เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นวันพิพิธภัณฑ์สากล เพื่อร่วมส่งเสริมและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างอาเซียนและจีน พร้อมกันนี้ได้ใช้เป็นฤกษ์เปิดตัว “ศูนย์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก” ซึ่งตั้งอยู่ในโครงการ Reignwood Park (เรนวูด พาร์ค) บนถนนลำลูกกา คลอง 11 จังหวัดปทุมธานี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการเปิดศูนย์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอาเซี่ยน -จีน ในครั้งนี้ ได้มี บุคคลสำคัญๆเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทั้งนักการเมือง นักวิชาการ และบุคคลสำคัญจากประเทศจีนที่ได้ให้ความสำคัญต่อการเป็นศุนย์ดังกล่าว อาทิเช่น นายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง, นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี, นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ Mr.Wang Min สมาชิกคณะกรรมการประจำพรรคและรองประธานสำนักข่าวไชน่า นิวส์ นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรี, นางสาววรพนิต รวยรุ่งเรื่อง ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท เรนวูด กรุ๊ป ศาสตราจารย์ Lv Zhou ศาสตราจารย์วิทยาลัยสถาปัตยกรรม Tsinghua University ผู้อำนวยการ ศูนย์มรดกแห่งชาติแห่ง Tsinghua University และ ดร. Jing Feng ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียแปซิฟิกของศูนย์มรดกโลก UNESCO พร้อมด้วยสื่อมวลชนทั้งไทยและจีน
นายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง ได้กล่าวผ่านระบบการประชุมแบบออนไลน์ว่า จีนและไทยเป็นเหมือนเพื่อน มีความใกล้ชิดและเป็นมิตรเสมอมา ในโอกาสที่วันนี้ “ศูนย์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก” ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ศูนย์ฯ แห่งนี้จะกลายเป็นศูนย์กลางเพื่อร่วมส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศโดยเฉพาะระหว่างประเทศจีน และประเทศไทย รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อกระชับความสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจอันดีในอนาคตต่อไป
นางสาววรพนิต รวยรุ่งเรื่อง ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท เรนวูด กรุ๊ป ซึ่งเป็นตัวแทนของ ดร. ชาญชัย รวยรุ่งเรื่อง ผู้เป็นบิดาและประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิ Reignwood Cultural Foundation ได้กล่าวแสดงความยินดีและขอขอบคุณแขกผู้มีเกียรติทุกท่านในโอกาสที่มาเป็นสักขีพยานในการเปิด “ศูนย์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก” ภายในโครงการ Reignwood Park พร้อมหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นจุดเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมของจีนและประเทศในกลุ่มอาเซียน งานที่จัดขึ้นครั้งแรกภายใต้แนวคิด “สีสันเส้นทางสายไหม ทอฝันจากใจหมู่ช่าง” ก็เพื่อสนับสนุนโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอาเซียน ที่จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ของจีนและประเทศในกลุ่มอาเซียนในหลากหลายมิติ รวมทั้งมิติด้านวัฒนธรรม และจะเป็นการย้อนรอย ประวัติศาสตร์ทางการค้าของจีนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งจะเป็นจุดเื่อมโยงทางการค้าที่ย้ำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง ไทย และจีน ตลอดจนประเทศในกลุ่มอาเซียน
ทางด้าน Ms. Lu Zhan เลขามูลนิธิ Reignwood Cultural Foundation ได้กล่าวว่าการอนุรักษ์ไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมของชาติและนานาชาติถือเป็นงานเพื่อสาธารณะประโยชน์ที่มูลนิธิฯ ให้ความสำคัญ ในปี 2012 เราได้ก่อตั้ง”พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Reignwood” เพื่อเก็บรักษาชิ้นงานศิลปะของจีนและของต่างประเทศที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมจำนวนมาก และในส่วนของงานสถาปัตยกรรมตัวอาคาร “ศูนย์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก” แห่งนี้ถือเป็นการร่วมถ่ายทอดและส่งเสริมงานฝีมือระดับ “ปรมาจารย์” ด้านงานไม้โบราณของจีนให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ที่มาเยือน ซึ่งในอนาคตเรามีแผนที่จะร่วมมือกันจัดงานเพื่อให้เยาวชนได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาวัฒนธรรมระหว่างประเทศณ ศูนย์ฯ แห่งนี้อีกด้วย
งานสถาปัตยกรรมของตัวอาคาร “ศูนย์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก” นี้ถูกออกแบบโดยทีมงานของศาสตราจารย์ Lv Zhou ผู้อำนวยการศูนย์มรดกแห่งชาติ Tsinghua University โดยมีการจำลองแบบของพระตำหนักเหรินโซ่วเตี้ยน ณ กรุงปักกิ่ง การก่อสร้างใช้ไม้กว่า 350,000 ชิ้นและถือเป็นงานสถาปัตยกรรมงานไม้โบราณแบบจีนในต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ที่สร้างขึ้นด้วยเทคนิคแบบดั้งเดิม ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมของจักรวรรดิจีนที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน
ตัวโครงการได้เริ่มงานก่อสร้างในปี 2563 และแล้วเสร็จในปี 2566 ภายใต้การส่งเสริมและสนับสนุนของมูลนิธิReignwood Cultural Foundation โดยมีช่างฝีมือจากกรุงปักกิ่ง เฉวียนโจว และกรุงเทพฯ กว่า 260 คน ประกอบด้วย ช่างก่ออิฐ ช่างไม้ ช่างแกะสลัก ช่างปูน ช่างสี ช่างทาสี รวมถึง Mr. Liu Dashan ผู้ชนะรางวัลผลงานพิเศษจากการบริหารมรดกทางวัฒนธรรมแห่งแห่งประเทศจีน และ Mr. Weng Guoqiang ผู้สืบทอดมรดกที่จับต้องไม่ได้แห่งประเทศจีน ร่วมสร้างผลงานแห่งนี้โดยใช้เวลากว่า 1,000 วัน เพื่อให้โครงการนี้สำเร็จ
“ศูนย์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก” แห่งนี้จะช่วยสืบสานงานศิลป์และส่งต่อความงามของงานสถาปัตยกรรมจีนแบบดั้งเดิมเพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจากรุ่นอวุโสสู่คนรุ่นใหม่ และยังถือเป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมจีนสู่ภูมิภาคต่างๆ ตามแนวคิด “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” โดยมีการปรับตัวอาคารให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมท้องถิ่นของไทย ศูนย์ฯ แห่งนี้พร้อมแล้วที่จะช่วยกระชับความสัมพันธ์และส่งต่อมิตรภาพระหว่างประเทศในอนาคต โดยพร้อมต้อนรับผู้มาเยือนจากทั่วโลก ให้ได้ย้อนอดีตของเส้นทางสายไหม และเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางการแสดงทางวัฒนธรรมของจีนเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และความร่วมมือระหว่างจีนกับนานาประเทศ