ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายวสันต์ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แถลงข่าวประจำสัปดาห์ว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีคำสั่งปิดศูนย์การเรียนรู้มิตตาเย๊ะบางกุ้ง เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ส่งผลให้เด็กลูกหลานแรงงานเมียนมากว่า 1,100 คนต้องหลุดออกจากการเรียนกลางคัน รวมถึงศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าวทุกแห่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และอีกหลายแห่งในพื้นที่อื่นทั่วประเทศต้องปิดตัวลงด้วยความวิตกและหวาดเกรงว่าจะมีการปิดศูนย์การเรียนรู้และดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้เด็กนับหมื่นคนได้รับผลกระทบ
นายวสันต์กล่าวว่า เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าว เมื่อเดือนกันยายน 2567 กสม. จึงได้จัดเวทีรับฟังข้อเท็จจริงและความเห็นจากหน่วยงานของรัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคประชาสังคม รวมทั้งลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนมีมติเห็นควร ให้แจ้งข้อพิจารณาตลอดจนข้อเสนอแนะกรณีดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี สรุปได้ดังนี้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 54 ประกอบพระราชบัญญัติการศึกษแห่งชาติ มาตรา 12 บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปีและมีหน้าที่กำกับ ส่งเสริมและสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมข้อ 13 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 3 ข้อ 28 และข้อ 29 ที่ให้การรับรองสิทธิของเด็กทุกคนให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ
นายวสันต์กล่าวว่า จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลพบว่า สถานการณ์การสู้รบในเมียนมา ความขัดแย้งทางการเมืองและการบังคับเกณฑ์ทหาร ทำให้เด็กชาวเมียนมา โดยเฉพาะลูกหลานแรงงานเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศนับร้อยแห่ง แต่ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับครูนักเรียน รวมถึงรายละเอียดการเรียนการสอน ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคง และความปลอดภัยของเด็ก
“ศูนย์การเรียนรู้เหล่านี้ได้ทำหน้าที่ดูแลเด็กให้เข้าถึงสิทธิด้านการศึกษา และช่วยดูแลเด็กไม่ให้ตกอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด ล่อลวง ชักนำไปในทางที่ผิด หรือเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในด้านหนึ่งจึงเป็นการแบ่งเบาภารกิจของรัฐในการจัดการศึกษา และคุ้มครองเด็กเหล่านี้ การปิดศูนย์การเรียนรู้ จะเป็นการส่งต่อปัญหา เมื่อเด็กหลุดจากระบบการศึกษา มีความเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด เสี่ยงต่อปัญหายาเสพติด อาชญากรรม และการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการค้า การลงทุน เศรษฐกิจของประเทศ และภาพลักษณ์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ” กสม.กล่าว
นายวสันต์กล่าวว่า กสม.เห็นสมควรมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณามอบหมายกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว โดยระยะเร่งด่วน ให้ทบทวนมาตรการการปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าวโดยให้สามารถจัดการเรียนการสอนไปพลางก่อนได้ ระหว่างการขึ้นทะเบียนจดแจ้งตามแนวทางที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตากเขต 2 ดำเนินการจดแจ้งศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว (MLC) ทั้งนี้ ให้มีการสอนภาษาไทยเพื่อการสื่อสารด้วยและดำเนินการให้เด็กในศูนย์การเรียนรู้มิตตาเย๊ะบางกุ้ง และศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ปิดตัวลงไปแล้ว มีทางเลือกที่จะกลับไปเรียนในศูนย์การเรียนรู้เดิม หรือในโรงเรียนที่หน่วยงานในพื้นที่เตรียมการรองรับไว้ให้ โดยให้สำรวจและจัดการให้เด็กได้เรียนภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นวันเปิดภาคเรียน
นายวสัตร์กล่าวว่าระยะถัดไป จัดให้มีกฎเกณฑ์ว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนจดแจ้ง การขึ้นทะเบียนครู และนักเรียน รวมถึงการสอนภาษาไทย และให้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ในการดูแลเด็กทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข และการคุ้มครองสวัสดิภาพให้มีความปลอดภัยและไม่ถูกแสวงประโยชน์ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการช่วยแบ่งเบาภารกิจของรัฐในการจัดการศึกษาและคุ้มครองเด็กกลุ่มดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามระหว่างที่ศูนย์การเรียนรู้มิตตาเย๊ะเด็กนักเรียนต่างด้าวทำอะไรอยู่ที่ไหน นายวสันต์กล่าวว่าเท่าที่ได้รับข้อมูลแจ้งว่า เด็กเกือบ500 คนได้รับการเรียนในระบบศึกษา ซึ่ง กสม.ได้ลงพื้นที่ดูโรงเรียนเอกชนที่นักเรียนเหล่านี้ไปเรียน พบว่ายังมีข้อขัดข้อง ปัญหา และอุปสรรคทั้งในเรื่องของเกณฑ์อายุ และภาษา ทำให้เด็กบางคนถูกปรับไปเรียนชั้น ป.1 และมีความเป็นห่วงกันว่าอาจมีผลกรเทบต่อนักเรียนเดิม
ขณะที่เครือข่ายศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีในฐานะประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร อ.เมือง ศึกษาธิการจังหวัด ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมือง และยังได้ยื่นหนังสือถึงนายมานพ คีรีภูวดล ประธานคณะทำงานพิจารณาศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษาเด็กโยกย้ายถิ่นตามแนวชายแดนและพื้นที่ชั้นในของประเทศไทย คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่าประกาศสํานักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีลงวันที่ 4 กันยายน2567แจ้งว่า “ศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะบางกุ้งอําเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานีจัดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากการะทรวงศึกษาและอยู่ระหว่างการดำเนินคดีตามกฎหมายนั้น ทำให้เด็กข้ามชาติกว่า 2 พันคนขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษา และจากการสํารวจสถานการณ์เข้าเรียนของเด็กในศูนย์การเรียนรู้ต่างๆพบว่า เด็กที่ได้รับเข้าเรียนในระบบการศึกษาของไทยมีจำนวน 116 คน จากจำนวนทั้งสิ้น2,266 คน หรือร้อยละ 5.12 ขณะที่เด็กที่ไม่ได้เรียนมีอยู่ 2,150 คนหรือร้อยละ 94.88
หนังสือระบุว่า ผลกระทบตามมาหลายประการ อาทิ เด็กไม่ได้รับการศึกษาที่ต่อเนื่องการเรียนรู้ และพัฒนาการตามช่วงวัย กรณีเด็กเล็กผู้ปกครองต้องหยุดงานเพื่อดูแลบุตรหลาน กระทบต่อรายได้ของครอบครัวฐานะ เด็กมีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายเมื่ออยู่ตามลําพังจากการสอบถามครู ชาวเมียนมาร์เคยพบว่า มีกรณีเด็กหญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศ เด็กชายไปมั่วสุมยาเสพติดและก่อพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เด็กบางส่วนตัดสินใจไม่เรียนหนังสือต่อและเข้าสู่การทำงานทันที อาจเกิดปัญหาการค้ามนุษย์และ ล่าสุดพบว่ามีเด็กที่หยุดเรียนได้เข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรมเกษตรและประมง
หนังสือระบุว่า แม้ภายหลังการสั่งปิดศูนย์การเรียนฯ สํานักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้มีความพยายามจัดสรรที่ เรียนให้แก่เด็กโดยขอให้โรงเรียนในสังกัดของรัฐและเอกชนช่วยรับเด็กเมียนมาร์เข้าเรียน แต่ข้อเท็จริงในทางปฏิบัติเด็กเมียนมาร์ที่เข้าเรียนในระบบการศึกษาของไทยมีอุปสรรคในการศึกษาหลายประการ อาทิสถานะของเด็กที่ไม่ชัดเจนทําให้โรงเรียนปฏิเสธรับเด็กเข้าศึกษาโรงเรียนมีการวัดความรู้ภาษาไทยก่อนรับสมัครเข้าเรียนแต่เด็กไม่มีความรู้ภาษาไทยไม่สามารถ สื่อสารภาษาไทยได้ โรงเรียนไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมขาดทรัพยากร ขาดการจัดการและขาดครูที่พร้อมจะดูแลช่วยเหลือเด็ก ทัศนคติความเข้าใจของผู้ปกครองและครูชาวไทยทําให้เด็กเมียนมาร์ถูกกีดกันไม่ให้เข้ามาเรียนหรือใช้ชีวิตร่วมกับเด็กไทยในโรงเรียนและมักพบกรณีเด็กถูกบูลลี่ต้องอกจากการเรียนกลางคัน
หนังสือระบุว่า สำหรับข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเร่งด่วน 4 ข้อ อาทิขอให้ทบทวนเพิกถอนคําสั่งปิดศูนย์การเรียนฯและให้เปิดศูนย์การเรียนทุกแห่งชั่วคราวรวบรวมเด็ก ให้กลับเข้ารับการศึกษาในศูนย์การเรียนโดยเร็ว ส่วนระยะปานกลางเสนอไว้ 3 ข้อ อาทิ ให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีแต่งตั้งคณะทํางานประกอบด้วยหน่วยงานด้านการศึกษา หน่วยงานอื่นของรัฐภาคเอกชนศูนย์การเรียนภาคประชาสังคมผู้ ข้อสเนอระยะยาว 2 ข้อคือจัดการศึกษาแบบบูรณาการทางวัฒนธรรม และพิจารณาถอดบทเรียนสภาพปัญหารูปแบบของศูนย์การเรียนเป็นต้นแบบความร่วมมือศูนย์การเรียนรู้ เด็กต่างด้าวMigrant LearningCenter : MLC ระดับประเทศ