เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2567 พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คณะสมาชิกวุฒิสภาเช่น นายอภิชาติ โตดิลกเวช อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายธานี สุโชดายน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ศ.ดร.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ร่วมกิจกรรมสนับสนุนงานฟื้นหลักสูตร ‘’โรงเรียนป่าไม้แพร่’’ ที่สถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้จังหวัดแพร่ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ โดยมีพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา เป็นประธานเปิด นับเสมือนการชุบชีวิตโรงเรียนป่าไม้แพร่ให้ฟื้นกลับมาเป็นสถาบันการศึกษา มีกิจกรรมหลักสูตรที่เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนเพื่อรับเป็นเครดิตในระดับปริญญาได้เป็นครั้งแรก หลังโรงเรียนป่าไม้แพร่ของกรมป่าไม้ถูกปิดตัวไปกว่า 30ปี
ทั้งนี้ หลักสูตรที่เปิด นอกจากการเรียนเรื่องการปลูกป่า รักษาป่า การพัฒนาพันธุ์ไม้ป่า การใช้ประโยชน์จากวัสดุที่เก็บได้จากป่ามาทำมูลค่าเพิ่ม เช่นทำถ่านกัมมันต์จากเปลือกไม้ จากฟาง จากขี้เลื่อยแล้ว ยังมีหลักสูตรรุกขกรตัดแต่งกิ่งไม้ การออกแบบผลิตภัณฑ์จากไม้ การตรวจพิสูจน์ไม้ การสกัดสารสำคัญทางชีวภาพจากพืช การเพาะเลี้ยงสัตว์ การบริหารป่าชุมชน การทำสวนป่า การทำฝายในป่า ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้พื้นที่ตั้งโรงเรียนป่าไม้แพร่ได้กลับมามีชีวิตชีวา และสามารถถ่ายทอดความรู้ความชำนาญจากผู้มีทักษะความรู้กระจายให้ผู้มาเข้าหลักสูตรได้หลากหลาย
ในอดีตแต่ดั้งเดิมนั้น โรงเรียนป่าไม้แพร่เคยถูกสร้างมาเพื่อสร้างข้าราชการที่จะบรรจุมาทำงานด้านการทำไม้ การชักลากไม้ ซึ่งเน้นการตัดสางเพื่อเปิดพื้นที่ให้ไม้ป่าสามารถเติบโตให้ลำต้นอ้วนพีมากขึ้น แต่ภายหลังเมื่อทางการไทยเปลี่ยนมาใช้การให้สัมปทานตัดไม้แก่เอกชน จึงปิดโรงเรียนป่าไม้แพร่ไป ปรากฏว่าเอกชนที่ได้รับสัมปทานกลับเน้นการตัดไม้ในพื้นที่ให้หมด เพื่อให้คุ้มค่าการลงทุนที่สุด และยังมักลักลอบตัดไม้นอกเเปลงสัมปทานไว้ด้วย จนเมื่อมาถึงสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หลังพายุไต้ฝุ่นเกย์ทำให้เกิดซุงถล่มไหลลงจากเขา ทับหมู่บ้านที่อยู่ตอนล่างมากมาย
รัฐบาลจึงสั่งเปลี่ยนนโยบายให้ปิดป่าเลิกสัมปทานทำไม้ทั้งหมดนับแต่นั้น โรงเรียนป่าไม้แพร่จึงยังไม่มีเหตุเปิดขึ้นมาอีก จนภายหลังจากปี 2562 มีการแก้ไขกฎหมายให้คนอยู่กับป่าได้ ยกเลิกการห้ามตัดไม้หวงห้าม ทำให้มีประชาชนปลูกไม้มีค่าเพิ่มขึ้นในที่ดินตนเอง แต่องค์ความรู้ในการบำรุงรักษา และการทำไม้เริ่มหายไป ดังนั้น การฟื้นฟูหลักสูตรทักษะการจัดการป่า การดูแลต้นไม้ และสร้างมูลค่าเพิ่มจากป่า จึงเป็นฐานความรู้ที่จะทวีความสำคัญต่อการรักษาและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีคุณภาพได้ดียิ่งๆขึ้นต่อๆไป.