ชลประทานเชียงใหม่ รุดดูความคืบหน้าปรับปรุงก่อสร้างฝายเหมืองปงแม่อาย หลังถูกอุทกภัยซัดพัง 61 นี้ เร่งก่อสร้างเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด ประชุมวางแผนจัดการน้ำป้องกันฝนทิ้งช่วง
วันที่ 20 เม.ย. 66 นายชนม์ฐพัฒน์ เครือศรี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดสรรน้ำฯ ได้เดินทางลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้างานปรับปรุงฝายเหมืองปง เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำแม่สาว หมู่ที่ 10 บ้านเมืองหนอง ตำบลแม่สาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 61 อย่างหนัก ทำให้เกิดการพังทลาย ซึ่งล่าสุดได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วกว่า 29 เปอร์เซ็นต์
โดยการปรับปรุงครั้งนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 66นอกจากนี้ได้เดินทางเข้าประชุมร่วมกับเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ และพบปะกลุ่มเกษตรกรที่ศูนย์การเรียนรู้เพื่อเพิ่มการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่สวนบัวชมพู จอมคีรี การทำเกษตรกรอินทรีย์ต้นแบบ ที่ได้นำเกษตรทฤษฎีใหม่ 5 แนวทาง มีเกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน วนเกษตรและเกษตรธรรมชาติ เป็นศูนย์การเรียนจัดการดินและน้ำอย่างครบวงจร “โคก หนอง นา โมเดล” เป็นการจัดการแบบครบวงจร เพื่อประชุมวางแผนในการบริหารจัดการน้ำและการดูแลพื้นที่การเกษตรในช่วงที่จะเข้าสู่ฤดูแล้ง ฝนทิ้งช่วง
นายชนม์ฐพัฒน์ กล่าวว่า ปีนี้จังหวัดเชียงใหม่มีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอในการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปัจจุบันเขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่ง เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำรวมกัน 347 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66 ของความจุที่เก็บกัก 528 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 64 ถึง 171 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 13 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน 70 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 68 ของความจุเก็บกัก 102 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 64 ถึง 20 ล้าน ลบ.ม. สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 116 แห่ง กระจายอยู่ 25 อำเภอ มีปริมาณน้ำรวม 42 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64 ของความจุ มากกว่าปี 64 ถึง 10 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนและอ่างต่างๆ นอกจากจะเก็บน้ำไวัเพื่ออุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศน์ และการเกษตรแล้ว ยังสนับสนุนภารกิจการแก้ไขหมอกควันและไฟป่าของจังหวัดเชียงใหม่ด้วยการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงของพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
ทางชลประทานเชียงใหม่ได้วางแผนทั้งการใช้สิ่งก่อสร้างและไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง โดยมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างได้ใช้มาตรการวางแผนการจัดการน้ำตามเกณฑ์บริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมตามน้ำต้นทุนที่มีอยู่ การสร้างการรับรู้ ประชุมวางแผนการเพาะปลูกร่วมกับกลุ่มเกษตรกผู้ใช้น้ำชลประทาน มีการเตรียมความพร้อมสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ซึ่งปัจจุบันได้สนับสนุนไปแล้วจำนวน 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ตำบลเวียง อำเภอฝาง และตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม สนับสนุนน้ำไปแล้ว 96,000 ลบ.ม. ทั้ง 2 พื้นที่จากทั้งหมด 18 พื้นที่ส่วนมาตรการใช้สิ่งก่อสร้างคือการขุดลอกอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 8 แห่ง สามารถเพิ่มความจุของอ่างเก็บน้ำได้ทั้งหมด 328,000 ลบ.ม.เศษ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จก่อนช่วงฤดูฝนเพื่อจะได้กักเก็บน้ำไว้ใช้อย่างพอเพียง
การปรับปรุงฝายต่างๆ ที่ชำรุดเสียหาย อย่างเช่นที่ฝายเหมืองปง หมู่ที่ 10 ตำบลแม่สาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเมื่อช่วงวันที่ 3 – 4 ตุลาคม 61 ทำให้เกิดการทรุดตัวของฝายและได้รับความเสียหาย กระทั่งในปีงบประมาณ 66 ได้รับงบประมาณมาเพื่อทำการปรับปรุงระบบฝายเหมืองปง เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยให้กับในพื้นที่ เนื่องจากพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ตามลำน้ำแม่สาวที่ใกล้กับฝายเหมืองปงเดิม ได้รับผลกระทบอย่างหนัก น้ำกัดเซาะเข้าฝั่งทำให้บางพื้นที่ดินทรุดและที่ดินของบ้านถูกกัดเซาะเสียหาย ทางชลประทานได้ดำเนินการปรับปรุงก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 66 นี้
ขณะเดียวกันได้วางแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ช่วงที่มีการก่อสร้างไว้แล้ว เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบทั้งการก่อสร้างและผลกระทบกับชาวบ้านในพื้นที่โดยรอบ ทั้งนี้ อยากขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนและเกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด และปรับตัวให้ทันกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศของโลก