กสม.ประสานสปสช.เยียวยาครอบครัวเด็กเสียชีวิต ปมกล่าวอ้างแพทย์วินิจฉัยโรคผิดพลาด

Mummai Media

กสม.ประสานสปสช.เยียวยาครอบครัวเด็กเสียชีวิต ปมกล่าวอ้างแพทย์วินิจฉัยโรคผิดพลาด

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2566 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ระบุว่า เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565 ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ปกครอง ได้พาเด็กชายอายุ 7 ปี ซึ่งมีอาการไข้และอาเจียนเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนครพนม (ผู้ถูกร้อง) โดยแพทย์แจ้งผลการตรวจว่ามีอาการตับอักเสบแต่ไม่รุนแรง จากนั้นแพทย์ได้นำตัวเด็กไปเอกซเรย์และส่งตัวเข้าห้องดูแลผู้ป่วยหนักเด็ก และแจ้งเพิ่มเติมว่ามีอาการไตอักเสบและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจึงต้องให้ยา ต่อมาเด็กมีอาการกระวนกระวายและช็อก แพทย์ได้พยายามกู้ชีพแต่ไม่ตอบสนองและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่ามีภาวะตับและไตอักเสบรุนแรง ประกอบกับกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบร่วมด้วย ผู้ปกครองจึงได้มีหนังสือขอให้โรงพยาบาลนครพนม ชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งโรงพยาบาลชี้แจงว่า เด็กเสียชีวิตเนื่องจากภาวะตับและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัส Coxsackie B5 แม้จะพบได้น้อย แต่มีอาการรุนแรงและมีโอกาสทำให้เสียชีวิต ซึ่งอาการแรกเริ่มอาจคล้ายกับการเจ็บป่วยอื่น ๆ ทำให้ยากต่อการวินิจฉัยรักษา ผู้ปกครองเห็นว่า เป็นการวินิจฉัยโรคผิดพลาดและเด็กไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เป็นเหตุให้เด็กเสียชีวิต จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นกรณีเกี่ยวกับสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขจากรัฐ จึงรับไว้เป็นคำร้อง และได้ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อเดือนมกราคม 2566 เพื่อขอให้ตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือผู้ร้องตามหน้าที่และอำนาจ ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2566 สปสช. ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงสรุปว่า ได้ประสานไปยังผู้ปกครองของเด็ก เพื่อชี้แจงแนวทางการจัดการเรื่องร้องเรียนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ทราบแล้ว และได้ประสานไปยังโรงพยาบาลนครพนม เพื่อให้รวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงเสนอต่อคณะทำงานคุ้มครองสิทธิประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาในประเด็นมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข นอกจากนี้ สปสช. ยังได้แนะนำให้ผู้ปกครองของเด็ก ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เรียบร้อยแล้ว

จากการติดตามความคืบหน้าของเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ไปยัง สปสช. เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ได้รับทราบว่า ผู้ปกครองของเด็กได้ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม และเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 คณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจังหวัดนครพนม มีมติให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวน 320,000 บาท ต่อมา เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 สปสช. เขต 8 อุดรธานี ได้สั่งจ่ายเงินช่วยเหลือแล้ว สำหรับประเด็นมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขของโรงพยาบาลนครพนม สปสช. ได้รวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงเป็นที่เรียบร้อย โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะทำงานคุ้มครองสิทธิประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณา และจะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ปกครองของเด็กทราบต่อไป

กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีนี้ผู้ร้องได้รับการเยียวยาค่าเสียหายในเบื้องต้นแล้ว ขณะที่ สปสช. อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข อันถือเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาแล้ว จึงมีมติเห็นชอบผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีดังกล่าว

“กรณีนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขของหน่วยงานรัฐ มีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาตามกฎหมาย และเป็นกรณีที่ กสม.ได้ประสานการคุ้มครอง เพื่อช่วยให้สามารถคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ร้องหรือผู้เสียหายได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นายวสันต์ กล่าว