สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬา ห่วงอำนาจการเมืองแทรกแซงเลือกตั้งประธานโอลิมปิคไทย

Mummai Media

สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ แสดงจุดยืน ต่อต้านการใช้อำนาจทางการเมืองเข้ามาแทรกแซง การเลือกตั้งประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยคนใหม่

วันที่ 17 ม.ค.68 สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า จากที่หลายสมาคมกีฬาได้มีความกังวลต่อการเลือกตั้งประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยคนใหม่ ที่อาจจะสร้างความแตกแยก และอาจจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนากีฬาของชาติอย่างมาก โดยเชื่อกันว่าจะมีการใช้อำนาจทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงด้วยนั้น

สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย องค์กรวิชาชีพด้านสื่อสารมวชนการกีฬา ที่ก่อตั้งมายาวนานถึง 60 ปี ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ที่กำลังจะมีขึ้น ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะสร้างอนาคตใหม่ให้กับวงการกีฬาไทย เพื่อก้าวไปสู่ระดับสากลและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ

สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในการประชุมสมัชชาใหญ่สามัญของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยที่จะถึงนี้ จะได้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถเป็นที่ยอมรับ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดทิศทางของการกีฬาประเทศไทย ให้พัฒนาก้าวหน้าต่อไป

จากธรรมนูญข้อบังคับโอลิมปิคไทย หมวด 6 คณะกรรมการบริหาร ที่กล่าวถึงจำนวนของคณะกรรมการบริหารที่มาจากสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย ที่สหพันธ์กีฬานานาชาติ (ไอเอฟ)ให้การรับรอง ซึ่งสมาคมกีฬาดังกล่าวมาจากกีฬาที่มีแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนและฤดูหนาว รวมไปถึงสมาคมกีฬาที่บรรจุแข่งขันในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์อย่างน้อย 2 ครั้ง ให้มีการเลือกตัวแทน 23 คน จาก 37 สมาคมกีฬา เพื่อเข้ามาเป็นกรรมการบริหารนั้น

สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทยขอเรียกร้องให้ทุกสมาคมกีฬาได้ร่วมเข้ามาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหาร มีสิทธิ์เท่าเทียมกันในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพื่อความสมานฉันท์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ปราศจากการแข่งขัน ซึ่งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกสมาคมกีฬา ได้มีส่วนร่วมรับฟังความเคลื่อนไหวในการถ่ายทอดอุดมการณ์โอลิมปิก อันถือเป็นวัตถุประสงค์หลักของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล(ไอโอซี ) โดยไม่รู้สึกโดดเดี่ยวจากกระบวนการดังกล่าวและยังจะช่วยให้วงการกีฬาไทยพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องอีกด้วย

สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย มีความกังวลเกี่ยวกับการนำการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการกีฬา จึงขอเรียกร้องให้การประชุมสมัชชาใหญ่ดำเนินการให้สอดคล้องกับธรรมนูญโอลิมปิก (Olympic Charter) ฉบับล่าสุดในปี 2567 ที่กล่าวถึงพันธกิจของไอโอซี ในข้อที่ 5 “เพื่อสร้างยุทธศาสตร์โอลิมปิกให้มีความเข้มแข็ง เป็นเอกภาพ และปกป้องการแทรกแซงจากภายนอก รวมทั้งรักษาและรณรงค์ความเป็นกลางทางการเมือง ตลอดจนคงไว้ซึ่งอธิปไตยแห่งการกีฬา” และข้อ 11 “เพื่อต่อต้านการใช้การกีฬาและนักกีฬา เป็นเครื่องมือทางการเมืองและการพาณิชย์”

ในข้อเรียกร้องดังกล่าว มีความสอดคล้องกับคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาบริหารงานในโอลิมปิคไทย ที่ต้องมีความสง่างาม ปราศจากเสียงครหาในทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน ด้วยเหตุนี้การตรวจสอบคุณสมบัติอย่างเข้มงวด เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์ และควรให้มีการเสนอตัว แสดงวิสัยทัศน์เพื่อลงรับเลือกตั้ง เช่นเดียวกับไอโอซี แม้ว่าตามธรรมนูญของโอลิมปิคไทย ไม่ได้ระบุไว้ก็ตาม และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนชาวไทย ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒินั้นควรจะกำหนดวาระการทำงาน หรือกำหนดอายุอย่างชัดเจน เพื่อที่จะได้มีการสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาทำงาน และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการมากขึ้น
สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย

ขอยืนยันในเจตนารมณ์ที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์วงการกีฬาไทยให้มีความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเลือกตั้งประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยครั้งนี้จะได้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถโดยแท้จริง ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพื่อนำพาวงการกีฬาไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และจะทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยแห่งการกีฬา ด้วยการติดตามและตรวจสอบการดำเนินการอย่างใกล้ชิด

17 มกราคม 2568
สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย