“ภูมิธรรม” เป็นประธานพิธีเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยืนยันรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง ย้ำรัฐบาลจะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในสี่ปี

Mummai Media

Updated on:

วันนี้ (15 พฤศจิกายน 2566) เวลา 10.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีมอบหมายรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) เป็นประธานในพิธีเปิดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยมีนายนิกร จำนง ประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทําประชามติ นายวุฒิสาร ตันไชย ประธานอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติ และตัวแทนประชาชนจากกลุ่มต่าง ๆ อาทิ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มแรงงาน กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่ม iLaw เข้าร่วมด้วย

โอกาสนี้ นายภูมิธรรมได้กล่าวขอบคุณทุกคนที่ได้เข้าร่วมประชุมในวันนี้ การประชุมนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า เรามีเจตจำนงที่แน่วแน่ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 เพราะเราเห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 มีข้อจำกัดและก่อให้เกิดปัญหามากมาย และยังมีลักษณะที่เป็นประชาธิปไตยน้อยมาก สิ่งนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลได้ดำริและได้เสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลจะดำเนินการเป็นวาระแรก ในการที่จะทำให้เกิดการทำประชามติรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและเข้าสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้จากการพูดคุยหารือกับคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งมีประเด็นสำคัญที่ได้ตกลงกันคือ เราอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด และจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในสี่ปี ฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งใหม่ควรจะเป็นการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ได้รับการแก้ไขเรียบร้อย นอกจากนั้น เราอยากให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เขียนได้และต้องผ่าน หมายความว่าต้องเป็นฉันทานุมัติที่จะเดินร่วมกันได้ เพราะจะเห็นได้ว่าเมื่อทุกคนได้ร่วมกันเสนอความคิดเห็นตามสิ่งที่ตัวเองคิด ในสิ่งที่ตนเองอยากส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไม่ผ่าน เมื่อไม่ผ่านเราก็จะตกอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับเก่าต่อไป ฉะนั้นเราต้องหาจุดร่วมและเป็นที่ยอมรับให้มากที่สุด พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นให้ทั่วถึง โดยวันนี้เกือบจะเป็นนัดสุดท้ายสำหรับการรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการจากตัวแทนสาขาวิชาชีพต่าง ๆ จากนั้นเราก็จะนำความคิดเห็นที่รวบรวมมาทั้งหมดมาประมวลผลเพื่อทำให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ทุกคนสามารถยอมรับได้

“เชื่อว่าทุกคนมีความเห็นที่เหมือนและแตกต่างกัน ขอให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นให้เต็มที่ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อะไรที่แก้ไขก่อนได้ก็จะดำเนินการแก้ไข แต่จะขอให้ยกเว้นในหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และเชื่อว่าเป็นการยากที่จะดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ ขอยืนยันว่ารัฐบาลมีเจตจำนงที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยอย่างแน่นอน”