ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวในประเด็นการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้นโยบายว่า ผู้ติดเชื้อโควิดทุกรายควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งกรมการแพทย์เป็นหน่วยงานหลักที่บริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ติดเชื้อ โดยทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐ และเอกชน ได้ทำงานเป็นเครือข่าย จัดทำข้อมูลเตียงผ่านระบบคอมพิวเตอร์ (Co-Ward) ในการบริหารจัดการเตียงร่วมกัน ข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2564 ทั่วประเทศ มีเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ทั้งจากโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ทั้งหมด 23,483 เตียง ว่างอยู่ 18,257 เตียง สำหรับภาพรวมในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีเตียงรองรับทั้งหมด 4,454 เตียง ว่างอยู่ 2,056 เตียง หากรวมเตียงสนามและ Hospitel ที่ได้รับความร่วมมือจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและภาคเอกชน ที่ขณะนี้ว่างอยู่ อีก 944 เตียง จะสามารถรองรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ได้ทั้งหมด 3,000 เตียง ขอให้ความมั่นใจว่าผู้ติดเชื้อทุกคนไม่ว่าจะเป็นสิทธิการรักษาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกันสังคม หรือสิทธิข้าราชการ จะต้องได้รับการรักษาฟรี จากทุกโรงพยาบาล ยกเว้นผู้ที่มีประกันสุขภาพ โรงพยาบาลจะคิดค่ารักษาจากประกันก่อน
นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนให้มีการบริหารจัดการเตียงเป็นเครือข่าย หากตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลเอกชนจะเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนก่อน และจะมี Hospitel ซึ่งใช้ห้องพักโรงแรมทำเป็นโรงพยาบาล มีโรงพยาบาลคู่ขนานดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย และไม่มีอาการแทรกซ้อน มีแพทย์ พยาบาล ประจำ ประเมินอาการทุกวัน หากอาการแย่ลง จะส่งเข้ารักษาในโรงพยาบาลทันที นอกจากนี้ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดทำสายด่วน เพื่อรองรับสถานการณ์ และจัดการเตียงสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ได้แก่ สายด่วนกรมการแพทย์ (เฉพาะกิจ) 1668 รับสาย 08.00-22.00 น. ทุกวัน และสายด่วน สปสช. 1330 รับสายตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร โดยศูนย์เอราวัณ ได้เพิ่มสายด่วน 1669 ร่วมกันประสานหาเตียงให้กับผู้ติดเชื้อโควิด 19
“ขอความร่วมมือผู้ที่ได้รับการตรวจว่าติดเชื้อโควิด 19 แล้ว ทุกคนให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แม้จะไม่มีอาการ เนื่องจากอาจไม่เคร่งครัดการแยกตัวจากผู้อื่น และอาจพบอาการปอดอักเสบได้ในระยะหลัง ส่วนผู้ที่อยู่ระหว่างการรอผลการตรวจให้เคร่งครัดมาตรการ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ป้องกันการแพร่เชื้อสู่ครอบครัวและผู้ที่อยู่ใกล้ชิด”นพ.สมศักดิ์กล่าว
นพ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็น ผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์นั้น ส่วนใหญ่ (มากกว่า 2 ใน 3)ของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไม่แสดงอาการ อาจพบอาการรุนแรงได้ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะอ้วน อายุมาก มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือครรภ์เป็นพิษ ข้อมูลจากกกรมอนามัย พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อจำนวน 60 ราย ยังไม่พบรายใดที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต ส่วนการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกข้อมูลจากทั่วโลกพบได้เพียงร้อยละ 2 – 5 และทารกมีโอกาสคลอดก่อนกำหนด ประมาณร้อยละ 15.1 และยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเรื่องการแท้งบุตร อย่างไรก็ตามควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากสูติ-นรีแพทย์ ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ติดเชื้อ ขอให้เข้ารับการฝากครรภ์ตามปกติ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเอง สวมหน้ากาอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างจากผู้อื่น หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรือสถานที่ชุมชน อย่างเคร่งครัด