ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การจัดสรรวัคซีนป้องกัน COVID-19” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 7 – 9 มิถุนายน 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,313 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการจัดสรร/กระจาย วัคซีนป้องกัน COVID-19 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่าง ด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับเรื่องที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องในการจัดสรร/กระจาย วัคซีนป้องกัน COVID-19 ในขณะนี้ พบว่า ร้อยละ 28.10 ระบุว่า มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมาก ร้อยละ 33.74 ระบุว่า มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ร้อยละ 7.62 ระบุว่า ไม่ค่อยมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ร้อยละ 16.68 ระบุว่า ไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเลย และร้อยละ 13.86 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความมั่นใจของประชาชนต่อการจัดสรร/กระจาย วัคซีนป้องกัน COVID-19 ในเดือนมิถุนายน 2564 ว่าจะเป็นไปตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 (ศบค.) วางแผนและประกาศไว้ พบว่า ร้อยละ 14.78 ระบุว่า มั่นใจมาก เพราะ ประชาชนบางส่วนที่ลงทะเบียนไว้ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมั่นใจในการทำงานของรัฐบาล ร้อยละ 22.70 ระบุว่า ค่อนข้างมั่นใจ เพราะ วัคซีนทยอยเข้ามาเยอะเเล้ว และมีการกระจายวัคซีนไปตามต่างจังหวัด ศบค. น่าจะทำตามแผนได้ ร้อยละ 39.22 ระบุว่า ไม่ค่อยมั่นใจ เพราะ การนำเข้าวัคซีนค่อนข้างล่าช้า ประชาชนบางส่วนที่ลงทะเบียนไว้ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนตามที่กำหนด โดนเลื่อนนัด และวัคซีนมีการกระจายไม่ทั่วถึง ร้อยละ 22.01 ระบุว่า ไม่มั่นใจเลย เพราะ รัฐบาล และ ศบค. ไม่สามารถทำตามอย่างที่ประกาศไว้ และไม่สามารถหาวัคซีนมาได้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และร้อยละ 1.29 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการอนุญาตให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เช่น อบจ. เทศบาล อบต. กรุงเทพมหานคร เทศบาลเมืองพัทยา) สามารถสั่งซื้อวัคซีนผ่านหน่วยงานของรัฐ เพื่อมาบริการให้กับประชาชนในพื้นที่ พบว่า ร้อยละ 54.23 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ เป็นการกระจายวัคซีนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบเป็นอย่างดี ทำให้เข้าถึงประชาชนได้ง่ายขึ้น ร้อยละ 25.74 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ ประชาชนในท้องถิ่นที่ห่างไกลสามารถมีสิทธิ์ได้รับการฉีดวัคซีนง่ายขึ้น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นน่าจะสามารถจัดสรรวัคซีนได้อย่างทั่วถึง ร้อยละ 6.63 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ กลัวเกิดการทุจริต คอรัปชั่น ไม่โปร่งใส และบางหน่วยงานของท้องถิ่นยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน อาจทำให้ประชาชนได้รับผลเสีย ร้อยละ 12.19 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ งบประมาณท้องถิ่นไม่สมควรมาปะปนกับงบประมาณเรื่องวัคซีน กลัวเกิดการทุจริตระหว่างการจัดซื้อวัคซีน และควรให้หน่วยงานของสาธารณสุขบริหารจัดการอย่างเดียว และร้อยละ 1.21 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนต่อการสื่อสารของ ศบค. เกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 ในขณะนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว (2563) พบว่า ร้อยละ 29.02 ระบุว่า สื่อสารได้ดีขึ้น ร้อยละ 32.90 ระบุว่า สื่อสารได้ดีเหมือนเดิม ร้อยละ 21.48 ระบุว่า สื่อสารแย่ลง ร้อยละ 14.70 ระบุว่า สื่อสารแย่เหมือนเดิม และร้อยละ 1.90 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.76 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.67 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.28 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.66 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.63 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 48.97 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.03 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่างร้อยละ 7.77 มีอายุ 15 – 25 ปี ร้อยละ 14.85 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 19.42 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 35.57 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 22.39 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 94.90 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.20 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.22 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.68 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 22.47 สถานภาพโสด ร้อยละ 73.72 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.12 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.69 ไม่ระบุสถานภาพ
ตัวอย่างร้อยละ 30.24 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 34.80 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.55 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 22.85 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.95 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.61 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 10.05 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 12.11 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.56ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.78 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.76 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 21.78 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 3.27 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 0.69 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่างร้อยละ 21.63 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 26.20 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 21.40 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 9.75 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 4.34 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 5.56 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 11.12 ไม่ระบุรายได้