ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19)(ศบค.) แถลงผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ยกมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 และการพิจารณาระดับพื้นที่สถานะการย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรที่เป็นข้อสรุปของ ศบค.ชุดใหญ่ หลักคิดเบื้องต้นที่สำคัญ คือ 1.การจำกัดการเคลื่อนย้าย และการรวมกลุ่มของบุคคลเฉพาะพื้นที่ หลายคนคุ้นเคยกับคำว่า “ล็อกดาวน์” 2.กำหนดเวลาการออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว 3.การเร่งรัดมาตรการทางการแพทย์และการเยียวยาให้เร็วที่สุด
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า มาตรการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อย ในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร มีการแบ่งสีของพื้นที่ คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 10 จังหวัดเดิม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสงขลา, พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) จากเดิม 5 จังหวัดปรับขึ้นเป็น 24 จังหวัด, พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) จากเดิม 9 จังหวัด ปรับขึ้นเป็น 25 จังหวัด, พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) จากเดิม 53 จังหวัด ลดลงเหลือ 18 จังหวัด และ พื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) ตอนนี้ไม่มี ซึ่งมีการประกาศทุกจังหวัดตามสี
สำหรับข้อปฏิบัติบังคับใช้เฉพาะ 6 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มข้น อย่างเข้มงวด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร 1.ขอให้มีมาตรการทำงานจากที่บ้าน (work from home) ให้มากที่สุด โดยไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่สำคัญ และการบริการประชาชน 2.ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ปิดเวลา 20.00-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น 3.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และเครื่องดื่ม ธนาคารและสถาบันการเงิน ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีน ซึ่งสามารถเปิดได้ถึงเวลา 20.00 น. 4.ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ห้ามบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน อนุญาตให้ซื้อกลับ เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น. 5.ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค ได้แก่ นวดแผนโบราณ สปา สถานเสริมความงาม 6.ระบบขนส่งสาธารณะปิดให้บริการเวลา 21.00 – 04.00 น. 7.สวนสาธารณะ เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น. 8.ห้ามรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางสังคม ที่ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ การประกอบอาชีพ กิจกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณี เช่น งานศพ จัดได้ ที่รวมกันเกิน 5 คนขึ้นไป
นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นสมควรให้มีการขยายประกาศระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรเป็นคราวที่ 13 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – วันที่ 30 กันยายน 2564 โดยจะมีการนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้
ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้พนักงานควบคุมโรคติดต่อสามารถบูรณาการความรับผิดชอบ หน้าที่อำนาจทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อเป็นการลดอัตราเสียชีวิต ลดปัญหาขาดแคลนทรัพยากรสาธารณสุข เพื่อการกำกับดูแลกิจการกิจกรรมต่างๆ ในการป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ” พญ.อภิสมัย กล่าว
สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมศบค.ในครั้งนี้มาจากหลากหลายทุกกระทรวง อาจารย์แพทย์ โดยมีตัวแทนหลายท่าน เช่น ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ท.นพ.อนุช จิตตินัย ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย วันนี้จึงมีความพยายามตัดสินใจกำหนดมาตรการต่างๆ อย่างรอบคอบ