นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงการติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการรับวัคซีนโควิด 19 ว่า ข้อมูลเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2564 มีการฉีดวัคซีนโควิด 19 รวม 9.1 ล้านโดส พบอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงหลังฉีดวัคซีนจำนวน 1,148 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้วเสร็จ 354 ราย อยู่ระหว่างติดตามข้อมูล 794 ราย โดยพบว่า 1.เป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน 67 ราย ทุกรายรักษาหายแล้ว ไม่มีผู้เสียชีวิต 2.การมีปฏิกิริยาร่างกายต่อการฉีดวัคซีน (ISRR) 210 ราย ทุกรายหายเป็นปกติ ไม่มีผู้เสียชีวิต 3.เป็นเหตุการณ์ร่วมที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน 43 ราย และ 4.เหตุการณ์ที่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม 7 ราย
นายแพทย์เฉวตสรรกล่าวต่อว่า การฉีดวัคซีนโควิดในประเทศต่างๆ อยู่ในภาวะฉุกเฉิน เป็นการฉีดเพื่อป้องกันการป่วยหนักและการเสียชีวิต ซึ่งวัคซีนที่นำมาฉีดนั้นผ่านการประเมินความปลอดภัยของวัคซีน เริ่มตั้งแต่ช่วงที่มีการวิจัยแล้ว มีการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับวัคซีนและผู้ที่ได้รับวัคซีนหลอก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบผ่านแล้วพบว่าวัคซีนโควิด 19 ทุกชนิดมีความปลอดภัยสูงมาก อันตรายจากการแพ้ถึงขั้นรุนแรงมีน้อยมาก การเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนมักเป็นเหตุร่วม ทั้งนี้จากข้อมูลของประเทศอังกฤษพบว่ามีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก ทำให้ผู้เสียชีวิตจากโควิดมีจำนวนต่ำ ผู้ติดเชื้อนอนโรงพยาบาลเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ซึ่งการฉีดวัคซีนร้อยละ 25 จะช่วยลดการเสียชีวิต และถ้าฉีดวัคซีนได้ร้อยละ 50 จะช่วยลดการป่วยและป่วยอาการหนัก ดังนั้นขณะนี้ ประเทศไทยจึงเปิดให้ผู้สูงอายุที่ไม่ได้ลงทะเบียนหมอพร้อม on site เข้ามาฉีดวัคซีนได้ตามจุดต่างๆ ที่กำหนดให้มากขึ้น
กระทรวงสาธารณสุขเร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรค ลดป่วยรุนแรง ลดเสียชีวิต
ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค สรุปผลการดำเนินงานฉีดวัคซีน และการกระจายวัคซีนโควิด 19 ว่า วัคซีนที่ประเทศไทยใช้ในขณะนี้มี 2 ชนิด คือ ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า โดยได้รับวัคซีนซิโนแวคตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงมิถุนายนอย่างต่อเนื่อง และได้รับบริจาคสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมตรวจรับ ตรวจสอบคุณภาพเพื่อส่งมอบ (Lot Release) แล้วทั้งหมด 7,475,960 โดส ส่วนแอสตร้าเซนเนก้าได้รับตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์จนถึงมิถุนายน 2564 รวมทั้งหมด 5,489,400 โดส ล่าสุดวันที่ 30 มิถุนายน ได้รับ 846,000 โดส อยู่ในขั้นตอนการกระจายวัคซีน รวมวัคซีนทั้ง 2 ชนิดที่ตรวจรับและกระจายไปจุดฉีดต่าง ๆ ทั้งสิ้น 12,965,360 โดส
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมทางไกลกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป สั่งการเร่งรัดการฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคให้ครอบคลุมในเดือนกรกฎาคม – สิงหาคมนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย จะบริหารจัดการการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเจรจาจัดหาวัคซีนต่าง ๆ มาเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความครอบคลุมและประโยชน์มากที่สุด
ทั้งนี้กรมการแพทย์ย้ำศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อเปิดแบบระบบ On- site เฉพาะผู้สูงอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป ไม่รวมผู้ติดตาม เพื่อลดความแออัดและลดการติดเชื้อโควิด 19 และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้ โดยจะเริ่ม 30 มิถุนายน -18 กรกฎาคม 2564
ทั้งนี้ ผู้สูงอายุ 75 ปีขึ้นไปที่จะมารับบริการฉีดวัคซีน ให้มีผู้ติดตามเพื่อมาดูแลได้ไม่เกิน 1 คนเท่านั้น
วัคซีนโมเดอร์นาได้เร็วที่สุดในไตรมาส 4 ปีนี้
ที่โรงพยาบาลสนามกองทัพบก มณฑลทหารบกที่ 11 เขตหลักสี่ กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ ยังไม่มีวัคซีนชนิดใดที่ครอบคลุมการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 วัคซีนของประเทศไทยที่ประชาชนได้รับการฉีดเป็นวัคซีนที่มีความเหมาะสม สามารถช่วยป้องกันการเสียชีวิตและลดความรุนแรงของโรคได้ มีประสิทธิภาพประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อได้ ซึ่งวันนี้นักวิชาการได้มีการเสวนาความคืบหน้าของวัคซีนที่ใช้ในประเทศที่กระทรวงสาธารณสุข จากการที่จังหวัดภูเก็ตฉีดเข็มแรกให้กับประชาชนครอบคลุม 70 เปอร์เซ็นต์ ได้ทำการวิจัยศึกษาประสิทธิผลของการใช้วัคซีนซิโนแวคในสถานการณ์จริง ได้ผลในระดับที่ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของสากล
ในเรื่องของวัคซีน ทุกคนมีความหวังดีต่อบ้านเมืองต้องการให้มีวัคซีนโมเดอร์นาเข้ามาในประเทศไทยโดยเร็วที่สุด ทางบริษัทที่เป็นตัวแทนวัคซีนโมเดอร์นาในประเทศไทย ได้ชี้แจงว่า สามารถนำเข้าวัคซีนได้เร็วที่สุดในไตรมาส 4 ซึ่งวัคซีนโมเดอร์นาเป็นวัคซีนทางเลือก ที่ภาคเอกชนสามารถนำมาให้บริการกับประชาชน กระทรวงสาธารณสุขได้ขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว และเนื่องจากเป็นวัคซีนภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินบริษัทจะขายให้กับหน่วยงานภาครัฐ รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม เป็นสะพานเชื่อมผู้ผลิตวัคซีนกับผู้ซื้อ หากทุกคนทำตามข้อตกลงการสั่งซื้อก็จะเกิดขึ้นได้
นายอนุทินกล่าวต่อว่า กรณีที่บอกว่าองค์การเภสัชกรรมไม่ยอมเซ็นสัญญานั้น องค์การเภสัชกรรมต้องได้รับการยืนยันการสั่งจองจากสมาคมโรงพยาบาลว่าโรงพยาบาลเอกชนต้องการซื้อเท่าไหร่ จากนั้นแจ้งยืนยันจำนวน และชำระเงินให้กับองค์การเภสัชกรรม เพื่อเป็นสะพานในการเชื่อมต่อในการประสาน สั่งซื้อ องค์การเภสัชกรรมไม่เกี่ยวข้องในเรื่องการที่จะต้องเจรจาหรือสำรองจ่ายเงินให้ก่อน และรับความเสี่ยงต่างๆ หรือจะต้องมีการสละสิทธิ์ในการฟ้องร้องหากมีอะไรเกิดขึ้น โรงพยาบาลเอกชนจะฟ้องร้ององค์การเภสัชกรรมในฐานะผู้นำเข้าวัคซีนหรือเป็นผู้ขายไม่ได้ จึงต้องมีการตกลงเงื่อนไขต่างๆ