โลกที่คนตาดี ยังมองไม่เห็น (ตอนที่ 2)

Mummai Media

Updated on:

เมื่อผมและคุณกฤษณะ ละไลไปกันถึงอาคารผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ

เราได้ให้การต้อนรับMiss  Martine Williamson สตรีตาบอดทั้งสองข้างอย่างสนิท ชาวนิวซีแลนด์  เธอเป็นประธานสหภาพคนตาบอดโลก มีประสบการณ์เดินทางไปครบทุกทวีปทั่วโลกเพื่อขึ้นกล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับการกระตุ้นให้กำลังใจแก่ประชาคมต่างๆในการทำกิจกรรมร่วมกับคนตาบอด

โลกที่คนตาดี ยังมองไม่เห็น (ตอนที่ 2)

วันนี้ Miss Martine เดินทางมากล่าวปาฐกถาในการประชุมสหภาพคนตาบอดโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกที่ภูเก็ต เธอออกบินจาก นิวซีแลนด์บ้านเกิด โดยใช้เวลาบิน 10ชั่วโมงครึ่งแล้วแวะเปลี่ยนเครื่องที่สิงคโปร์ จากนั้นบินต่ออีกเกือบ2ชั่วโมงเข้าถึงสนามบินนานาชาติภูเก็ต

เครื่องถึงสนามบินภูเก็ตช่วงเช้าตรู่ ตรงเวลากับที่ผมและคุณกฤษณะ ละไลบินจากดอนเมืองไปถึงสนามบินภูเก็ตเช่นกัน

ปรากฏว่ากระเป๋าเดินทางใบใหญ่ของ Miss Martine  ไม่ตามมาจากสิงคโปร์ แม้เธอจะไม่แสดงความกังวลออกมามากนัก แต่เราก็สัมผัสได้ว่าเธอต้องไม่สบายใจแน่นอน สอบถามแล้ว ในกระเป๋าที่พลัดหลงไปนั้นมีทั้งเสื้อผ้าและยาประจำตัวที่เธอจำเป็นต้องใช้ทุกวัน

โลกที่คนตาดี ยังมองไม่เห็น (ตอนที่ 2)

เราจึงขอรบกวนให้ทีมเจ้าหน้าที่ของ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน. )ที่มาทำหน้าที่ฝ่ายต้อนรับคณะเดินทางของคนตาบอดจากนานาประเทศที่สนามบินภูเก็ต ให้ช่วยติดตามกระเป๋าของMiss Martine จากสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ให้

(ได้ทราบต่อมาว่ากระเป๋าเดินทางของเธอถูกพบว่ายังตกค้างอยู่ที่สนามบินสิงคโปร์ และสายการบินรับว่าจะรีบส่งขึ้นเครื่องบินลำถัดไปที่จะออกจากสิงคโปร์มาที่ภูเก็ต คาดว่ากระเป๋าควรจะมาถึงที่สนามบินภูเก็ตในช่วงเย็นวันเดียวกัน

(ในเวลาที่ผมเขียนต้นฉบับชิ้นนี้ กระเป๋าเดินทางถูกนำส่งไปถึงห้องพักของ Martine เรียบร้อย)

ด้วยเหตุนี้ ผมและคุณกฤษณะจึงตัดสินใจขึ้นรถตู้ที่จะนำ Miss Martine จากสนามบินภูเก็ตไปส่งยังโรงแรมที่พักเพื่อจะได้ดูแลเป็นเพื่อนเธอไปด้วย

การนั่งรถตู้จากสนามบินภูเก็ตไปยังโรงแรมดวงจิตรีสอร์ท ย่านหาดป่าตอง สถานที่จัดการประชุมสหภาพคนตาบอดโลก เอเชียแปซิฟิก ยังไงๆก็ต้องใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์นานราวหนึ่งชั่วโมงเศษ

ฝนตกเบาๆ และตกยาวๆ ทำเอารถติดตลอดทาง การจราจรเคลื่อนตัวช้า ทำให้เรามีโอกาสสอบถาม Miss Martine ว่าในการเดินทางของเธอไปประเทศต่างๆนั้นอะไรคือบริการการท่องเที่ยวที่เธออยากได้รับมากที่สุด

เธอตอบอย่างชัดเจนว่า สำคัญที่สุดคือ มิตรภาพและความมีไมตรีของคนในพื้นที่

ส่วนในแง่การบริการนั้น เธออยากได้ความปลอดภัยในการเดินเที่ยวในละแวกรอบๆที่พักแรม อยากใช้ประสาทสัมผัสต่างๆรับประสบการณ์ที่มีเสน่ห์ของเมืองนั้นๆ  สิ่งที่จะช่วยได้มาก คือการมีไกด์หรือเครื่องอุปกรณ์เช่นหูฟังอิเล็กทรอนิกส์ที่จะบอกเล่าให้ทราบถึงสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เช่นการไปเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ การไปหอแสดงนิทรรศการ  เธออยากรับรู้สิ่งรอบตัว และเมืองรอบข้าง เธอบอกว่าอย่างที่ผมกำลังสื่อสารอยู่กับเธอนี่แหละ

ที่เธออยากได้รับ  เนื่องจากในการพาเธอนั่งรถผ่านสวนยาง ผ่านย่านการค้า ผ่านอนุสาวรีย์ ผ่านทุ่งโล่ง ผ่านสถานศึกษา  ผมก็จะสาธยายให้ข้อมูลเธอไปเรื่อยๆ ทำให้เธอสามารถหลับตาจินตนาการตามได้เป็นระบบ

โลกที่คนตาดี ยังมองไม่เห็น (ตอนที่ 2)

ผมใช้นิ้วชี้ของผมลองเขียนแผนที่ประเทศไทยลงบนฝ่ามือของเธอเพื่ออธิบายว่าภูเก็ตอยู่ตรงไหนของประเทศไทย  วาดรูปแผนที่ขวานทอง และประเทศเพื่อนบ้านของไทยในแต่ละทิศ ลักษณะอาหารการกินและภูมิประเทศโดยง่ายๆของแต่ละภาคของไทย

โลกที่คนตาดี ยังมองไม่เห็น (ตอนที่ 2)

เหล่านี้ช่วยทำให้เธอมีความสุขกับการรับรู้ข้อมูลผ่านการสัมผัสและการลากเส้นสมมุติบนฝ่ามือของเธอ

เธอกล่าวขอบคุณอย่างพึงพอใจ ซักถามอะไรต่อไปอีกหลายๆอย่างด้วยความตื่นตาตื่นใจ

ในการช่วยพยุงเธอเดินขึ้นลงรถตู้ ผมสังเกตได้ว่าขาเธอไม่มีแรง เธออธิบายว่าเธอเพิ่งประสบอุบัติเหตุหกล้มในบ้านเธอที่นิวซีแลนด์ ทำให้เธอเดินไม่ถนัด เข้าใจว่าคงมีอาการเส้นพลิกที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง

ดีที่ผมยังพอจะมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง จึงสามารถให้เธอถ่ายน้ำหนักมาใส่ที่แขนของผมได้เต็มที่ งานนี้ยิ่งทำให้เราตระหนักว่า ทางลาดมีประโยชน์และปลอดภัย ใช้สะดวกกว่าบันได การมีราวจับที่มั่นคงแข็งแรงจะช่วยให้ผู้ใช้งานสะดวกกว่า ปลอดภัยกว่า

โลกที่คนตาดี ยังมองไม่เห็น (ตอนที่ 2)

เธอก้าวเดินด้วยความยากลำบาก ยิ่งถ้าเจอบันไดหลายขั้น ธรณีประตู พื้นเปลี่ยนระดับบ่อยๆ ผมต้องพากษ์ให้เธอรู้ล่วงหน้าแทบทุกสองก้าว เพื่อให้เธอขยับแข้งขาให้สอดรับกับสภาพพื้นที่

คุณกฤษณะเห็นว่ารถติด และขณะนั้นเกือบเที่ยงวันแล้ว คุณกฤษณะจึงขอเชิญชวนให้เราแวะหยุดรถทานกลางวันก่อนจะฝ่าการจราจรจากด้านเหนือของเกาะภูเก็ตซึ่งเป็นย่านที่ตั้งของสนามบิน ไปสู่โรงแรมที่พักย่านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ ซึ่งต้องแล่นรถอ้อมเกาะ ผ่านภูเขาที่เส้นทางคดเคี้ยว น่าจะต้องใช้เวลาอีกนานพอควร เกรงเธอจะหิวข้าวเสียก่อน เพราะเมื่อเทียบกับเวลาที่นิวซีแลนด์แล้ว เท่ากับประมาณใกล้ทุ่มนึงของเธอแล้ว

เธอพยักหน้ารับไมตรี

โลกที่คนตาดี ยังมองไม่เห็น (ตอนที่ 2)

เราจึงพาเธอแวะทานอาหารแบบติ่มซำภูเก็ต แม้เธอมองไม่เห็นอาหาร แต่เธอก็สามารถตักและจับอาหารรับประทานได้อย่างราบรื่น แสดงว่าเธอจดจำระยะของจาน แก้วน้ำ และกระดาษเช็ดปากที่เราจัดวางไม่ห่างจากตัวเธอ และพามือของเธอให้ไปแตะทุกอย่างๆละหนึ่งครั้งก่อนเริ่มทานอาหารเที่ยงด้วยกัน เธอทานไม่มากนักก็หยุด ปกติเธอจะทานไม่มากนัก แต่ออกปากชมว่าอาหารมีรสชาติดี อร่อย ถูกปาก

ผมอนุมานว่าเธอออกเดินทางจากบ้านที่นิวซีแลนด์มาตั้งแต่เกือบ21ชั่วโมง มาแล้ว เชื่อว่าน่าจะอ่อนเพลียพอควร คงอยากพักผ่อนมากกว่าสิ่งใดละ

คุณกฤษณะและคณะแยกตัวไปถ่ายทำรายการที่จุดอื่นๆ  ผมกับคุณมน ผู้ช่วยคนตาบอดประจำ สว.มณเทียร บุญตัน จึงพาเธอขึ้นรถมุ่งไปยังที่พักโรงแรมกันต่อ

กว่าจะได้กุญแจห้อง พาเปลี่ยนเป็นรถกอล์ฟไฟฟ้าของโรงแรม พาขึ้นลงอาคารหลักที่ล้อบบี้โรงแรมจนไปถึงบันไดขั้นสุดท้ายก่อนไขกุญแจประตูเข้าห้องก็ล่วงไปอีกเกือบ30นาที

โลกที่คนตาดี ยังมองไม่เห็น (ตอนที่ 2)

แต่เมื่อเราส่งเธอเข้าถึงห้องนอนในโรงแรมที่พักแล้ว ผมไม่ลืมที่จะถามเธอว่า เธอจะประสงค์ให้พาเธอเดินคลำทุกฝาผนังของห้องพักหรือไม่ เธอบอดทันทีว่า เป็นคำถามที่ดีมาก เพราะนั่นจะช่วยให้เธอจดจำได้  ว่าห้องนอนมีรูปร่างอย่างไร อะไรอยู่ทิศทางไหนจากทางเข้าและเตียงนอน พาเธอเดินไปเหยียบให้ถึงส่วนของห้องน้ำ ที่ยืนอาบน้ำ สัมผัสให้รู้ตำแหน่งชักโครก แตะคันโยกเปิดปิดฝักบัวน้ำอุ่น แตะอ่างล้างมือ และย้ายผ้าเช็ดตัว ให้มาวางกองบนเตียงนอน  เธอต้องการจะพยายามจดจำว่ามีพื้นเปลี่ยนระดับภายในห้องนอนอยู่จุดไหนบ้างมือจับประตูทางเข้าออกอยู่ตรงไหน ล็อคอย่างไร และสอบถามเธอว่าต้องการให้ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่กี่องศา และเธอขอทราบที่เสียบแผ่นพลาสติกแข็งหรือกุญแจห้องเพื่อทำให้ระบบไฟฟ้าต่างๆของห้องทำงาน ว่าติดอยู่ที่ตำแหน่งใดจากบานประตูเข้าห้อง

ละเอียดอ่อนใช่มั้ยครับ?

หมดเวลาไปกว่า15นาทีเพื่อการพาให้คลำทำความรู้จักห้อง

เราอาจไม่ต้องทำอย่างนี้บริการคนตาบอดทุกคนที่เดินทางมา ถ้าเค้ายังแข็งแรง กระเป๋าเดินทางไม่หาย หรือมีเพื่อนร่วมเดินทางไว้สนทนาปลอบโยน ให้กำลังใจกันและกัันในยามไม่สบายตัว

แต่ผมเลือกทำในระดับเกินมาตรฐาน เพราะเห็นแล้วว่าเธอน่าจะกำลังไม่สู้จะสบายตัวและไม่สู้จะสบายใจ

สิ่งใดที่เราพอเข้าใจได้ ลองเอ่ยปากถามว่าอยากให้เราช่วยพาทำอย่างนั้นอย่างนี้ไหม ถ้าเธอบอกว่าอยากได้ เราก็เพียงแต่ต้อง ‘’ทำเป็น’’

ถ้าทำไม่เป็น ย่อมไม่ทันนึกถาม เมื่อไม่ทันนึกถาม เราก็คงส่งเธอถึงห้องพักแบบบังกาโล ไร้กระเป๋าที่จะผลัดผ้า ไร้หยูกยา ไร้ ชุดนอน ไร้ครีมทา ไร้กรรไกรตัดเล็บ หรืออะไรๆที่ปกติมีใช้ในฐานะข้าวของประจำติดตัวติดกระเป๋า

ถ้าเราทำจนแน่ใจว่าเมื่อปิดประตูแยกย้ายกันไปแล้ว เธอจะอยู่เองตามลำพัง ทำกิจส่วนตัวได้

และในวันถัดมาเห็นเธอขึ้นกล่าวต้อนรับมวลสมาชิกและนั่งเคียงข้างรัฐมนตรีพัฒนาสังคมฯของไทยด้วยชุดเสื้อผ้าของเธอ ใบหน้าสดใส เราก็สบายใจ

สิ่งเหล่านี้นี่แหละครับ คือปัจจัยและความเข้าถึงใจที่สำคัญยิ่ง

โลกที่คนตาดี ยังมองไม่เห็น (ตอนที่ 2)

ทักษะความละเอียดอย่างนี้ ผมเองก็ได้รับถ่ายทอดมาจากมัคคุเทศก์ไทย คุณนัตตี้ นิธิ สืบพงษ์สังข์ ว่าเวลาที่คุณนัตตี้พานักท่องเที่ยวยุโรปที่ตาบอดเดินทางเป็นคณะนับ10คนไปเที่ยวทั่วไทยนั้น คุณนัตตี้ต้องจัดผู้ช่วยไกด์ฝ่ายไทยมาประกบพาแขกฝรั่งเช็คอินเข้าแต่ละโรงแรมในแต่ละจังหวัดในอัตรา ผู้ช่วยหนึ่งคนประกบแขกนักท่องเที่ยวตาบอด2คน

ไม่งั้นถ้าจัดลูกทีมมาน้อยไป แปลว่าแขกจะต้องนั่งคอยจนกว่าจะถึงคิวของตัวในการพาสำรวจทำความรู้จักห้อง

ในบ่ายนั้น ผมออกมาเดินสำรวจดูกิจกรรมที่เจ้าของงานเตรียมสำหรับคนตาบอดนานาชาติที่มาถึงได้มีกิจกรรมทำไปพลาง ก่อนการประชุมในวันรุ่งขึ้น

โลกที่คนตาดี ยังมองไม่เห็น (ตอนที่ 2)

มีการแสดงผลงานและสิ่งประดิษฐ์ที่คนพิการทำขึ้น งานเครื่องมืออ่านและผลิตอักษรหรือภาพนูนต่ำที่สามารถให้คนตาบอดลูบจับ สัมผัสใช้ เครื่องแลปท้อปของคนตาบอด แทบเลตคนตาบอด มีกิจกรรมให้คนตาบอดร้อยลูกปัด พันผ้าหุ้มสายหิ้วกระเป๋าถือ มีจำหน่ายเสื้อผ้าท้องถิ่นภาคใต้ อาหาร ขนมจากกลุ่มท่องเที่ยวชุมชน โดยมีทีมอาสาสมัครวัยเยาว์จากโรงเรียนนานาชาติที่กรุงเทพบินตามเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกแก่คนตาบอดนานาชาติ

และแน่นอน มีน้องแอนนี่ นางฟ้ากู่เจิ้งตาบอดชาวภูเก็ตมาเล่นดนตรีให้ฟังในวันประชุม ชุมชนเมืองเก่าภูเก็ตสนับสนุนและดูแลน้องแอนนี่เป็นอย่างดี

นับเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ มีประโยชน์อย่างดี เป็นบรรยากาศที่น่ารัก

สำหรับการทำนโยบายการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพสำหรับประเทศไทยนั้น

การได้แขกกระเป๋าหนักและดูแลง่ายๆนั้น ใครๆก็ปรารถนา

แต่แขกที่มีกำลังจ่ายนั้น ก็ย่อมคาดหวังความเป็นมืออาชีพของเราที่สูงขึ้น รอบรู้ และลุ่มลึก สามารถให้ประสบการณ์ที่เขาไว้วางใจ

ความสามารถในการรับนักเดินทางต่างชาติที่ตาบอด คาดน่าจะเป็นความท้าทายที่สุดอย่างหนึ่งของระบบการท่องเที่ยวเดินทาง ถ้าไม่นับการขนย้ายผู้ป่วยเข้ามารับรักษานะครับ

ถ้าเราสามารถพัฒนาบุคลากรประจำเมือง ประจำพื้นที่ให้ดูแลแขกต่างชาติและคนไทยที่มีความเป็นพิเศษได้เป็น สถาปนิกวิศวกรท้องถิ่นก็ออกแบบห้องพัก โรงแรม ทางเดินเข้าออกสนามบิน อาคารสาธารณะ  ฟุตบาททางเท้า ห้องน้ำ ลานจอดรถ ที่คำนึงถึงผู้พิการจากต่างภาษาได้ เราก็จะสามารถมั่นใจได้ว่า เราย่อมพร้อมรับใครๆก็ได้ ไม่ว่าจะคนไทยและคนต่างชาติจากต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมจากทั่วโลก

ทางลาด ห้องน้ำ ราวจับ ทางข้ามถนน ป้ายสัญลักษณ์และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ดี จะทำให้ทุกคนใช้งานสะดวกและปลอดภัย ไม่ว่าจะเด็ก ผู้สูงอายุ คนท้อง รถเข็นทารก คนที่ลากกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ นักกีฬาใส่เฝือก

ทำแล้วแม้ยัวไม่มีแขกต่างชาติมาใช้ แต่ก็คนไทยเราเองนั่นแหละ ได้ประโยชน์

ที่เหลือก็คงเป็นเรื่องผู้จัดบริการ  การใส่ใจ อธิบาย ให้ความอบอุ่น ให้ความมั่นใจ ให้ความปลอดภัย ให้ความสะอาดถูกหลักอนามัย และเสน่ห์จากวัฒนธรรมต่างๆที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ของไทย ให้กันและกัน

เท่านั้นเอง

โลกที่คนตาดี ยังมองไม่เห็น (ตอนที่ 2)

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

สมาชิกวุฒิสภา

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

อดีตเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย