ศาลรธน. ไม่รับคำร้อง ทักษิณ ล้มล้างการปกครอง ยกหมดทุกประเด็น

Mummai Media

ยกหมดทุกประเด็น ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ทักษิณ ล้มล้างการปกครอง ไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอ

วันที่ 22 พ.ย.67 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กล่าวอ้างว่า นายทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคเพื่อไทย (ผู้ถูกร้องที่ 2) ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ร้องจะใช้สิทธิยื่นคำร้องต่ออัยการ สูงสุดแล้วและอัยการสูงสุดไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ อันทำให้ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้อง โดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ก็ตาม แต่การพิจารณาว่า บุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง จะต้องปรากฏ ข้อเท็จจริงชัดเจนเพียงพอที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมาย และความประสงค์ระดับที่วิญญูชนคาดเห็นได้ว่าน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการกระทำนั้น จะต้องกำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ

ข้อกล่าวอ้างในประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 3 ถึงประเด็นที่ 6 ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง น่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ดังนั้น กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ ไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัยในประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 3 ถึงประเด็นที่ 6

สำหรับประเด็นที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญญูมีมติโดยเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จำนวน 7 คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ เห็นว่า ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำ ของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง.

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน 2 คน คือ นายจิรนิติ หะวานนท์ และ นายนภดล เทพพิทักษ์ เห็นว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทำให้เกิดผล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้

สำหรับคำร้อง ที่นายธีรยุทธ ยื่นมี 6 ประเด็น ประกอบด้วย
ประเด็นที่ 1 นายทักษิณ สั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่นายทักษิณ ให้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ในระหว่างรับโทษจำคุก เพื่อให้ไม่ต้องรับโทษในเรือนจำ ทั้งที่ไม่พบว่ามีอาการป่วยขั้นวิกฤต

ประเด็นที่ 2 นายทักษิณ สั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์แก่อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชา ให้มีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของประเทศไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา

ประเด็นที่ 3 นายทักษิณ สั่งการให้พรรคเพื่อไทย ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมืองของพรรคก้าวไกลเดิม ที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธธธรรมนูญว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ประเด็นที่ 4 นายทักษิณ สั่งการแทนพรรคเพื่อไทย โดยเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมตรี เพื่อหารือการเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่บ้านพักส่วนตัวของนายทักษิณ..

ประเด็นที่ 5 นายทักษิณ สั่งการให้พรรคเพื่อไทย มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล

ประเด็นที่ 6 นายทักษิณ สั่งการให้พรรคเพื่อไทย นำนโยบายของนายทักษิณ ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา