของเผ่าปะกากะญอ
เล่ามาถึงนี้แล้วก็จะเห็นชัดขึ้นว่ารากฐานของป่าดิบผืนใหญ่นี้มีทั้งความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่อยู่กับป่าดึกดำบรรพ์นี้มายาวนาน
ในฐานะที่ผมเป็นประธานอนุกรรมาธิการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ของวุฒิสภา เราจึงอยากไปสำรวจอุ้มผาง เพราะเป็นต้นทางของแม่น้ำสำคัญ เป็นแหล่งรวมทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายต่างๆ และถ้ามีปัญญาก็จะสังเกตปัญหาต่างๆและอาจได้ช่วยชาวบ้านบริหารขยะที่ค้างคาอยู่ในที่ต่างๆเท่าที่ยังพอจะทำได้
เป็นอันว่าอุ้มผางเป็นมากกว่าป่าต้นน้ำ แต่เป็นธนาคารของความหลากหลายทางชีวภาพที่หายากที่สุดอีกแหล่งของโลก มีการค้นพบพันธุ์พืชและสัตว์ที่ยังไม่เคยถูกบันทึกพบมาก่อน หรือเข้าใจว่าสูญพันธุ์ไปแล้วจากโลก ที่ป่าแห่งนี้อยู่เรื่อยๆ
ที่นี่จึงเป็นของมีค่ายิ่ง เพราะตำหรับยาและสารธรรมชาติตลอดจนวงจรสิ่งมีชีวิตบางชนิดในนี้นั่นแหละ ที่อาจถูกสืบค้นวิจัยกลายเป็นเวชภัณฑ์ระดับโลก
โดยรัฐประกันราคา!!
มูลค่าในอนาคต ถ้ามีสถาบันวิจัยระดับสูงของไทย ตั้งใจศึกษาพื้นที่ชีวมณฑลแห่งนี้อย่างระมัดระวัง ไทยอาจก้าวทะลุคำว่าเศรษฐกิจฐานชีวภาพและกลายเป็นชาติผู้ส่งออกเวชภัณฑ์ราคาแพง ขายเป็นหยด ไม่ใช่ใช้ที่ดินสำคัญเหล่านี้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวไว้เลี้ยงสัตว์ ที่ขายเป็นตัน แต่กลับต้องเติมยาฆ่าแมลงยาปราบศัตรูพืชลงในดิน ในป่าต้นน้ำ ทำลายวงจรดีๆที่มีค่าเหล่านนี้ไปเรื่อย แถมยังมีปล่อยไฟขยายไร่ หรือเผาตอซังหลังเก็บเกี่ยวเป็นช่วงๆ
คณะเราจึงวางแผนเพื่อไปให้เห็นสภาพจริงของพื้นที่เท่านั้นที่จะทำให้เราจินตนาการออกว่า ทางแก้และทางป้องกันเรื่องขยะในสิ่งแวดล้อมของป่าที่ยังสมบูรณ์ผืนใหญ่สุดของประเทศแห่งนี้ น่าจะมีช่องทางอะไรได้บ้าง
แต่โควิดและความไม่ลงตัวของช่วงเวลาก็ประวิงผมและคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภาที่จะบุกเข้าพื้นที่มาจนเผอิญเจอเข้ากับช่วง เอเปค ปิดกรุงเทพ!
เราจึงแต่งคณะออกเดินทางมุ่งสู่อุ้มผางกัน
การใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพไปให้ถึงอุ้มผางต้องหมดเวลาไปเกือบหนึ่งวัน นอนพักตื่นมาทำภารกิจเต็มกำลังกันได้เต็มหนึ่งวัน และเหลือเวลาทำกิจกรรมอีกสักสองชั่วโมง ในวันสุดท้ายแล้วก็ต้องใช้เวลาเพื่อนั่งรถข้ามเทือกเขาเดินทางกลับมาขึ้นเครื่องบินที่สนามบินแม่สอดก็อีกหนึ่งวัน!!
ไม่ว่าจะเลือกขึ้นเครื่องของสายการบินไปเข้าแม่สอดแล้วค่อยนั่งรถต่อเข้าอุ้มผาง หรือจะเลือกการขับรถตียาวจากกรุงเทพไปอุ้มผาง ซึ่งต้องวิ่งยาวขึ้นเหนือแล้วค่อยอ้อมมาเข้าอุ้มผางผ่านแม่สอดก่อนอยู่ดี ก็ใช้เวลาต่างกันไม่มาก คือระหว่าง7 ชั่วโมงกับ10ชั่วโมงอยู่ดี
แล้วเราก็ไปถึงอุ้มผางตอนค่ำของคืนวันแรก ถอนหายใจโล่งอกเมื่อลงจากรถขนเป้ขึ้นสู่ห้องพัก เพราะทางชัน คดเคี้ยว มืดสนิท และมีรถบรรทุกสิบล้อ สิบแปดล้อ แล่นสวนเข้าออกในหุบเขาที่ถนนสูงเทียมเมฆ ที่กว่า600เมตรจากระดับน้ำทะเล เกือบค่อนหนึ่งของเส้นทาง
ผอ.หน่องของสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จากจังหวัดตาก มาเป็นผู้นำเราเข้าเส้นทางนี้บอกว่า ถนนี้พารถให้แล่นอยู่ในระดับที่สูงเท่าเฮลิคอปเตอร์บิน
เพียงแต่คืนแรกนี้ เรามองหน้าต่างออกไปก็มืดตื๋อ จึงยังไม่เข้าใจอะไร รู้แต่ว่าหวาดเสียวทุกโค้งที่ต้องแล่นขึ้นลงเขาสวนกับความใหญ่โตของรถบรรทุกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ขนออกไปขายต่อ
พื้นที่ตอนแรกหมดลง
ขอเล่าต่อในตอนหน้า ถึงภารกิจจริงที่เราไปทำ ในอุ้มผางยามฟ้าสว่างครับ
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา