เสวนาจี้ยกเลิก “พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุกคามเสรีภาพสื่อ” เสนอองค์กรสื่อตั้งวอร์รูม-ทำดาต้าตรวจสอบข้อมูลรัฐ

Ittipan Buathong

เสวนาจี้ยกเลิก “พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุกคามเสรีภาพสื่อ” เสนอองค์กรสื่อตั้งวอร์รูม-ทำดาต้าตรวจสอบข้อมูลรัฐ

  • วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม 2564 เวลา 13.00 – 15.00 น. มีการจัดเวทีเสวนาหัวข้อ “หยุดอ้างข่าวปลอม หยุด พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุกคามเสรีภาพสื่อ-ประชาชน”” ผ่านทางออนไลน์ มีการถ่ายทอดสดผ่านเพจสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย https://www.facebook.com/activityoftja/ เพจสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และองค์กรเครือข่าย

จัดโดย 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชน

โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส นายกิตติ สิงหาปัด ผู้ดำเนินรายการข่าว 3 มิติ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ (ผู้ก่อตั้ง Cofact Thailand) นายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว The Standard นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และนายสุปัน รักเชื้อ รักษาการเลขาธิการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ดำเนินรายการโดย นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

เสวนาจี้ยกเลิก “พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุกคามเสรีภาพสื่อ” เสนอองค์กรสื่อตั้งวอร์รูม-ทำดาต้าตรวจสอบข้อมูลรัฐ
สุทธิชัย หยุ่น

เชื่อว่ารัฐบาลไม่พอใจสิ่งที่สื่อทำหน้าที่ขณะนี้ และมองว่าเป็นบ่อนทำลาย ภัยคุกคามประเทศ เพราะรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ ข่าวสารที่ออกมาจากสื่อหลักที่เริ่มจะตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะรับมือได้หรือไม่ได้กับสถานการณ์โควิด ถ้ารับไม่ได้จะต้องเปลี่ยนรัฐบาลหรือไม่ เพราะเสียงเรียกร้องดังขึ้นที่ไม่ใช่เกิดขึ้นจากสื่อ แต่เป็นเสียงที่คนหลายๆกลุ่มๆหลายฝ่าย ทั้งที่เคยสนับสนุนรัฐบาลก็เริ่มมาบอกว่าไม่ไหวแล้ว

“แต่สื่อก็เป็นแพะที่สะดวกที่สุดในประวัติศาตร์การเมืองไทย เพราะนี่เป็นสงครามโรคระบาดที่ใหญ่กว่าสงครามโลกครั้งที่สอง ที่คนไทยและสื่อควรรับทราบคือ โควิดจะอยู่ยาวนานกว่ารัฐบาลชุดนี้ อาการที่เห็นอยู่นี้เป็นอาการที่ดิ้นรนเพื่อรักษาความชอบธรรม เมื่อเห็นข่าวสารที่ตั้งคำถามแล้วตอบไม่ได้ สื่อเริ่มจับผิดนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หน่วยราชการ ถูกจับผิดมากขึ้น เมื่อ 2 เดือน 3 เดือนพูดอย่างนี้ แต่วันนี้พูดอย่างนี้ และมีความล้มเหลวในการบริหารมากขึ้น และส่วนใหญ่สื่อหลักไม่ได้ออกมาเล่นงานหนักเท่าโซเชียลมีเดีย แต่รัฐบาลก็จับแพะตัวใหญ่ก่อนคือสื่อ”

แต่เมื่อมีดารา คนดัง คอลเอาท์ คนรอบข้างนายกต้องการเอาใจนายก ว่าคนที่ออกมาคือคนที่อยู่คนละข้างกับนายก ฉะนั้นควรระงับตรงจุดนั้น รวมทั้งยังมีบรรดาหมอ นักวิชาการก็โดนเตือนก่อนหน้านี้ ทั้งหมอหน้างานที่เจอภาวะจริงๆ ที่สะท้อนปัญหาผ่านโซเชียลมีเดีย สื่อที่ไปทำหน้าที่หน้างานจึงรายงานตามนั้น 

ผมคิดว่านี่คือสงครามที่ชัดเจนว่าผู้บัญชาการที่ประชาชนให้อำนาจไปบัญชาการมองว่าคนที่อยุู่คนละฝั่งคือปัญหา อาการที่เกิดกับสื่อนั้นเป็นเพียงอาการ แต่ความจริงคือการแตกแยกของรัฐบาลเอง และวิธีคิดแบบระบบราชการที่ไม่ตอบโจทย์โรคระบาดครั้งนี้ได้ เพราะโควิดเป็นศัตรูที่มองไม่เห็น มันแพรวพราว แปลงร่างกลายพันธุ์ นายกเป็นทหารมาก่อนไม่เคยสู้รบกับศัตรูแบบนี้มาก่อน ข้าราชการก็เช่นกัน ขนาดของสงครามทั้ง โรคซาร์ อีโบล่า ไม่เหมือนโควิดที่เป็นสงครามใหญ่ ดังนั้นแพทย์เขาต้องการยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าทำอะไรอย่างไรและมีอาวุธให้เขาอย่างไร

ประกอบกับนักการเมืองทุกพรรคเราไม่มีวิสัยทัศน์พอ ไม่มีประสบการณ์ทำสงครามกับวิกฤติขนาดนี้ Mind set ของนายก และข้าชการ ยังคิดแบบเดิม ยังคิดเหมือนเดิมหมด เพราะนี่คือสงครมม คือ วิกฤติ วิธิคิดไม่เปลี่ยนเลย แต่กลับมองว่าใครเป็นคนทำให้เรามีปัญหาก็คือสื่อ ที่ตั้งคำถาม แต่ผมมองว่าไม่ใช่แค่สื่อหลัก เพราะมีทั้ง สื่อโซเชียล หมอ นักวิชาการ ที่เขียนลงโซเชียล เฟซบุ๊ก ดังนั้นไม่ใช่แค่นักข่าว นักหนังสือพิพม์ แต่ยังมีคนรู้จริง ที่เขียนวิเคราะห์ วิจารณ์ ได้ตรงประเด็นมาก สื่อเราแค่ไปอ้างอิงเขามาเสริมเท่านั้น

มองว่ารัฐบาล ไม่มี วอร์รูม คนที่รู้จริงไม่มี การใช้อำนาจคือพรก.ฉุกเฉิน ก็ไม่มีประสิทธิภาพ หมอคือนักวิทยาศาสตร์ หมอเจอกับฝ่ายทหารนั่งหัวโต๊ะคือเลขาสมช ที่คิดแบบทหาร แต่ต้องสู้รบกับเชื้อโรคมหาศาล ถามว่าคุณใช้วิทยาศาสตร์เพียงพอในการจัดการหรือไม่ เพราะเชื้อโรคไม่ได้กลัวปืนใหญ่ รถถัง เรือดำน้ำ และการยึดอำนาจกฎหมาย 30 ฉบับมาไว้ที่ตัวเอง ก็ยังเป็นอาวุธเก่า แต่อาวุธของหมอที่ต้องการให้รัฐบาลปรับคือ การใช้วิทยาศาสตร์ และการวิเคราะห์วิจัย

“ส่วนอาวุธของสื่อคือข้อเท็จจริงและความน่าเชื่อถือ เราไม่มีอาวุธอย่างอื่น อาวุธนี้จะทำให้ให้ประชาชนเห็นว่าเราทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหน แน่นอนว่าเป้าของพรก.ฉุกเฉินของเขาอาจจะไม่ใช่สื่ออย่างพวกรา แต่หมายถึงทั้งประเทศ นักวิชาการ หมอ หมอชนบท หมอเกษียณ อาสาสมัคร ที่ขึ้นภาพคนนอนตายที่บ้าน ที่ทำให้นายกรัฐมนตรีและครม.หวั่นไหวจริงๆ แต่ถามว่าใครจะเป็นคนรับกรรมตรงนี้ก่อน ก็ตกมาที่สื่อก่อน”

ข้อเสนอถึง 6 องค์กรสื่อ คือ ต้องรุกคืบในแง่วิชาชีพต่อ อยากเห็นองค์กรสื่อในการรวมตัวกันเป็น “วอร์รูม สงครามข่าว” เพราะในสงครามโลกครั้งที่สอง และสงครามอ่าวเปอร์เซีย สื่อต้องนำความจริงมาบอกประชาชนให้มากที่สุด แต่ในทางการทหารต้องปกปิดข่าวร้ายมากที่สุด  องค์กรสื่อต้องทำหน้าที่ในภาวะสงคราม มีกลไกดาต้าข้อมูล ให้มี Fact check รัฐบาล เหมือนที่สมัยโดนัลทรัมป์ ที่ทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อเอมริกัน ชี้หน้าด่าว่าเป็นเฟคนิวส์ ที่คนฟังบ่อยๆ ฟังทุกวันคนจะเชื่อว่าสื่อนั้นๆคือเฟคนิวส์

“อยากเห็นองค์กรสื่อตั้งหน่วยกลาง จับมือกับสถาบันวิจัย รวบรวมข้อมูลตรจสอบ โดยที่ประชาชนตรวจสอบมาที่ราได้ องค์กรสื่อต้องรวบรวมสรรพกำลัง ถ้าต่างคนต่างทำจะไม่มีพลังเพียงพอ  นี่หมายถึงการดูแถลงข่าวประจำวันของรัฐบาล ในการเจาะลึกรัฐบาลด้วย ต้องลึก ละเอียด มีเอกสารประกอบ  จะทำให้ประชาชนเห็นว่าสื่อกำลังช่วยเราทำงาน ไม่ใช่เพียงแเค่เอาไมค์ไปจ่อ ตัวเลขศบค. เท่าไร ต้องเป็นองค์กรสื่อที่เป็นกลุ่มก้อน ปรับภูมิทัศน์ในการทำงาน มากกว่าเป็นสถาบันสื่อ เราต้องมีข้อมูลดาต้า มีข้อมูลที่เราตรวจสอบเอง ประกบกับข้อมูลที่รัฐบาลออกมา”

ต้องทำอะไรที่มากกว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ไหนอย่างไร เป็นการบ้านที่ฝากถึงองค์กรสื่อในการสร้างความน่าเชื่อถือ ความจริงจะทำให้เราคิดใหม่ทั้งหมด ทุกคนเป็นนักข่าวได้ แต่นักข่าวที่เป็นมืออาชีพคือองค์กรสื่อ ที่สู้มาทุกยุคทุกสมัย ทุกครั้งเราก็โดนภัยคุกคามแบบครั้ง หลายครั้งเจอวิกฤติเราก็ไม่เคยแพ้ ผมก็เชื่อว่าครั้งนี้เราไม่แพ้ ความเป็นมืออาชีพเท่านั้นที่้เราจะฟันฝ่าสิ่งเหล่านี้ ถ้าเราตรวจสอบข่าวที่ออกมาทุกชิ้นที่ออกมาจากรัฐบาล โซเชียลมีเดีย จะสร้างความน่าเชื่อให้กับเรา

เสวนาจี้ยกเลิก “พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุกคามเสรีภาพสื่อ” เสนอองค์กรสื่อตั้งวอร์รูม-ทำดาต้าตรวจสอบข้อมูลรัฐ
กิตติ สิงหาปัด

เราไม่ได้อยู่ในหัวใจของผู้ออกระเบียบว่าเขาคิดอย่างไร แต่ผมตีความว่า ไม่จำเป็นในการออกกฎหมาย และมองว่าเป็นการออกมาไม่แยกแยะ และหลายเรื่องสะท้อนความคิดลึกๆของรัฐบาลหรือไม่ จริงอยู่ทุกคนเป็นสื่อหมด แต่สื่อเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในกฎหมาย 

เขาไม่ได้เข้าใจจิตวิญญาณวิชาชีพสื่อมวลชน ที่เป็นอาชีพเฉพาะ มีกรอบจริยธรรม มีความคิดที่เป็นอีกแบบหนึ่ง คุณจะเทียบนักข่าวกับโจรได้อย่างไร เพราะจะมีการนำไปตีความกลั่นแกล้งกันเต็มไปหมด เขาจะเอาภาพสื่อไปปนกับคนที่โจมตีรัฐบาล คิดว่าเป็นการออกกฎหมายมาไม่แยกแยะ เพราะจะคลุมหมด

“เราเป็นสื่อหวงแหนความน่าเชื่อถือจะตายไป เราจะรายงานเฟคนิวส์ให้มีปัญหาไปทำไม  ขอให้ทบทวนและเข้าใจจิตวิญญาณ อย่าเอาคนที่เขาทำสื่อสุจริตไปปนกับคนที่คุณมองเห็นหน้าเขาว่าเขาโจมตีคุณ”

อย่างไรก็ตามยืนยันเราไม่ได้หากินกับเฟคนิวส์อยู่แล้ว แต่ปัญหาที่จะตามมาคือการนำไปสู่การตีความ การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เพราะเมื่อมีคำว่า “กระทบกับความมั่นคงของรัฐ” เมื่อไร จะมีคนตกเป็นเหยื่อเสมอ ขอให้องค์กรสื่อติดตามเรื่องนี้ต่อไป 

ยืนยันว่า แนวทางที่ทำข่าวเสมอ คือการรายงานแบบรับผิดชอบ ไม่ได้หากินกับดราม่าของข่าว เพิ่มสีสันเพิ่มดีกรี คือให้ความจริงพูดด้วยตัวของมันเอง เราต้อง อธิบายเพิ่มบริบทของการรายงาน เวลาเข้าถึงข้อเท็จจริงได้ยาก วิธีแก้ปัญหาของผม คือให้นักข่าวลงพื้นที่ เพราะเป็นข้อมูลปฐมภูมิที่ดีที่สุด คุณจะชอบหรือไม่ไม่รู้ แต่นักข่าวเราเห็นมา เราไม่ได้ใส่อารมณ์ แต่นั่นคือข้อเท็จจริงที่เราจะใช้ในภาวะวิกฤติ

“ผมเห็นด้วยกับสมาคมวิชาชีพ เพราะผมเป็นคนหนึ่งในประชาคม ผมเห็นด้วยกับความพยายามในเรื่องที่จำเป็นเวลามีวิกฤติ ยืนยันว่าเรามีจริยธรรมจรรยาบรรณในการนำเสนอ การเลือกข่าวเราอยู่บนประโยชน์สาธารณจริงๆ เราไม่เลือกข่าวที่ไม่มีประโยชน์ หลักที่เรายึดถือ คือเราทำงานด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ยโสโอหัง ไม่ได้วิเศษมาจากไหน เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่เมื่องานเราทำออกไปแล้วมีผลกระทบ ก็ต้องพร้อมรับฟังและน้อมรับคำติชม หรือวิจารณ์ ถ้ารัฐบาลเข้าใจหลักอันนี้ก็ไม่ต้องมีกฎหมายพิเศษควบคุมบังคับ เพราะเรามีจริธรรมของเราที่ต้องเดินตามอยู่แล้ว” 

เสวนาจี้ยกเลิก “พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุกคามเสรีภาพสื่อ” เสนอองค์กรสื่อตั้งวอร์รูม-ทำดาต้าตรวจสอบข้อมูลรัฐ
นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

การจะจับหรือจะปิดสื่อปัจจุบันยากมาก เพราะประชาชนสนับสนุนสื่ออยู่ แต่การออกกฎหมายมาแบบนี้คือข่มขู่ เพราะรู้ว่าตัวเองกำลังเพลี้ยงพล้ำ เพราะการควบคุมข้อมูลทางทหารคือให้คนเชื่อข้อมูลจากรัฐเท่านั้น จึงเกิด IO (ไอโอ) การควบคุมความจริงได้ คือการสั่งการให้เกิดน่าความเชื่อถือให้ตัวเองได้ 

นอกจากนี้คำว่าเฟคนิวส์ ยังมีคำนิยามไม่ตรงกัน เคยไปศึกษงานที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งทรัมป์ เป็นคนหนึ่งที่ทำให้ เฟคนิวส์ เป็นความจริง คือการชี้หน้าด่านักข่าว CNNว่าคืเฟคนิวส์ อะไรที่ตรงข้ามกับเขาคือเฟคนิวส์หมด  เป็นการบิดคำนิยามว่าคำว่าเฟคนิวส์ คือคนที่ตรงข้ามกับเรา คิดไม่เหมือนกับเขา

