ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ FB ส่วนตัวโดยขึ้นหัวข้อว่า “ไทยระลอก 3 ฮ่องกง ระลอก 4 โยงสายแอฟริกาใต้” พร้อมยกตัวอย่างกรณีที่พบในสตรีอายุ 39 ปี หาที่มาที่ไปไม่ได้ ว่าติดมาจากที่ใด และติดไปยังเด็กอายุ 10 เดือนที่ช่วยดูแล สตรีดังกล่าวไม่ได้เดินทางไปที่ใดเลยตั้งแต่ปี 2019 สองสัปดาห์ที่แล้วพบในชายอายุ 29 ปีเป็นสายพันธุ์เดียวกัน B.1.351 เคยอยู่ที่จอร์แดน
จากการหาต้นตอ ความเชื่อมโยงไม่ได้ แสดงให้เห็นว่ามีการแพร่เชื้อเงียบๆและอาจนำไปสู่ระลอกใหม่ โดยทางการฮ่องกงจะทำการตรวจเชิงรุกขนานใหญ่แบบปูพรมเพื่อให้ครอบคลุมแรงงานหลาย 100,000 รายและคนในพื้นที่พร้อมกัน
สาย แอฟริกาใต้ตามที่มีการตรวจพบในแอฟริกาใต้ 2099 ราย เยอรมนี 1042 เบลเยียม 714 และพบแล้วอย่างน้อย 68 ประเทศ ซึ่งอาจจะมีปัญหาในการวินิจฉัยการตรวจไม่เจอตัวและแน่นอนวัคซีนจะได้ผลน้อย ในขณะเดียวกันแรงงานในฮ่องกง ยังได้พบสายพันธุ์อื่นที่หาต้นตอไม่ได้
เหตุการณ์ซ้ำซากเหล่านี้ทางการฮ่องกงจะทำการตรวจปูพรมพร้อมกันเริ่มในแรงงาน และส่งเสริมให้คนในเกาะมีการตรวจการติดเชื้อเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเร่งการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วถึง
(แหล่งข่าว SCMP 1/5/64)
และในสถานการณ์ประเทศไทยที่กำลังวิกฤต และวิตกกับสายอินเดียแน่นอนว่า การกักกันผู้ที่กลับจากต่างประเทศ หรือไม่ให้กลับ จะช่วยชะลอเวลาให้สายพันธุ์ต่างๆเหล่านี้ แพร่กระจายในคนไทยกันเองได้ เพียงทำให้ช้าลงเท่านั้น
ซึ่งแท้จริงแล้วอาจจะไม่ได้รวมถึงอินเดียอย่างเดียว (ที่พบแพร่ในมากกว่า 20 ประเทศ)เพราะมีสายพันธุ์ ต่างๆเช่นแอฟริกาใต้ บราซิล P1 (ที่พบและรายงานในสหรัฐ 1714 บราซิล 968 และอิตาลี 512 และในประเทศ อื่นๆ) สายอังกฤษ B1.1.7 (ตรวจพบในอังกฤษ 207,527 สหรัฐ 42,858 และเยอรมันนี 36,420 และในประเทศอื่นๆอีก) และสาย อื่นๆใหม่ๆซึ่งเกิดขึ้นทุกวันเช่นฟิลิปปินส์
เหล่าเกิดขึ้นจากการควบคุมการแพร่ระบาดไม่ได้ ทำให้ไวรัสมีการปรับตัวกลายพันธุ์เกิดเป็นสายใหม่ที่ดื้อวัคซีนที่ออกแบบจากไวรัสดังเดิม
การที่จะควบคุมสายเก่าและสายใหม่ทั้งหมด
1- เร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมคนไทยทั้งหมด ถ้าเป็นไปได้ถึง 90% ในเวลาอันรวดเร็วที่สุด
เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของสายเดิมและสายใหม่ซึ่งยังพอควบคุมจากวัคซีนได้
2- หยุดการแพร่กระจายโดยทันทีจาก
2.1 การมีวินัยสูงสุดระดับบุคคล รักษาระยะห่าง
2.2 และมีการตรวจในระดับบุคคลให้มากที่สุดถ้วนทั่วอย่างน้อยทุกสี่ถึงเจ็ดวัน
2.3 เมื่อพบเพื่อการแยกตัวออก โดยไม่ต้องนำตัวเข้าโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามหรือฮอสปิเทล ถ้าคนติดเชื้อนั้นๆ ไม่มีอาการและสามารถแยกตัวออกห่างจากคนอื่นในที่พักอาศัยเดียวกันได้และได้รับการอบรมถึงวิธีการที่จะดูว่าเริ่มมีอาการผิดปกติอย่างใด ที่ต้องเข้าโรงพยาบาล
2.4 เมื่อมีอาการนั้นแล้ว ต้องมีการนำส่งถึงโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดในเวลาไม่เกินชั่วโมง และได้รับการรักษาทันที เพื่อกันไม่ให้ต้องมีการสอดท่อใส่เครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์ช่วยชีวิตวิกฤตอื่นๆ โดยที่สถานพยาบาลอาจไม่สามารถรองรับได้พอ และอาจใช้เพียงแค่ออกซิเจนธรรมดาเท่านั้น
ด้วยกระบวนการดังกล่าวจะทำให้รอดวิกฤตที่จะทอดระยะเวลาไปยาวนานได้ไม่รู้จบ และทำให้ภาวะระบาดรอบสามเริ่มสงบ
การกักตัวในบ้านล็อกดาวน์โดยไม่ทราบว่าแต่ละคนมีเชื้อแพร่ออกไปได้หรือไม่ เท่ากับเป็นการแพร่ในบ้านเรือนครอบครัวตนเองและจะทำให้สถานการณ์เลวลง
ทั้งนี้ตั้งจากปี 2563 ที่คนติดเชื้อที่ไม่มีอาการไม่ได้หนาแน่นรุนแรงเท่าในปัจจุบันนี้
ถ้าสงบได้ต้องมีการตรวจตราการติดเชื้อให้ได้มากที่สุดทุกคนตลอดเวลาและยังคงรักษาวินัย
และรอวัคซีนรุ่นที่สองที่ต้องครอบคลุมกว้างขวางทุกสายพันธ์ ที่ปรากฏขึ้นแล้วและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต