ทันทีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระที่ 2-3 วันนี้ ( 27 มีนาคม 2567 )
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊ควันนี้ว่า “ความรัก” ไม่เลือก “เพศสภาพ” ยินดีผ่านร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ดินแดนที่3 ในเอเชีย ที่ผ่านร่างกฎหมายเฉพาะนี้ ต่อจากนี้…ขอส่งไม้ต่อให้ สว.
“เพศ” ไม่ใช่ตัวกำหนด “ความเท่าเทียม” ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของเราทุกคนเท่ากัน ไม่ว่าจะชาย-หญิง หรือ LGBTQ+ ทุกเพศสมควรที่จะได้มีความรัก และมีโอกาสแสดงความรัก บนพื้นฐานสิทธิของกฎหมายสมรสได้
การหมั้น การแต่งงาน การจดทะเบียนสมรส การจัดการทรัพย์สิน การเซ็นต์อนุญาตเข้ารับการรักษา การเป็นผู้แทนทางอาญา การจัดการมรดก และการรับรองบุตรบุญธรรม รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่คู่สมรสชาย-หญิงทั่วไปได้รับ
ถึงเวลาอันสมควรแล้ว ที่คู่สมรสทุกคู่ ควรได้รับสิทธิเหล่านี้เท่ากัน ไม่เฉพาะเจาะจง แค่ชาย-หญิงเท่านั้น รวมถึง “บุพการีลำดับแรก” ในกฎหมาย จะมีสิทธิ และหน้าที่เทียบเท่าบิดามารดา
หลังจากนี้ หากผ่านขั้นตอนการพิจารณาจากวุฒิสภาแล้ว จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศเป็นกฎหมายต่อไป ปีนี้เราคงได้ใช้กฎหมายฉบับนี้กัน“
สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าว ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ได้มีมติเสียงข้างมาก 369 : 10 รับหลักการร่างพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวาระแรก จำนวน 4 ฉบับ ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี, พรรคก้าวไกล, พรรคประชาธิปัตย์ และจากภาคประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายกว่า 10,000 คน
โดยมีเหตุผลว่าจากบรรทัดฐานของสังคมไทยในอดีต ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม เกิดการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เพราะไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน เช่น สิทธิการตัดสินใจรักษาพยาบาล สิทธิมรดก
และสิทธิการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน เป็นต้น จึงเชื่อว่า การสมรสเท่าเทียม จะเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมที่จะยอมรับความแตกต่าง ใช้สิทธิทางเพศของตนเองได้อย่างเต็มที่ และเสริมสร้างโอกาส และความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม และในเชิงเศรษฐกิจ จะช่วยสร้างรายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยว LGBTQ+ ได้ เพราะที่ผ่านมา ประเทศไทย เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย ที่ได้รายได้จากนักท่องเที่ยวกล่ม LGBTQ+ ในภูมิภาคเอเชียกว่า 6,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ.