พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดโรงเพาะฟักสัตว์น้ำ ณ มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 โดยแสดงความชื่นชมในความร่วมมือร่วมใจกันของภาคีทุกภาคส่วนที่ทุ่มเทศึกษาค้นคว้าวิจัยพัฒนาชุดความรู้ในการเพาะเลี้ยงปูทะเล อันเป็นที่มาของโรงเพาะฟักสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งของการเพาะฟักปูทะเล และจะมีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้จังหวัดปัตตานี เป็นเมืองปูทะเลโลกอีกทั้งยังช่วยสร้างความอยู่ดีกินดีมีความสุขแก่ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้
โอกาสเดียวกันนี้ รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจังหวัดปัตตานี ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมว่าโรงเพาะฟักสัตว์น้ำแห่งนี้ นับเป็นรูปธรรมจากผลลัพธ์ของงานค้นคว้าวิจัยพัฒนาการเพาะฟักปูทะเล ซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือกันของหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กรมประมงและหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เพื่อเติมเต็มห่วงโซ่อุปทานของการเลี้ยงปูทะเลให้ครบวงจร
“โรงเพาะฟักสัตว์น้ำแห่งนี้นอกจากจะแก้ปัญหาคอขวดของการเพาะฟักลูกปูได้อย่างเบ็ดเสร็จแล้ว ยังจะถูกใช้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนิสิตนักศึกษา แหล่งค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการผลิตลูกปูทะเล และแหล่งผลิตลูกปูทะเลสำหรับให้บริการแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปูอีกด้วย”
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า โรงเพาะฟักสัตว์น้ำแห่งนี้ เปรียบเหมือนรางวัลความสำเร็จจากการทุ่มเทศึกษาค้นคว้าวิจัยการเพาะฟักปูทะเล ที่ บพท. ได้เข้าไปมีส่วนให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ร่วมกับมหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ศอ.บต. จังหวัดปัตตานี กรมประมง และภาคีที่เกี่ยวข้องอีกหลายภาคส่วน
“ผมมั่นใจว่าโรงเพาะฟักสัตว์น้ำแห่งนี้ จะเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ต่อยอดงานวิจัยเรื่องปูทะเลให้ดียิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการยกระดับรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เศรษฐกิจฐานราก ทั้งระดับครัวเรือนและชุมชน อีกทั้งยังจะมีส่วนในการขยายมูลค่าการค้าปูทะเลของไทยให้เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งเป็นรากฐานสำคัญในการทำให้จังหวัดปัตตานีเป็นเมืองปูทะเลโลกได้อย่างสมบูรณ์แบบ”
ดร.กิตติกล่าวด้วยว่า โรงเพาะฟักสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นต้นทางของการเพาะฟักลูกปู และอนุบาลลูกปูก่อนส่งต่อให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงในระบบปิดที่ควบคุมอุณหภูมิและระดับความเค็มของน้ำ หรือนำไปเลี้ยงในระบบเปิดในนากุ้งร้าง และป่าชายเลนเสื่อมโทรม ซึ่งช่วยฟื้นฟูป่าชายเลนเสื่อมโทรม หรือนากุ้งร้างที่เสื่อมค่า ให้กลับมามีคุณค่า มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จะทำให้มูลค่าผลผลิตปูทะเลไทยขยายตัวแบบก้าวกระโดดจากระดับประมาณ 900 ล้านบาทในปัจจุบันขึ้นไปแตะระดับ 5,000 ล้านบาทต่อปี ภายในเวลา 5 ปี
พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวว่า ศอ.บต.เชื่อมั่นว่าโรงเพาะฟักสัตว์น้ำแห่งนี้จะทำให้กระบวนการเพาะเลี้ยงปูทะเลมีความครบวงจร ซึ่งจะก่อเกิดประโยชน์แก่ประชาชนในหลายภาคส่วนทั้งผู้เลี้ยง ผู้ประกอบการ ร้านอาหาร รวมทั้งภาคการท่องเที่ยว และเวลานี้ ศอ.บต.ได้ประสานงานกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำชุดความรู้การเลี้ยงปูทะเลไปส่งเสริมให้ประชาชนประกอบอาชีพเลี้ยงปูทะเลแล้วกว่า 30 ชุมชน
นายมูฮำหมัดสุกรี มะแซ ประธานกลุ่มเลี้ยงปูในบ่อกุ้งร้าง ต.บางปู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี กล่าวว่าได้นำชุดความรู้เรื่องการเลี้ยงปูทะเลไปใช้ประกอบอาชีพ ซึ่งได้ผลดีมาก และทำให้ตัดสินใจเลิกอาชีพประมงเรือเล็กที่ต้องออกทะเลให้หาสัตว์น้ำในทะเล มาเลี้ยงปูอย่างจริงจัง
“ก่อนมาเลี้ยงปู ผมต้องหาเช้ากินค่ำไม่มีเงินเหลือเก็บ แต่เมื่อเปลี่ยนมาเลี้ยงปู ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นมาก มีเงินเหลือเก็บ และเหมือนมีตู้เอทีเอ็มส่วนตัว อยากใช้เงินก็จับปูไปขาย โดยปูเนื้ออายุ 4 เดือน ขนาด 2-3 ตัว/กิโลกรัม มีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 400-500 บาท ส่วนปูไข่ จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 500-600 บาท”