อนุกมธ.คลัง วุฒิสภา คาดจัดเก็บรายได้ปี 68 ต่ำกว่าเป้า แนะรัฐชะลอใช้งบไม่จำเป็น

Mummai Media

อนุกมธ.คลัง วุฒิสภา คาดจัดเก็บรายได้ 3 กรมหลักปี 68 ต่ำกว่าเป้า หวั่นรัฐขาดดุล-กู้ลำบาก แนะรัฐบาลวางแผนเศรษฐกิจประเทศปี 69 ให้รอบคอบ-รัดเข็มขัด เตรียมรับภาษีทรัมป์เต็มรูปแบบ

อนุกมธ.คลัง วุฒิสภา คาดจัดเก็บรายได้ปี 68 ต่ำกว่าเป้า แนะรัฐชะลอใช้งบไม่จำเป็น

วันที่ 26 พ.ค.68 ที่ห้องแถลงข่าวอาคารรัฐสภา น.ส.ชญาน์นันท์ ติยะตระการชัย สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.)ด้านการคลัง พร้อมด้วยนายศรายุทธ ยิ้มยวน สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการคนที่หนึ่ง และนางรจนา เพิ่มพูน สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมาธิการฯ ร่วมกันแถลงถึงร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 ของรัฐบาล ที่สภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาในวันที่ 28 – 31 พ.ค.68 ว่า การประชุมคณะอนุกมธ.ฯ เมื่อ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมสรรพากร ,สรรพสามิต และศุลกากร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี มาสอบถามถึงความห่วงกังวลต่อร่างพ.ร.บ.งบปราะมาณฯ ฉบับนี้ ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนต.ค. 2567 ก่อนที่เหตุการณ์ต่างๆ จะเกิดขึ้นมากมาย และหากงบประมาณ 3.78 ล้านล้านบาท รัฐบาลยังยืนยันตามเดิม ก็กังวลว่า จะเกิดความสุ่มเสี่ยงในการจัดเก็บรายได้ของทั้ง 3 กรมหลัก ในการจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าแผนที่วางไว้.

น.ส.ชญาน์นันท์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของกรมสรรพากรแม้ช่วงครึ่งปีแรกจะสามารถจัดเก็บได้ตามเป้า แต่ในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะไม่เข้าเป้า เนื่องจากรายได้ตามตลาด และผู้ประกอบการมีความเงียบเหงา รายได้กำไรหายไป 20-30% ทำให้ภาษีเงินได้นิติบุคคล จะต่ำกว่าเป้าอย่างมีนัยยะสำคัญ และประชาชนมีเงินเหลือเก็บเพียง 1.5 เดือน ซึ่งกว่า 80-90% ทำให้ภาคครัวเรือนต้องรัดเข็มขัด และภาษีรัฐ ก็จะเก็บได้ลดลง ส่วนกรมสรรพสามิตนั้น ในช่วงครึ่งปีแรก ปิดได้ต่ำกว่าเป้า และครึ่งปีหลัง ยิ่งจะปิดได้ต่ำกว่าเป้าราว 610,000 ล้านบาท แต่คาดว่า จะสามารถเก็บได้เพียง 538,000 ล้านบาท เพราะจากมาตรการของภาครัฐ และแนวโน้มการบริโภคของประชาชน และกรมศุลกากร ในช่วงครึ่งปีแรก ปิดได้ต่ำกว่าเป้า และครึ่งปีหลัง ยิ่งจะปิดได้ต่ำกว่าเป้าเช่นกัน.

ประธานคณะอนุกมธ.ฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงจาก GDP ของประเทศ ที่สภาพพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ได้ทบทวนตัวเลขเหลือเพียง 1.8% ซึ่งไม่ตรงกับสมมติฐานที่จะโตได้ถึง 2.8-3.3% และยังมีความเสี่ยงจากหนี้ครัวเรือน และสภาพคล่องของครัวเรือน หรือภาคบริโภคมีปัญหา ที่ทุกคนต้องรัดเข็มขัด และเศรษฐกิจภาคการเกษตร ก็ลดลงอย่างมีนัยยะ เพราะปกติประเทศไทยมี GDP จากภาคการเกษตรปีละกว่า 700,000 ล้านบาทต่อปี แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 500,000 ล้านบาท เพราะข้าวในราคาตลาดโลกมีปัญหาลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง รวมถึงยาง และปาล์ม ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของไทย และความเสี่ยงในมาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ ดังนั้น ในปี 2568 ผลกระทบยังไม่เต็มปี แต่คาดว่า ในปี 2569 มาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ จะเกิดผลกระทบเต็มปี โดยเฉพาะมาตรการการกีดกันทางการค้า ต่อ SMEs หรือผู้ประกอบการทั้งด้านเนื้อสัตว์ เนื้อวัว อาหารสัตว์ และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์

“จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเตรียมการ และเตรียมความพร้อมทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างรอบคอบ หรือรัดเข็มขัดงบประมาณประเทศ 3-4% เพื่อให้มีความมั่นคง และหากราคาพืชผลการเกษตรหลัก ที่รัฐบาลจะต้องช่วยเหลือ รัฐบาลก็ควรเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ เพื่อไม่เป็นการชะล่าใจ หรือประมาท และเห็นว่า การวางแผนแบบอนุรักษ์นิยมในสถานการณ์แบบนี้ ถือเป็นหลักการที่ทุกภาคส่วน หรือทุกคนต้องทำอยู่แล้ว ดังนั้น จึงขอให้ทุกหน่วยงานรัดเข็มขัด” น.ส.ชญาน์นันท์ กล่าว

ส่วนรายละเอียดในร่างพ.ร.บ.งบ69 นั้น.ส.ชญาน์นันท์ กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการศึกษาอย่างละเอียด แต่การจัดทำงบ69 เป็นช่วงก่อนที่จะมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น โดยในรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี2569 นั้น พบโครงการที่สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ น้อยมาก ซึ่งอยากเห็นการรัดเข็มขัด รวมถึงการปฏิรูป เปลี่ยน แก้ และปรับ เช่น ในปี2568 ถึงปี 2570 ใช้แทนกันได้ ส่วนงบประมาณที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นอาจจะอยู่ในส่วนของงบกลาง ซึ่งยังไม่เห็นรายละเอียดที่ชัดเจน นอกจากนั้นแล้วในการดำเนินโครงการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลที่ชะลอออกไป ถือเป็นการแสดงสปีริตของรัฐบาล ที่แสดงความเป็นสุภาพบุรุษเพราะยอมถอย และปรับตามงบประมาณที่จำเป็น

อนุกมธ.คลัง วุฒิสภา คาดจัดเก็บรายได้ปี 68 ต่ำกว่าเป้า แนะรัฐชะลอใช้งบไม่จำเป็น