ความหมายจริงๆ ที่ผมศึกษามาคือ คำว่า fault ไม่เหมือน fake ที่เกิดขึ้นได้กับสื่อ แต่สื่อก็จะโดนตัดสินคือรับกรรมที่ทำลงไป แต่เราไม่ได้มีเจตนาแบบนี้  ส่วนที่นายกโพสต์เฟซบุคว่าชดเจนว่า อะไรที่เป็นข้อมูลข่าวสารกับสื่งที่รัฐต้องการนำเสนอคือ เฟคนิวส์ รวมทั้ง รมว.ดีอีเอส ที่ตีความคล้ายๆกัน ที่จ้องการใช้คำว่าเฟคนิวส์ในการโจมตี 

ผมถามกลับว่า อย่างเช่น การที่รัฐนำเสนอข้อมูล เช่น จะได้วัคซีนแอสตราแซเนเก้า 10 ล้านโดส แล้วทำไม่ได้ตามเป้า ถามว่านั่นถือเป็นเฟคนิวส์ได้หรือไม่ หรือ รมต.คนหนึ่งบอกว่ากรกฎาคมคนไทยจะมีวัคซีนเต็มแขน จะเรียกว่าเฟคได้หรือไม่

“ยืนยันว่าสื่ออยู่บนฐานข้อมูลข้อเท็จจริงเสมอ กองทัพข้าศึกมาอยู่หน้าประตูแล้ว ไม่มีใครปฏิเสธว่ามันคือศัตรู ที่เป็นข้อเท็จจริง สื่อทำตรวจสอบและเตือนว่าผิดพลาดตรงไหนอย่างไร ที่ไมได้ทำหน้าที่นำเสนออย่างที่รัฐต้องการ เพราะเขามีกรมประชาสัมพันธ์อยู่แล้ว และสิ่งที่กังวลกับกฎหมายฉบับนี้คือ กับประชาชนทั่วไปที่เอินฟลูเอ็นเซอร์ ที่กลัวว่าจะโดนอุ้มไหม เพราะกฎหมายกินความเป็นถึงตรงนั้นตามที่นายกรัฐมตรีโพสต์แล้ว”

ภาวะโรคระบาดเปลี่ยนตลอดเวลา มีความรู้ใหม่ตลอดเวลา สื่อต้องลดอีโก้ลงเพราะมีข้อมูลใหม่ตลอดเวลา จากนักวิจัยก็ข้อมูลไม่เหมือนกัน ภาครัฐก็มีวิกฤติในการสื่อสาร ที่ทุกคนเห็นอยู่แล้ว มองเห็นถึงการไม่ลงรอยกันข้างใน สิ่งที่ต้องทำ คือรัฐต้องเลิกมองสื่อเป็นคู่ขัดแย้ง เพราะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง 

“รัฐบาลต้องโปร่งใส เปิดเผย ตรวจสอบได้ ถ้าเปิดเผยไม่ต้องกลัวเฟคนิวส์ ไม่ต้องหมกเม็ด เรื่องวัคซีน เรื่องเตียง เรื่องโรค สื่อก็ดึงข้อมูลกลางนั้นมานำเสนอ  รวมทั้งต้องสื่อสารตรงไปตรงมาชัดเจน เราอยู่กับโควิดมาสองปีแล้ว ถ้าดูประเทศอื่นเขาอาจจะล้มมาก่อนเรา แต่เขาลุกมาก่อนเรา สิ่งที่น่ากังวลตอนนี้คือเราอาจตกขบวนในการฟื้นตัว ไม่ใช่เวลาที่มองว่าใครคือคู่ขัดแย้ง แล้วชี้หน้าว่าใครคือเฟคนิวส์ อยากให้มองภาพใหญ่ ว่าเราคือส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาทั้งหมด ภาครัฐคือต้นทาง ถ้าต้น่ทางบอกว่าสื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา แล้วช่วยกันแก้ไขปัญหา เราเข้าใจว่าเหตุการณ์ใหญ่และยาก ทุกประเทศเขาก็ต้องทำงานร่วมกัน ถ้าเรายังไม่มองภาพใหญ่ ยังมองไม่เห็นตั้งแต่ต้นทาง อาจจะไม่เกิดผลดีทั้งหมด สื่อยินดีที่ช่วยทำเรื่องตรวจสอบข่าวบิดเบือน แต่ไม่ยินดีที่มองเราเป็นคู่ขัดแย้ง และไม่ทำให้ภาพรวมทั้งหมดเดินไปข้างหน้า เพราะสื่อไม่ใช่คู่ขัดแย้งของฝ่ายใด”

เสวนาจี้ยกเลิก “พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุกคามเสรีภาพสื่อ” เสนอองค์กรสื่อตั้งวอร์รูม-ทำดาต้าตรวจสอบข้อมูลรัฐ
สุภิญญา กลางณรงค์ 

คำว่า เฟคนิวส์ หลายองค์กรระหว่างประเทศ ไม่อยากให้ใช้ เพราะมีอดีตผู้นำนำมาใช้ดิสเครดิสสื่อ แต่ความจริง cofact เราใช้คำว่า misinformation กระทรวงที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันว่า โรคระบาดกับข้อมูลข่าวสาร การรับมือที่ดีคือข้อเท็จจริงสำคัญที่สุด การปกป้องตัวเองที่ดีคือการไม่ปิดตาจากความจริง เพราะเป็นยุคที่ไม่ควรปิดบังความจริงจากยุคนี้

อะไรที่จะมาช่วย คือคือว่า free press ถ้าสังคมไม่มีเสรีภาพในการสื่อสารจะทำให้การโกหกเป็นข้อมูลหลัก ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใด ถ้าสังคมไม่มีเสรีภาพจะได้ฟังข้อมูลจากฝ่ายรัฐฝ่ายเดียว

บรรณาธิการสำนักข่าว AFP เคยพูดว่า โควิดเป็นเรื่องใหญ่ ทุกสื่อผิดพลาดได้ทั้งสิ้น แต่สื่อก็ต้องเพิ่มศักยภาพด้วย เพราะปัจจุบันต้องแปลข่าว สรุปข่าวอย่างรวดเร็ว อาจจะต้องลงทุนด้านอินฟอร์เมชั่นมากขึ้น ให้งบในการศึกษาค้นคว้า ในการแก้ปัญหาระยะยาว 

ส่วนการที่รัฐใช้กฎหมาย มองว่าไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหา ถ้าปิดกั้นให้สื่อนำเสนอ จะส่งผลกับชีวิตของคนได้  อย่างไรก็ตามสิทธิเสรีภาต้องอยู่บนความรับผิดชอบ ที่รัฐบาลทำได้คือการทำ Open data ในระยะยาว เพราะอย่างเช่นเรื่องวัคซีน ถามว่าจะเช็คข้อมูลจากไหน คนจำขื่อเว็บไม่ได้ จำสายด่วนก็ไม่ได้ นั่นเป็นประสิทธิภาพในการให้ข้อมูลของรัฐ 

และนอกจากนี้สุดท้ายแล้วก็ยังมีกฎหมายปกติในการดำเนินการกับสื่อ อาทิ พ.ร.บ.คอม กฎหมายหมิ่นประมาทฯ ไม่จำเป็นต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกฉิน เพราะสื่อไม่ใช่อาชญากร อย่าเสียเวลาในการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ส่วนสื่อเองก็ต้องระวังพาดหัวมากขึ้น ช่วยลดดราม่าลงได้ และรัฐต้องนำข้อเท็จจริงมาโต้แย้ง แล้วให้ประชาชนตัดสินว่าควรจะเชื่อใคร

เสวนาจี้ยกเลิก “พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุกคามเสรีภาพสื่อ” เสนอองค์กรสื่อตั้งวอร์รูม-ทำดาต้าตรวจสอบข้อมูลรัฐ
ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี

พ.ร.กฉบับนี้ หายไป 3 เรื่อง คือ 1. จากที่เกี่ยวกับข่าวโควิดเท่านั้น 2.ต้องเป็นข่าวที่ไม่เป็นความจริงเท่านั้น และ3.ต้องมีการเตือนก่อน ขอให้ระงับก่อน จึงจะดำเนินการ ที่หายไป 

การออกแถลงการณ์ฉบับแรกจึงขอความชัดเจนภาครัฐ จากนั้นมีการทวงถามในที่ประชุมที่ศบค.ที่มีการเชิญสื่อไป ที่มี เลขาสมช. เป็นประธานการประชุมและรับปากว่าส่งเรื่องให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แล้ว แต่ไม่มีคำตอบ จนกระทั่งมีนายกรัฐมนตรีโพสต์เฟซบุค 

“แสดงว่าที่ส่งเสียงไปไม่ได้ยิน หรือได้ยินแต่ไม่สนใจอะไร จึงมีแถลการณ์ออกมา เพราะแสดงว่าไมได้เกิดจากความผิดพลาดที่ลืมใส่ข้อที่หายไป แต่เป็นการตั้งใจตัดข้อความ 3 เรื่องนั้น และต้องการทราบว่ามีเจตนาอะไรกันแน่”

มองว่าเรื่องที่รัฐสื่อสารผิดพลาดเอง ที่ผ่านมารัฐไม่เคยยอมรับว่าคือข้อผิดพลาดจากตัวเอง แต่มองว่าฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐเป็นปัญหา ดังนั้นสิ่งที่จะทำต่อคงจะดำเนินการกดดัน ทักท้วง ทวงถาม เพราะเป็นภาระหน้าที่องค์กรสื่อ ในการรณรงค์ จัดโฟโต้เฟรม จัดเวทีเสวนา โดยจะเชิญอินฟลูเอ็นเซอร์มาพูดคุยกันในผลกระทบสิทธิการรับรู้ 

ส่วนข้อเสนอการมีวอร์รูมตามข้อเสนอของคุณสุทธิชัย หยุ่น นั้นมีการทำอยู๋แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้เต็มรูปแบบมากนัก ซึ่งจะต้องมีการยกระดับมากขึ้น เพราะต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้นด้วย

เสวนาจี้ยกเลิก “พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุกคามเสรีภาพสื่อ” เสนอองค์กรสื่อตั้งวอร์รูม-ทำดาต้าตรวจสอบข้อมูลรัฐ
มงคล บางประภา

ยืนยันในหลักของเสรีภาพที่ทุกฝ่ายต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และปัจจุบันเสรีภาพได้เบ่งบานในสังคมไทยและโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในการเข้าสู่ประชาธิปไตยทางตรง เพราะประชาชนสามารถส่งเสียงได้

โดยยืนยันว่า 6 องค์กรสื่อ ไม่ได้เลือกที่จะอยู่ฝ่ายใด แต่เราดูแลเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชนและประชาชน แต่ถึงวันนี้การออกแถลงการณ์เราจะชี้จุดที่จะเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับเสรีภาพของสื่อ  ที่มีความสับสนที่ไม่เป็นเอกภาพไปถึงรัฐบาล

“การทำหน้าที่ของ 6 องค์กรสื่อ อาจจะทำบทบาทแล้วอาจจะไม่ถูกใจทุกฝ่าย เพราะสังคมจะต้องมีฝ่ายที่นิ่งและดู แล้วพร้อมขยับในวันที่ยังไม่มีใครทำหน้าที่ตรงนั้น” 

เสวนาจี้ยกเลิก “พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุกคามเสรีภาพสื่อ” เสนอองค์กรสื่อตั้งวอร์รูม-ทำดาต้าตรวจสอบข้อมูลรัฐ
พีระวัฒน์ โชติธรรมโม 

พรก.ฉุกเฉินฉบับดังกล่าว เปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระไปเยอะมาก กลายเป็นข่าวทุกข่าว ตัดพ.ร.บ.คอมออกด้วย ให้มีความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน กรอบความผิดก็ครอบคลุมถึงการเผยแพร่ ต้องพิสูจน์ความจริงในชั้นศาลหลังจากรัฐกล่าวหา ดังนั้นประชาชนมีสิทธิดำเนินคดีจากรัฐแล้วไปสู้คดีในศาล

เรื่องนี้ผมสื่อสารไปยังศบค. โดยตรงและประชุมร่วมกับศบค. ก็ทักท้วงแล้ว คล้อยหลังสองสัปดาห์ก็ยืนยันดำเนินการตามมาตรการ สำนักข่าวรอยเตอร์บอกว่า เป็นวิธีที่โลกประเทศฝั่งอาเซียนจะใช้กัน ที่ผู้มีอำนาจไม่อยากฟัง ก็ทำให้เป็นเฟคนิวส์แล้วดำเนินคดีทันที แล้วไปว่ากันในศาล

เรากังวลเรื่องดุลพินิจการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ อาจจะเปิดช่องให้ไม่มีความรอบคอบไม่รัดกุม ถ้าอีกฝ่ายไม่พอใจใครคนใดคนหนึ่ง ไปดำเนินคดี การสื่อสารที่ผ่านมาจึงเหมือนไม่มีประโยน์โดยสิ้นเชิง รัฐกำลังเข้ามาเพราะหมากกำลังจนแต้ม ต้องทำทุกอย่างเพื่อหยุดข่าวที่กระทบต่อรัฐ 

“สาเหตุที่เราออกมาแสดงจุดยืนเพราะเรากังวลว่า ถ้าไม่สามารถทำหน้าที่เสนอความจริงได้แล้วใครจะทำหน้าที่ในภาวะแบบนี้ องค์กรสื่อเราเดินทางมาถึงจุดที่เราทำเต็มที่แล้ว แต่รัฐยังเพิกเฉยกับท่าที ยืนยันองค์กรสื่อว่าจะดำเนินการต่อเนื่อง และรัฐต้องเปิดเผยข้อมูล ข่าวที่บิดเบือนรัฐก็ดำเนินการไป และขอให้ทบทวนพ.ร.กฉุกฉิน ถ้าเราต้องการเดินไปข้างหน้าพร้อมกัน” 

เสวนาจี้ยกเลิก “พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุกคามเสรีภาพสื่อ” เสนอองค์กรสื่อตั้งวอร์รูม-ทำดาต้าตรวจสอบข้อมูลรัฐ
สุปัน รักเชื้อ

ย้ำว่า ที่พูดอยู่บ่อยๆ คือ เจตนาของประกาศนี้ เราอยู่ในโรคระบาดหรือรัฐกำลังปกป้องตัวเอง ซึ่ง 6 องค์กรสื่อ แค่ขอความชัดเนว่าเจตนาคืออะไร พร้อมกับเรียนถามนายวิษณุ  เครืองาม ว่า ข้อกฎหมายดังกล่าว ถ้าเป็นคำพูดของคน ในข้อกฎหมายใช้บังคับกฎหมายได้หรือไม่ อย่างเช่น ในการที่เขาโพสต์แจ้งข่าว โพสต์เรื่องแพร่เชื้อ เขาจะสร้างข่าวของเขาขึ้นมาจะเป็นข่าวที่สร้างความหวาดกลัวหรือไม่ อันนี้ต้องขอความชัดเจน

“ซึ่งในแถลงการณ์เราบอกว่ารัฐต้องไม่เหวี่ยงแหในข่าวสารที่ต่างจากรัฐ จึงต้องการให้แถลงเจตนารมณ์ให้ขัดเจน แต่กฎหมายก็คือกฎหมาย  เราไม่มีกลไกในการขัดขวางการแก้ปัญหาเฟคนิวส์ของรัฐ แต่ต้องการทราบเจตนารมณ์ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ออกว่าคืออะไร และยืนยันสื่อไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับฝ่ายใด”

เสวนาจี้ยกเลิก “พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุกคามเสรีภาพสื่อ” เสนอองค์กรสื่อตั้งวอร์รูม-ทำดาต้าตรวจสอบข้อมูลรัฐ
ระวี ตะวันธรงค์ 

“ยืนยันว่าการออกมาเคลื่อนไหวขององค์กรสื่อ เราไม่ได้ทำเพื่อสื่อเราเอง แต่เราต้องแสดงถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และยืนยันว่าสื่อมืออาชีพเราไม่ได้ต้องการข่าวปลอม เรายังสู้กับข่าวปลอม100 % เพื่อผลประโยชน์ที่ดีกับประชาชน”

พร้อมกันนี้ขอเชิญชวนสื่อและประชาชนนำเปลี่ยนโปรไฟล์พิคเจอร์ของตัวเองได้ในโซเชียลมีเดีย ในการเป็นแคมเปญในการรณรงค์ที่รัฐพยายามคุกคามเสรีภาพสื่อและเสรีภาพประชาชนครั้งนี้

Leave a Comment