“สว.ชีวะภาพ ชีวะธรรม” ประธานกมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา แนะสร้างทีมต่อต้านดินถล่มประจำตำบล จัดมอเตอร์ไซค์วิบาก-ตีเกราะเคาะไม้แจ้งอพยพ พร้อมเสนอรัฐลงทุนด้านการแจ้งเตือนภัย
นายชีวะภาพ ชีวะธรรม สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาศึกษากรณีภาวะน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคเหนือ โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูลประกอบด้วย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย , กรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 5 พ.ย.67
นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้นำเสนอแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม โดยมีทั้งการเตรียมความพร้อมติดตามวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำ และตั้งศูนย์ปฏิบัติการจำนวน 1,794 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถเข้าเผชิญเหตุให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันที นอกจากนี้ยังมีการแจ้งเตือนภัยส่ง SMS ให้ทราบล่วงหน้าและแจ้งเตือนภัยแบบฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์มือถือ
ด้านนายชีวะภาพ กล่าวว่าจุดที่เกิดเหตุเป็นจุดที่ไม่มีสัญญาณของผู้ให้บริการมือถือ โดยเฉพาะจุดที่เกิดดินโคลนถล่มที่อำเภอแม่อายจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ไม่มีคลื่นสัญญาณและมีปัญหาด้านการสื่อสารกับคนบนเขา จึงเสนอให้มีการสร้างบุคลากรที่เรียกว่า เจ้าพนักงานต่อต้านดินโคลนถล่มประจำตำบล จัดอบรมหลักสูตรแจ้งเตือนจนสามารถวิเคราะห์ได้ว่าถึงจุดไหนจะต้องอพยพ โดยรัฐอาจจะต้องมีการลงทุนด้านการแจ้งเตือนภัย เช่นจัดมอเตอร์ไซค์วิบากและอุปกรณ์แจ้งเตือน เช่น การตีเกราะเคาะไม้ เพื่อแจ้งเตือนภัยและอพยพคนในพื้นที่
ขณะที่นายจำลอง อนันตสุข เลขากมธ.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้เสนอแนะให้ กสทช.เข้ามาวางนโยบายแจ้งเตือนภัยและรายงานสถานการณ์ผ่านทางสื่อหลักเหมือนกับในประเทศญี่ปุ่น ที่มีสถานีโทรทัศน์คอยรายงานแจ้งเตือนภัยและถ่ายทอดสดเตือนภัยเรื่องพายุ อัพเดทให้ทราบอยู่มุมจอทีวี ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือกับกรมประชาสัมพันธ์ด้วย
จากนั้น นายอาทิตย์ ศุขเกษม รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ได้นำเสนอมาตรการเชิงรุกเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงและฟื้นฟูการชะล้างพังทลายของดินที่ในจุดที่มีปริมาณมากกว่า 2 ตันต่อไร่ต่อปี โดยการชะล้างพังทลายมีสาเหตุสำคัญมีอยู่ 4 ด้านคือลักษณะทางธรณีวิทยา, ลักษณะภูมิประเทศ,ลักษณะสิ่งแวดล้อม หรือพืชที่ปลูกในบริเวณดังกล่าว เช่น มีการปลูกข้าวโพดและมันสำปะหลังบนเชิงเขาหรือไม่ โดยมีตัวเร่งคือปริมาณน้ำฝนจนเกิดเป็นดินโคลนถล่ม พร้อมเสนอให้มีการผลักดันปัญหาการชะล้างพังทลายของดินให้เป็นวาระแห่งชาติ
ด้านคณะกรรมาธิการได้ตั้งข้อสังเกตพร้อมฝากกรมพัฒนาที่ดินให้รักษามาตรฐานในการออกเอกสารสิทธิ์, การครอบครองที่ดินและการใช้ประโยชน์ โดยขอให้คงไว้อย่าให้ถูกกลืนไป เพราะจะสวนทางกับแนวทางแก้ปัญหาทันทีเพราะทุกวันนี้พบว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์บนภูเขาสูงชัน
นอกจากนี้ยังเชื่อว่าหลังจากคณะกรรมาธิการศึกษาแล้วเสร็จอาจจะผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นกฎหมายการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อป้องกันความลักลั่นในการบังคับใช้กฎหมายบางอย่างบนพื้นที่สูงชัน
“วันนี้มีการผ่อนปรนให้เข้าไปอยู่ได้แต่ไม่ได้มีมาตรการอะไรว่าจุดนี้อยู่ไม่ได้ จากนั้นต้องมีกฎหมายควบคุมการใช้พื้นที่บนภูเขาสูง และต้องมีหน่วยงานสร้างการรับรู้ความเข้าใจ กำหนดเป็นพื้นที่สีแดงเข้มโซนอันตราย เช่น ใครอยู่มีสิทธิ์ตาย ไม่รับผิดชอบ “