นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้เร่งปฏิรูปภาคเกษตรของไทยภายใต้”5ยุทธศาสตร์”โดยล่าสุดได้มอบหมายให้นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจการเกษตร (Agribusiness)ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
“ตลาดนำการผลิต” ด้วยแนวทางเกษตรสร้างสรรค์แปรรูปเพิ่มมูลค่าสร้างแบรนด์คาแรคเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์เกษตรด้วยระบบทรัพย์สินทางปัญญา(Intellectual Property)โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจการเกษตรภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร4.0จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชิงเกษตรเป็นกลไกทำงานมีนายณภัทร พรหมพฤกษ์ เป็นประธานคณะทำงานชุดดังกล่าวโดยจะมีการจัดงาน”คาแรคเตอร์อาร์ต” ในช่วงสุดสัปดาห์นี้เป็นครั้งแรกของวงการเกษตรของไทย
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจการเกษตร (Agribusiness)แถลงว่า คณะอนุกรรมการฯ.และคณะทำงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชิงเกษตรได้ผนึกความร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติในการสร้างตัวตนของแบรนด์สินค้าให้มีชีวิตชีวาและมีมูลค่าสูงขึ้น ผ่านการจัดงาน “CHANGE 2021: Visual Character Art” สร้างรายได้ สร้างธุรกิจ จากการสร้างสรรค์คาแรคเตอร์ใหม่ให้โดนใจผู้บริโภค ในวันที่ 27-28 มีนาคม 2564 ณ ห้องฟังก์ชั่น ชั้น 4 TCDC, กรุงเทพ ซึ่งมีนักออกแบบไทยให้ความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานกว่า 300 คน
โดยภายในงานจะมีกิจกรรมน่าสนใจมากมาย อาทิ กิจกรรมเปิดโครงการด้วยแรงบันดาลใจ โดยปริญญ์ พานิชภักดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจการเกษตร และอินทพันธุ์ บัวเขียว รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
พร้อมพบการสัมมนาจากกูรูมากความสามารถด้านลิขสิทธิ์และความคิดสร้างสรรค์ นำโดย ณภัทร พรหมพฤกษ์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชิงเกษตร ปัจฉิมา ธนสันติ อดีตอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล อดีตผู้อำนวยการสสว. ดวงใจ คูห์ศรีวินิจ นายกสมาคม TCAP และพัชรินทร์ พฤกษ์พรรณชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็ม เจเนอเรทส์ จำกัด ตัวแทนผู้จัดจำหน่าย Rilakkuma ประเทศไทย จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมงานดังกล่าว ถือเป็นมิติใหม่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่นำระบบทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบแบรนด์คาแรคเตอร์มาใช้กับสินค้าเกษตรซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศนำมาใช้จนประสบความสำเร็จเช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ยุโรปและอเมริกา
ทั้งนี้”5 ยุทธศาสตร์เกษตร”ประกอบด้วย
1.ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต
2. ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0
3.ยุทธศาสตร์“3’s” (Safety-Security-Sustainability-เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง และเกษตรยั่งยืน
4.ยุทธศาสตร์การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะโมเดล “เกษตร-พาณิชย์ทันสมัย”
5.ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา