วันนี้ (7 ต.ค. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “เผยวิสัยทัศน์พลิกเศรษฐกิจไทยผงาดอาเซียน” ในงานสัมมนา ASEAN Economic Outlook 2025
นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า สำหรับตนเองอายุ 38 ปีถ้าอยู่ในวงการที่ทำธุรกิจมาจะไม่มีใครว่าอายุน้อย แต่ถ้ามาอยู่แวดวงการเมืองจะถูกมองว่าอายุน้อยไป แต่ตนเองคิดว่าคนรุ่นใหม่ หากได้รับโอกาสให้ทำงานในทุก ๆ ตำแหน่ง และทุก ๆ วงการ จะมีพลังงาน และมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เข้ามา ขณะเดียวกันจะมีคนรุ่นก่อนคอยสนับสนุน สามารถเป็นที่ปรึกษาได้ จึงอยากให้ประเทศไทยค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ซึ่งขณะนี้เห็นได้ชัดว่าในทุกวงการมีทุกอายุเพิ่มมากขึ้น
นายกรัฐมนตรี เล่าถึงการเดินทางไปร่วมประชุม ACD ที่รัฐกาตาร์ ว่า ถือเป็นครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี ถือเป็นการประชุมที่ไทยเป็นคนริเริ่มเมื่อปี 2545 ผ่านมา 22 ปีแล้ว เป็นการประชุมที่อาศัยหลายประเทศในภูมิภาคมาหารือกัน และจะคอยช่วยเหลือกันอย่างไรได้บ้าง ซึ่งมีความท้าทายต่าง ๆ และเตรียมประกาศว่าประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม ACD ในปี 2568 นี้ และในเวทีนี้ผู้นำแต่ละประเทศให้เกียรติประเทศไทย และได้บอกกล่าวว่าไทยเตรียมการในด้านใดบ้าง ซึ่งพบว่าหลายประเทศต้องการลงทุนกับประเทศไทย เช่น เรื่องของเอไอ เทคโนโลยี โดยต่างประเทศรู้ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสาธารณสุขอยู่ในระดับดี และเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก
นางสาวแพทองธาร ระบุว่า สำหรับกลุ่มประเทศ อาเซียนแล้ว ถือว่าดำเนินการมาถึง 57 ปีแล้ว และมีอายุมากกว่ากลุ่มสหภาพยุโรป หรือ อียู หากย้อนการหารือตั้งแต่ยุค 60 ก็จะเป็นเรื่องของสงคราม แต่เมื่อย้ายเข้าสู่ยุค 90 ก็มาริเริ่มในเรื่องการค้าเสรีให้มากขึ้น จากคำกล่าวที่ว่าให้เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ส่งผลให้เป็นรากฐานมาถึงปัจจุบัน และในยุค 90 เน้นเรื่องการค้าเสรี และได้มีการริเริ่มการประชุมเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปค ทำให้เกิดการค้าเสรีอย่างเต็มรูปแบบ และอาเซียนก็ถ้อยทีถ้อยอาศัย และพึ่งพากัน แต่ขณะนี้การประชุมอาเซียนจะเริ่มขึ้นที่ สปป.ลาว และตนเองจะเดินทางเข้าร่วมประชุมในวันพรุ่งนี้ โดยเตรียมนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลไปบอกกับกลุ่มประเทศอาเซียนว่าจะเดินและทำงานร่วมกับอาเซียนในทิศทางใด ดังนั้น เมื่ออาเซียนมาร่วมกันสามารถหาจุดร่วม ก็จะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ระหว่างกัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเองจะใช้เวทีนี้เป็นเวทีแรกพูดถึงอุดมการณ์และวิสัยทัศน์ของรัฐบาล ใน 4 หัวข้อ โดยประเด็นแรก คือ จีดีพีของอาเซียนมีมูลค่าถึง 3.66 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 119 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มขยายตัวอีกร้อยละ 4-5 ต่อเนื่องทุกปี ดังนั้นอาเซียนจึงเป็นตลาด 1 ใน 5 ของโลก มีประชากรถึง 670 ล้านคน ทั่วโลกจึงเจาะจงมาตลาดนี้ เพราะเป็นตลาดที่สงบสุขและยังเป็นตลาดที่สามารถพึ่งพาได้ในทุกระยะ ไม่ว่าโซนประเทศอื่นจะมีปัญหาแต่อาเซียนยังเป็นโซนที่ปลอดภัยและน่าลงทุนที่สุดของโลก ดังนั้นในเวลานี้จึงต้องปลดล็อดศักยภาพของอาเซียนให้มากขึ้น โดยเฉพาะการร่วมมือของอาเซียน จะต้องสอดคล้องทั้งภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นการค้าการลงทุน การเสียภาษีระหว่างประเทศ และการทำธุรกิจร่วมกัน จึงอยากจะสร้างกระบวนการลงทุนในไทยกับคน 66 ล้านคน แต่รู้สึกเหมือนได้ลงทุนกับทั้งอาเซียน ดังนั้นจึงต้องการสร้างจุดขายและแรงดึงดูดนักลงทุนอย่างหนึ่ง จึงจำเป็นต้องกำหนดรายละเอียด ทั้งการค้าขาย ภาษี การลงทุนที่จะต้องเกิดอย่างต่อเนื่องซึ่งกันและกันทั้งภูมิภาค เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ประเทศไทยจะนำเสนอในการที่สุดพูดคุยกันต่อ
ประเด็นที่สอง อาเซียนเป็นภุมิภาคที่มีความสงบสุข ไม่มีความขัดแย้งระหว่างประเทศ และมีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ยืนยันต้องการส่งเสริมสนับสนุนการลงทุนท่ามกลางความสงบให้กับทุกประเทศ และจากการได้พูดคุยกับอิหร่าน ก็ทราบถึงความตึงเครียด ได้มีข้อเสนอเพื่อช่วยกันพัฒนาความร่วมมือให้มีพลังสามารถไปต่อได้ และย้ำว่าไทยยึดมั่นในกฎหมายสากล และเน้นความสงบสุข และยินดีเป็นตัวกลางเชื่อมต่อเป็นพื้นที่เปิดกว้างให้ทุกคนมาพูดคุยกัน สร้างความสงบสุขของโลกได้ ซึ่งไทยยินดีสนับสนุนอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม สำหรับอาเซียนไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ขึ้น แต่อาเซียนยังสามารถที่จะเกิดการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง เช่น เน้นการลงทุนจากจีนที่ขณะนี้กำลังกระจายตัวลงทุนในอาเซียน เช่น อุตสาหกรรมรถไฟฟ้า การผลิตโซลาร์เซลล์ ขณะที่มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ตั้งกองทุนต่างๆ ในสิงคโปร์ ดังนั้นเมื่อเกิดการลงทุน ไทยอยากให้ลดความยุ่งยากขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อให้เชิญชวนคนทั่วโลกมาลงทุนง่ายขึ้น
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ขณะนี้ทั่วโลกให้ความสนใจเรื่องของเอไอและเทคโนโลยี โดยเฉพาะดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งกูเกิ้ลให้ความสนใจมาลงทุนแล้ว 1 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ และยังมีอีกหลายบริษัทอยากมาลงทุนเรื่องดาต้าเซ็นเตอร์ ขณะเดียวกันไทย กำลังเรื่องเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงการเตรียมพร้อมด้านการผลิตสินค้าขนาดใหญ่ เนื่องจากไทยมีศักยภาพอีกมารองรับเรื่องนี้ และรัฐบาลก็มองว่าหากเกิดการลงทุน ก็จะเกิดการสร้างงาน และมีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้น
ประเด็นที่ 3 คือการเชื่อมระบบคมนาคมขนส่ง ต้องพัฒนาร่วมกันทั้งหมดในอาเซียน รวมถึงท่าเรือต่าง ๆ รัฐบาลกำลังดำเนินงาน ทั้งเรื่องฮับการบิน รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง แลนด์บริดจ์ รวมถึงการเชื่อมท่าเรือของอ่าวไทยและอันดามันเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดผลดีต่อการทำธุรกิจทุกภาคส่วน โดยในการประชุมเอซีดี ยังคงให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ยืนยันว่าไทยมีความพร้อมในการที่จะจัดเก็บอาหาร โดยนำเอไอเข้ามาบริหารจัดการ รัฐบาลจะต้องพัฒนาเรื่องนี้ต่อไป ได้พูดคุยเก็บคลังอาหาร
ประเด็นที่ 4 ปัญหาสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ไทยประสบภาวะก๊าซเรือนกระจก น้ำท่วม และยังมีปัญหาของโคลนที่จังหวัดเชียงราย ที่ได้พบกับตัวเอง ไม่อยากให้เกิดขึ้น และสภาพอากาศปีหน้ามีการเปลี่ยนแปลง ต้องรับมือ ดังนั้นต้องเตรียมแผนในด้านต่าง เช่น การสร้างเขื่อนรองรับอุทกภัยที่จะเกิดขึ้น ไทยให้ความสำคัญกับการลดคาร์บอนเครดิตอย่างจริงจัง และตั้งเป้าหมยประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และใช้พลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง
นายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการประชุมอาเซียนที่ สปป.ลาว ยืนยันจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยได้รับรายงานว่าจะมีการหารือกับประเทศคู่เจรจาถึง 10 ประเทศ หลังจากนี้ต้องทำการบ้านอย่างหนัก จึงฝากขอกำลังใจจากประชาชน โดยการประชุมครั้งนี้จะเป็นการเชื่อมโยงทางกายภาพ กฎระเบียบ ลดกฎระเบียบเพื่อให้การติดต่อง่ายขึ้น และสอดคล้องกันในภูมิภาค และการเชื่อมโยงกับประชาชนไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการท่องเที่ยว การเคลื่อนย้ายแรงงานต้องสะดวกและง่ายขึ้น พร้อมย้ำว่า การอยู่ร่วมกันโดยสามัคคีทำให้มีพลังกว่าการต่างคนต่างทำ