ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร สั่งการให้ทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลังในการควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยใช้โมเดลจัดการการแพร่ระบาดในจังหวัดสมุทรสาครมาปรับใช้ “ตรวจเชื้อ ติดต่อ คัดกรอง แยกตัว ส่งต่อ และรักษา” เน้นการตรวจเชิงรุก Active Case Finding ที่ระดมตรวจกลุ่มเสี่ยงในชุมชนที่มีการติดเชื้อให้ได้อย่างน้อย 1,000 คนต่อวัน จัดหน่วยเคลื่อนที่และรถเก็บตัวอย่างชีวะนิรภัยพระราชทาน เพื่อตรวจเชิงรุกให้ได้อย่างน้อยทั้งหมด 20,000 คน และดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปทันที คือ แยกผู้ป่วยตามระดับอาการ และส่งตัวเข้าสถานพยาบาลแรกรับ เพื่อส่งไปรักษาตัวต่อ เพื่อจำกัดวงการแพร่ระบาดให้วงเล็กที่สุด พร้อมกันนี้ ยังสั่งให้เร่งระดมการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงคมนาคม และการท่าเรือแห่งประเทศไทย จัดพื้นที่ตรวจเชิงรุกให้กับพี่น้องชาวชุมชนคลองเตยเพิ่มเติม 700 คนต่อวันอีกด้วย
นายกรัฐมนตรียังเผยถึงการสำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑลว่า ขณะนี้มีเพียงพอ แต่ได้สั่งให้ขยายเพิ่มเพื่อรองรับผู้ป่วยอาการหนักในกรณีฉุกเฉิน โดยได้มีการเปิดโรงพยาบาลสนามที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ เพื่อเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นอีก 432 เตียง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังจะมีแผนการบริหารจัดการการดูแลผู้ป่วยอาการหนักที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในการอำนวยความสะดวกให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ดูแลผู้ป่วยอย่างทั่วถึง โดยได้เน้นย้ำหลักการเน้นที่เป็นหัวใจของการจัดการสถานการณ์ทุกอย่างคือ “ต้องทำทุกทางเพื่อลดการสูญเสียให้มากที่สุด”
นายกรัฐมนตรี ยังจัดตั้ง “ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” เพื่อบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้แก้ปัญหาได้อย่างเร่งด่วน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการศูนย์ และมีหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัดในพื้นที่เป็นกรรมการ โดยมุ่งหวังให้การดำเนินการของศูนย์นี้สามารถเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาของจังหวัดอื่น ๆต่อไปได้อีกด้วย นอกจากนั้น เพื่อการจัดการสถานการณ์โควิดในภาพรวมเป็นไปได้อย่างดียิ่งขึ้น นายกรัฐมนตรียังได้จัดตั้ง “คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข” โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีช่วยว่าการสาธารณสุขเป็นที่ปรึกษา พร้อมมีเลขาสภาความมั่นคงเป็นประธาน โดยมีหัวหน้าหน่วยงานด้านกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม เป็นกรรมการ เพื่อให้เกิดการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานฝ่ายปกครอง ในการบูรณาการทั้งด้านบุคลากรและทรัพยากร ทั้ง การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม การตรวจคัดกรอง การควบคุมพื้นที่ และอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉินนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
นายกรัฐมนตรีกล่าวในช่วงหนึ่งว่าการทำงานของทั้งสองคณะ และศบค. ได้มี “คณะปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19” คอยให้คำปรึกษา ซึ่งมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน รวมทั้งมีอาจารย์แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นเป็นกรรมการ เพื่อให้ข้อเสนอแนะตามหลักวิชาการสาธารณสุข และสามารถเชื่อมประสานกับโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้อย่างดีอีกด้วย