กสม.จี้ สตช.เยียวยาครอบครัวผู้ต้องหาฆ่าตัวตาย หลังถูกจับกุมคดีถ่ายภาพอนาจารไม่เป็นธรรม ชงแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้
25 พฤษภาคม 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ นายภาณุวัฒน์ ทองสุข ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 19/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
1. กสม. ชี้ผู้ต้องหาที่ถูกจับภายหลังถ่ายภาพนักกีฬายิมนาสติก ไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายและถูกละเมิดสิทธิในเกียรติยศและชื่อเสียง ระหว่างการควบคุมตัวของตำรวจ แนะ สตช. เยียวยาครอบครัว
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จากผู้ร้องรายหนึ่งระบุว่า ผู้ต้องหาซึ่งเป็นบุตรชายของผู้ร้องไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายและถูกถ่ายภาพเผยแพร่สู่สาธารณะ จากกรณีที่บุตรชายของผู้ร้อง ได้เข้าไปชมและถ่ายภาพการแข่งขันกีฬายิมนาสติก เมื่อเดือนกันยายน 2563 ณ อาคารนิมิบุตรสนามกีฬาแห่งชาติ
แต่ถูกกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นผู้ปกครองของนักกีฬาเข้ามารุมแย่งกล้องถ่ายภาพโดยอ้างว่าบุตรชายของผู้ร้องถ่ายภาพนักกีฬาในลักษณะลามกอนาจาร จากนั้นบุตรชายของผู้ร้องถูกทำร้ายร่างกายและข่มขู่ ต่อมามีเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ปทุมวัน (ผู้ถูกร้อง) จำนวนหนึ่ง ได้จับกุมและนำตัวบุตรชายของผู้ร้องไปยัง สน.ปทุมวัน และให้บุตรชายของผู้ร้องนั่งบนเก้าอี้แล้วใส่กุญแจมือไขว้หลังนานถึง 3 ชั่วโมง
ระหว่างนั้นมีผู้ปกครองของนักกีฬาบางคนบันทึกภาพบุตรชายของผู้ร้องแล้วนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าจะดำเนินคดีกับบุตรชายของผู้ร้องในข้อหาทะเลาะวิวาทและก่อความวุ่นวาย ผู้ร้องเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ไม่ถูกต้องและเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุจากการใส่กุญแจมือ ปล่อยให้บุคคลอื่นถ่ายภาพบุตรชายผู้ร้องไปเผยแพร่ และไม่ให้การรักษาพยาบาลบุตรชายผู้ร้องซึ่งได้รับบาดเจ็บในขณะนั้น
จากนั้นเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2564 บุตรชายของผู้ร้องได้เสียชีวิตจากการผูกคอโดยใส่กุญแจมือไขว้หลังเพื่อเป็นการประท้วงความอยุติธรรมที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคลไว้ การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้
เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา วางหลักไว้ว่า ห้ามมิให้ใช้วิธีควบคุมผู้ถูกจับเกินกว่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้หลบหนีเท่านั้น โดยการใช้เครื่องพันธนาการต้องใช้เท่าที่จำเป็น
โดยพิจารณาถึงฐานความผิด ตัวบุคคล กิริยาหรือความประพฤติ เป็นต้น ซึ่งกรณีตามคำร้อง กสม. เห็นว่ามีประเด็นที่ต้องพิจารณา ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่หนึ่ง กรณีผู้ร้องกล่าวอ้างว่า การจับกุมบุตรชายของผู้ร้องเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในวันเกิดเหตุ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปตรวจสอบเหตุตามที่ได้รับแจ้งเหตุ พบว่า มีความวุ่นวายจากการที่บุคคลที่อยู่ในสนามแข่งขันยิมนาสติกพยายามจับตัวบุตรชายของผู้ร้องซึ่งมีพฤติกรรมโวยวาย พยายามทำร้ายร่างกายผู้อื่นและจะหลบหนี
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจับกุมและใส่กุญแจมือไว้ ซึ่งความวุ่นวายดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลภาพข่าวที่ปรากฏในสื่อมวลชน และคำพิพากษาของศาลแขวงปทุมวันในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยรายหนึ่งที่ทำร้ายร่างกายบุตรชายของผู้ร้อง ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจย่อมต้องระงับเหตุหรือป้องกันความปลอดภัยให้แก่บุคคลต่าง ๆ อันเป็นการทำหน้าที่เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ในชั้นนี้ จึงเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการจับกุมบุตรชายของผู้ร้อง
ประเด็นที่สอง กรณีที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำเกินกว่าเหตุในการใช้เครื่องพันธนาการ (กุญแจมือ) บุตรชายของผู้ร้อง เห็นว่า การใช้เครื่องพันธนาการกับผู้ต้องหาต้องพิจารณาใช้ตามความจำเป็นเพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหลบหนีไปจากการควบคุมเท่านั้น
การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใส่กุญแจมือบุตรชายของผู้ร้องไว้เป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมง ทั้งที่สามารถควบคุมตัวได้แล้วตั้งแต่ขณะไประงับเหตุที่สนามกีฬาแห่งชาติ จึงเป็นการใช้อำนาจที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายเกินสมควรแก่เหตุ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ประเด็นที่สาม กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่นำตัวบุตรชายของผู้ร้องที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายร่างกายไปรับการรักษาพยาบาลในระหว่างการควบคุมตัว ทั้งที่ผู้ร้องได้แจ้งและขอให้นำตัวบุตรชายไปรับการรักษาก่อนแล้ว เห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจละเลยต่อการทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ต้องหาที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเกิดการเจ็บป่วย อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ประเด็นที่สี่ กรณีผู้ร้องกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยให้มีบุคคลเข้าไปถ่ายภาพบุตรชายแล้วนำไปเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ จากการตรวจสอบพบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวสื่อสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่ภาพถ่ายของบุตรชายผู้ร้องขณะถูกใส่กุญแจมืออยู่ภายในห้องปฏิบัติงานของ สน. ปทุมวัน จริง
แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจชี้แจงว่าไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดละเลยให้มีการถ่ายภาพและไม่เห็นว่ามีการถ่ายภาพในช่วงเวลาใด อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่า การถ่ายภาพต้องกระทำในขณะที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบุตรชายของผู้ร้อง
การชี้แจงดังกล่าวจึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริง ทั้งนี้ บุตรชายของผู้ร้องได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน. ศาลาแดง ขอให้ดำเนินคดีกับบุคคลที่นำภาพถ่ายของตนในขณะถูกใส่กุญแจมือไปเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์แล้ว
โดยคดีอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน ในชั้นนี้ จึงเห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเพียงพอต่อการคุ้มครองสิทธิในเกียรติยศและชื่อเสียงของบุตรชายของผู้ร้อง จึงเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ประเด็นที่ห้า กรณีผู้ร้องกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ดำเนินคดีกับผู้ที่ทำร้ายร่างกายบุตรชาย จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตามที่บุตรชายของผู้ร้องถูกกล่าวหาว่าถ่ายภาพนักกีฬายิมนาสติกในลักษณะลามกอนาจาร จนเป็นเหตุให้ถูกทำร้ายร่างกายนั้น
เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบภาพถ่าย ปรากฏว่าภาพถ่ายดังกล่าวไม่เข้าข่ายอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา และต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดีกับผู้ที่ทำร้ายร่างกายบุตรชายของผู้ร้อง กระทั่งศาลแขวงปทุมวันได้พิพากษาลงโทษแล้ว จึงถือว่ามีการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีกับผู้ที่ทำร้ายร่างกายบุตรชายของผู้ร้องเมื่อเวลาผ่านไปนับจากวันที่เกิดเหตุการณ์กว่า 1 ปี และภายหลังดำเนินคดีปรากฏว่าคดีไม่มีความคืบหน้าจนผู้ร้องต้องมีหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อติดตามเรื่องเองจนกระทั่งศาลพิพากษาเสร็จสิ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ให้ความใส่ใจที่เพียงพอในการอำนวยความยุติธรรมและให้สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมแก่บุตรชายของผู้ร้องในฐานะเป็นผู้เสียหาย
จากเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน (ผู้ถูกร้อง) กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการไม่ได้ให้ความใส่ใจและใช้ความรอบคอบที่เพียงพอที่จะอำนวยความยุติธรรมและให้สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมแก่บุตรชายของผู้ร้องในฐานะเป็นผู้เสียหายในคดีถูกทำร้ายร่างกาย
และนำผลการตรวจสอบไปกำหนดแนวทางเพื่อป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิฯในลักษณะนี้อีก นอกจากนี้ให้พิจารณาหาแนวทางเยียวยาความเสียหายให้แก่ครอบครัวของผู้ร้อง ซึ่งอย่างน้อยจะต้องขอโทษต่อครอบครัวของผู้ร้อง และเร่งรัดให้พนักงานสอบสวน สน.ศาลาแดง ดำเนินคดีกับบุคคลที่นำภาพถ่ายบุตรชายของผู้ร้องในขณะถูกใส่กุญแจมือไปเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
2. กสม. ชงแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ ให้คุ้มครองคนต่างด้าวทุกกลุ่มให้ไม่ถูกผลักดันกลับสู่อันตราย
นายภาณุวัฒน์ ทองสุข ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับข้อเสนอแนะจากผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเพื่อผู้ลี้ภัยหลายองค์กรให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการพิจารณาคัดกรองคำขอเป็นผู้ได้รับความคุ้มครองตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักร
และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 และขอให้มีการพิจารณาข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนต่อผู้ลี้ภัยจากเมียนมากลุ่มใหม่ในประเทศไทย ประกอบกับข้อมูลจากเรื่องร้องเรียนมายัง กสม. เมื่อเดือนมกราคม 2566 กรณีขอให้มีการพัฒนากระบวนการคัดกรองบุคคลไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทยเพื่อมิให้ถูกจับกุมและกักตัวโดยละเมิดสิทธิมนุษยชน
โดย กสม. พิจารณาเบื้องต้นแล้วเห็นว่า เป็นประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคล จึงมีมติให้ศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวฯ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กสม. ในการประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566ได้พิจารณาผลการศึกษาและข้อเสนอแนะในการแก้ไขระเบียบว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวฯ ดังกล่าวแล้ว มีความเห็นใน 4 ประเด็น สรุปได้ดังนี้
(1) การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาคัดกรองคำขอเป็นผู้ได้รับ การคุ้มครอง เห็นว่า มีการออกประกาศของคณะกรรมการที่มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และพิจารณาคัดกรองคนต่างด้าวเพื่อให้สถานะเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวฯ ลงวันที่ 14 มีนาคม 2566
ซึ่งกำหนดว่าผู้ได้รับการคุ้มครองต้องไม่เป็นคนต่างด้าวที่กระทรวงมหาดไทยมีมาตรการหรือกระบวนการดำเนินการรองรับเป็นการเฉพาะ และไม่เป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดมาตรการหรือกระบวนการดำเนินการรองรับเป็นการเฉพาะ หรือที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดเพิ่มเติม ส่งผลให้บุคคลเหล่านี้ถูกตัดสิทธิในขั้นตอนการยื่นคำร้องขอรับสิทธิเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง จึงอาจถูกส่งกลับไปประเทศต้นทางที่เสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากการถูกประหัตประหาร
อันเป็นการขัดต่อหลักการห้ามผลักดันกลับไปสู่อันตราย (non-refoulement) ตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยต้องผูกพัน และไม่สอดคล้องตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ข้อ 3 ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ประกอบมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่บัญญัติห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐขับไล่ ส่งกลับบุคคล เป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้น จะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน หรือถูกกระทำให้สูญหาย ทั้งยังอาจขัดต่อหลักความเสมอภาคทั่วไปเนื่องจากบุคคลเหล่านี้อาจเป็นคนต่างด้าวที่ตกอยู่ในสถานการณ์อันควรเชื่อได้ว่าจะได้รับอันตรายจากการถูกประหัตประหารเช่นเดียวกับคนต่างด้าวรายอื่น
ดังนั้น กสม. จึงเห็นควรเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับการคุ้มครอง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาคัดกรองคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง ลงวันที่ 14 มีนาคม 2566 ข้อ 2 และข้อ 5 โดยไม่นำคุณสมบัติเกี่ยวกับการเป็นคนต่างด้าวที่กระทรวงมหาดไทย มีมาตรการหรือกระบวนการดำเนินการรองรับเป็นการเฉพาะ และการเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดมาตรการหรือกระบวนการดำเนินการรองรับเป็นการเฉพาะ มาตัดสิทธิในการยื่นคำร้องขอรับสิทธิเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองและคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง แต่จะต้องพิจารณาจากเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะได้รับอันตรายจากการถูกประหัตประหารเป็นสำคัญ
(2) การกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์คำร้องขอรับสิทธิเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง ปรากฏว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวฯ ข้อ 17 กำหนดให้คนต่างด้าวยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา โดยผลการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
อย่างไรก็ตาม กสม. เห็นว่า คนต่างด้าวอาจมีข้อจำกัดในการยื่นอุทธรณ์ เช่น ข้อจำกัดด้านภาษา กฎหมาย หรือการจัดเตรียมเอกสารประกอบการอุทธรณ์ ทำให้ระยะเวลา 15 วัน อาจไม่เพียงพอต่อการเตรียมการอุทธรณ์ จึงมีข้อเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 17 ของระเบียบดังกล่าว โดยกำหนดให้สามารถอุทธรณ์ผลการพิจารณาคำร้องขอรับสิทธิเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองต่อคณะกรรมการภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา โดยอาศัยเทียบเคียงกับระยะเวลาการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครอง ตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
ประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีข้อสังเกตในคำวินิจฉัยที่ 21/2564 ว่า การกำหนดระยะเวลาในการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองไว้เพียงสิบห้าวัน เป็นการให้น้ำหนักแก่หลักความมั่นคงแห่งนิติฐานะของคำสั่งทางปกครองมากกว่าหลักการคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่ถูกกระทบจากคำสั่งทางปกครอง เป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไป อาจทำให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายเสียสิทธิอุทธรณ์และส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิทางศาล จึงเห็นควรมีการแก้ไขปรับปรุงระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองเพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนมากขึ้น และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับความเห็นดังกล่าวไปพิจารณาดำเนินการ
(3) กรณีคนต่างด้าวไม่ได้ยื่นคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองต่อคณะกรรมการภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ปรากฏว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวฯ ข้อ 18 กำหนดให้คนต่างด้าวที่มีสิทธิยื่นคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง ให้ยื่นคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองต่อคณะกรรมการภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
หากไม่ได้ดำเนินการภายในระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่าคนต่างด้าวละทิ้งคำร้องขอ ซึ่งจะแตกต่างจากหลักเกณฑ์ตามระเบียบฯ ข้อ 24 กรณีคณะกรรมการมีมติว่าคนต่างด้าวไม่มีสิทธิยื่นคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง หรือมีมติไม่ให้สถานะเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง หรือมีมติเพิกถอนสถานะผู้อยู่ระหว่างคัดกรองสถานะหรือผู้ได้รับการคุ้มครอง คนต่างด้าวอาจยื่นคำขอต่อคณะกรรมการเพื่อให้พิจารณาสถานะเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองได้ใหม่
กสม. จึงเห็นว่า ระเบียบฯ ข้อ 18 เป็นการตัดสิทธิของผู้รับคำสั่งในการได้รับการพิจารณาใหม่ และขัดต่อหลักความเสมอภาคเพราะคนต่างด้าวทั้งสองกรณีตามระเบียบฯ ข้อ 18 และข้อ 24 อาจถือได้ว่าไม่มีความแตกต่างในสาระสำคัญที่จะปฏิบัติให้แตกต่าง
ดังนั้น จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 18 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองฯ โดยกำหนดให้มีข้อยกเว้นกรณีมีเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่สามารถยื่นคำขอเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการถูกผลักดันไปสู่การประหัตประหาร
(4) สัดส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการ เห็นว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวฯ ข้อ 5 กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับการคุ้มครองอย่างไม่ได้สัดส่วน โดยระเบียบฯ กำหนดให้มีกรรมการโดยตำแหน่งเป็นข้าราชการประจำ จำนวน 11 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 4 คน ซึ่งไม่ได้กำหนดองค์ประกอบผู้แทนจากภาควิชาการหรือภาคประชาสังคมไว้อย่างชัดเจน
ประเด็นนี้ กสม. จึงเห็นควรให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 5 ของระเบียบดังกล่าว โดยเพิ่มจำนวนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นนักวิชาการหรือผู้แทนจากองค์กรภาคประชาสังคมที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนหรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ
ประเภทละ 3 คน
รวมมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 6 คน เพื่อให้การพิจารณาคัดกรองคนต่างด้าวได้รับการพิจารณาจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวอย่างรอบด้าน และให้มีสัดส่วนสมดุลกับกรรมการโดยตำแหน่ง เพื่อให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้ดุลพินิจในการพิจารณา อันจะเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคลซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สำคัญซึ่งได้รับการรับรองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ด้วย