อดีตรัฐมนตรีอลงกรณ์เสนอทางออกประเทศไทย ชู”ยุทธศาสตร์ทาง2แพร่ง“ผนึกกลุ่มBRICSประเทศโลกใต้ฝ่าวิกฤติภาษีทรัมป์2.0
นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และอดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเขียนบทความพิเศษเรื่อง “ประเทศไทยกับ BRICS : ก้าวใหม่บนทางสองแพร่ง?” ไว้อย่างน่าสนใจใน เฟสบุ้ควันนี้โดยมีใจความดังนี้
“ประเทศไทยกับ BRICS : ก้าวใหม่บนทางสองแพร่ง?”
โดย นายอลงกรณ์ พลบุตร
ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์
รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์
อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และอดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
12 กรกฎาคม 2568
การประชุมสุดยอดBRICSครั้งที่17 จบลงแล้วโดยปีนี้จัดขึ้นที่เมืองริโอเดจาเนโร (Rio de Janeiro)มีบราซิลเป็นเจ้าภาพในฐานะประธานกลุ่ม BRICS ระหว่างวันที่ 6-7 กรกฎาคมซึ่งมีความสำคัญต่อโลกและประเทศไทยในท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศจากผลกระทบของสงครามความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆและสงครามภาษีทรัมป์2.0ภายใต้ภัยคุกคามของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว
การประชุมครั้งนี้ให้ความสำคัญกับ“สองลำดับความสำคัญหลัก”
- ความร่วมมือของกลุ่มประเทศโลกใต้ (Global South Cooperation)
- ความร่วมมือพันธมิตร BRICS เพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม (BRICS Partnerships for Social, Economic, and Environmental Development) นอกจากนี้ยังมีวาระ 6 แนวทางความร่วมมือหลัก
1.ความร่วมมือด้านสุขภาพระดับโลก (Global health cooperation)
2.การค้า การลงทุน และการเงิน (Trade, investment, and finance)
3.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change)
4.การกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ (AI governance)
5.สถาปัตยกรรมการรักษาสันติภาพและความมั่นคงพหุภาคี (Multilateral peace and security architecture)
6การพัฒนาสถาบัน (Institutional development) ท่าทีของกลุ่ม BRICS ต้องการสร้างสมดุลใหม่กับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหรัฐและโลกตะวันตกซึ่งประเด็นที่ให้ความสำคัญ คือ
1.การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการเศรษฐกิจโลก เพื่อให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้มีบทบาทมากขึ้น
2.การส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
3.การสร้างกลไกระหว่างประเทศทางเลือก ทั้งในด้านการเงิน การให้ความช่วยเหลือ และการระดมทุน เพื่อการพัฒนา
ศักยภาพกลุ่มBRICS-Global South
มีข้อมูลที่สะท้อนศักยภาพของกลุ่มBRICSและกลุ่มGlobal South
- ศักยภาพการเติบโต
ภายหลังก่อตั้งเมื่อ16ปีก่อนกลุ่ม BRICS ขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็วจากกลุ่มประเทศก่อตั้งบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ โดยมีสมาชิกเพิ่มเติม คือ เอธิโอเปีย อียิปต์ อิหร่าน อินโดนีเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และในที่ประชุม BRICS หรือ BRICS Plus Summit ครั้งที่ 4 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 67 ณ เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย ได้เพิ่มประเทศพันธมิตรใหม่ 13 ประเทศแต่ยังไม่ใช่สมาชิกอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย ไทย แอลจีเรีย เบลารุส โบลิเวีย คิวบา อินโดนีเซีย คาซัคสถาน มาเลเซีย ไนจีเรีย ตุรกี ยูกันดา อุซเบกิสถาน และเวียดนาม
ทั้งนี้ยังมีอีกหลายสิบประเทศที่สนใจเข้าร่วมกับBRICS - ศักยภาพการลงทุน
ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กลุ่มBRICS ดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า จาก 84,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2544 เป็น 355,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 นอกจากนี้ ส่วนแบ่งเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั่วโลกของ BRICS ก็เพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 11% เป็น 22% - ศักยภาพการค้า
มูลค่าการค้าของประเทศ BRICS เติบโตขึ้นมากกว่า 7 เท่า มีมูลค่ามากกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง10กว่าปีที่ผ่านมา
(ข้อมูลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ขององค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ)
3.แนวทางการค้าGlobal South
การค้าระหว่างประเทศกลุ่ม Global Southเดินตามแนวทางของกลุ่ม BRICS กล่าวคือตั้งแต่ปี 2550 ถึง 2566 การค้าระหว่างกลุ่ม Global South เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าจาก 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ เป็น 5.6 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาคู่ค้าแบบดั้งเดิมที่ลดลง ในขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับประเทศกำลังพัฒนา
4.กลุ่มBRICSกับอาเซียน
ทิศทางที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือBRICS ตั้งใจขยายบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าโลกที่สำคัญ การเข้าร่วมของอินโดนีเซีย, เวียดนาม,ไทย, มาเลเซีย จะสร้างศักยภาพทางการค้าเพิ่มเติมสำหรับกลุ่ม BRICS และกลุ่ม Global South
ในการประชุมผู้นำกลุ่ม BRICS ได้ประกาศจุดยืนที่ไม่สอดคล้องกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ในประเด็นภาษีการค้า ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง (Middle East) ความจำเป็นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change)และการเรียกร้องให้มีการกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence)ทั่วโลกเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
จากนั้นไม่กี่ชั่วโมง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โพสต์ข้อความโดยกล่าวว่า ประเทศอเมริกาจะเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม 10% สำหรับประเทศใดๆ ที่เข้าร่วมกับ “นโยบายต่อต้านอเมริกา” ของกลุ่ม BRICS ซึ่งสะท้อนท่าทีในทางไม่เป็นมิตรของประธานาธิบดีสหรัฐที่มีต่อกลุ่มBRICSอย่างชัดเจน
BRICS :ทางออกเศรษฐกิจไทย
กลุ่ม BRICSได้นำเสนอโอกาสสำหรับประเทศที่ประสบปัญหาภาษีทรัมป์ 2.0 โดยกลุ่มBRICSมี GDP รวมกันตามกำลังซื้อ (PPP) ในปี 2025 สูงถึง 77 ล้านล้านดอลลาร์ซึ่งสูงกว่ากลุ่ม G7 ถึง 1.3 เท่า นอกจากนี้ เมื่อรวมBRICS PlusมีGDP รวมกันกว่า 40% ของโลกและเติบโตเฉลี่ยที่ 4% ในปี 2025 ซึ่งมากกว่าสองเท่าของการเติบโตของ G7 ที่ 1.7%
กลุ่มBRICS ยังมีอำนาจต่อรองร่วมกันด้วยจำนวนสมาชิก 11 ประเทศและพันธมิตรอีก 10ประเทศและประชากร40%ของโลก
กลุ่ม BRICS Plusได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในตลาดโลก ทั้งในด้านพลังงาน ทรัพยากรแร่ธาตุ และอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศในกลุ่ม BRICS Plusผลิตก๊าซธรรมชาติประมาณ 32% และน้ำมันดิบ 43% ของโลก ซึ่งบ่งชี้ถึงความเป็นอิสระด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้น กลุ่มนี้ยังผลักดันกฎการค้าที่เป็นธรรมและการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO)
กลุ่ม BRICS ตอบรับให้ ประเทศไทย เข้าเป็นสมาชิกประเทศพันธมิตร(BRICS Plus)ตามมติที่ประชุมผู้นำ BRICS ครั้งที่ 16 ที่รัสเซียเมื่อวันที่ 23 ต.ค.2567
การมีสถานะเป็นในBRICS (BRICS Plus) ของประเทศไทยเป็นทั้ง“โอกาสและความเสี่ยง”
หากประเทศไทยสามารถปรับตัวและใช้จุดแข็งด้านตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และจุดยืนด้านภูมิรัฐศาสตร์รวมทั้งภูมิเศรษฐศาสตร์จะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของกลุ่ม BRICSโดยตรงและโดยอ้อมเป็นทางออกทางเศรษฐกิจในยุคการเปลี่ยนขั้วอำนาจที่กำลังเกิดระเบียบโลกใหม่(New World Order)
ก้าวใหม่ของไทยบนทางสองแพร่ง
ประเทศไทยควรเข้าร่วมในระดับที่เหมาะสมในประเด็นที่สอดคล้องกับกุศโลบายของประเทศเพราะกลุ่มBRICSมีศักยภาพสูงและเติบโตเร็วมีประชากรมากกว่าร้อยละ 40 ของโลก มีการผลิตและการส่งออกน้ำมันของโลกร้อยละ 40 ผลิตข้าวสาลีธัญพืชหลักของตลาดโลก 35% มี GDP รวมกว่า30% ของโลก(แซงหน้ากลุ่ม G7 ที่มีสัดส่วนในเศรษฐกิจโลกลดลงเหลือร้อยละ 30) และมีสัดส่วนการค้าร้อยละ 40 ของโลก
สำหรับไทยซึ่งมีมูลค่าการค้ากับ BRICS กว่า20% ของการค้าทั้งหมด
มีข้อสรุปที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ตรงกันสำหรับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับไทย
- ลดการพึ่งพาตลาดเดิม เช่น สหรัฐและยุโรป และเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดเกิดใหม่ในกลุ่มBRICS
ทั้งนี้ประเทศไทยส่งออกไปยังกลุ่ม BRICS (ตัวเลขเฉพาะ 9 ประเทศสมาชิกทางการ) โดย 9 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่า 42,769.8 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ20% ของการส่งออกทั้งหมด และยังมีแนวโน้มเติบโตขยายตัวได้อีกในอนาคตโดยเฉพาะประเทศพันธมิตร(BRICS Plus)
2.ช่วยกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ จากความผันผวนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์(Geopolitics)และภูมิเศรษฐศาสตร์
ช่วยยกระดับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยโดยกลุ่มBRICS มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐานผ่านกลไก New Development Bank (NDB) ซึ่งเอกชนไทยสามารถเข้าไปร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการเหล่านี้ โดยเฉพาะในด้านก่อสร้าง เทคโนโลยี และภาคบริการ
3.เป็นโอกาสของประเทศไทยในการขยายตลาดสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง เนื่องจากกลุ่มBRICSมีความต้องการสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าเทคโนโลยี จึงเป็นโอกาสเอกชนไทยสามารถนำเสนอสินค้าและบริการที่เน้นคุณภาพและนวัตกรรม เช่น สินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ เทคโนโลยีเกษตร และบริการด้านสุขภาพ
4.การใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าระหว่างประเทศ
หากในอนาคต BRICS สามารถพัฒนาไปสู่การใช้สกุลเงินของตัวเองหรือการค้าด้วยสกุลเงินท้องถิ่นมากขึ้น ไทยอาจลดต้นทุนจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และสามารถใช้กลไกทางการเงินที่เอื้อต่อธุรกิจมากขึ้น
- การใช้จุดแข็งทางภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจของไทยในการเชื่อมโยงระหว่าง BRICS กับอาเซียน(ASEAN) ในการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การเงิน เทคโนโลยี และวัฒนธรรม
รวมทั้งเป็นตัวเชื่อมระหว่าง BRICS กับกลุ่มอื่น ๆ อาทิ เอเปค (APEC) บิมสเทค (BIMSTEC) และ ความร่วมมือแห่งเอเชีย (ACD:Asia Cooperation Dialogue)
อย่างไรก็ตาม การเป็นพันธมิตรกลุ่มBRICS ของประเทศไทยจะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแต่ก็ต้องบริหารความเสี่ยงและความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆโดยยืนยันหลักการ “ไม่เลือกข้าง” เน้นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเป็นหลักทั้งนี้ต้องไม่ทิ้งความสัมพันธ์กับคู่ค้าดั้งเดิมอย่างสหรัฐฯ และ EU
การเข้าร่วมกับกลุ่มBRICSในครั้งนี้จำเป็นที่ประเทศไทยจะเป็นโอกาสในการปรับยุทธศาสตร์การค้าสู่การค้าแบบหลายเส้นทาง (Multi-Track Trade)เช่น
1.การลดการพึ่งพาจีนและกระจายการค้าไปยังสมาชิก BRICS ใหม่
2.การลดผลกระทบการส่งออกไปสหรัฐโดยเพิ่มส่งออกสินค้ารถยนต์ ยางรถยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอีเล็คโทรนิคไปยังรัสเซีย UAE ฯลฯ
รวมทั้งขยายตลาดส่งออกข้าวและอาหารแปรรูปไปยังเอธิโอเปียและอียิปต์ซึ่งความต้องการเพิ่มขึ้น 15% ต่อปี พร้อมกับเร่งเจรจาขยายFTA กับอินเดีย(ขยายรายการสินค้า(early harvest)และเร่งสรุปFTAกับแอฟริกาใต้
3.ดึงดูดการลงทุนจากประเทศสมาชิกBRICSเช่น
การลงทุนจากจีนในสาขาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และ EV Battery ใน EEC
การลงทุนจากอินเดียทางด้านอุตสาหกรรมยาและการลงทุนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(UAE)ทางด้านพลังงานสะอาดและกองทุน Sovereign Wealth Fund
4.สร้างโอกาสจากกลุ่มBRICSเป็นสะพานเชื่อมประเทศไทยกับตลาดร่วมอเมริกาใต้ (Southern Common Market – Mercosur) สหภาพแอฟริกา (African Union)และองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) มีสมาชิก 57 ประเทศครอบคลุม 4 ทวีปซึ่งจะช่วยเพิ่มการส่งออกข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมันและอาหารฮาลาลของไทยไปยังประชากรมุสลิม 2 พันล้านคน
สรุป
การเข้าร่วมกับกลุ่มบริกส์ (BRICS)เป็นยุทธศาสตร์ทาง2แพร่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีโอกาสขยายความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนการท่องเที่ยว การเงิน ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน การศึกษา วัฒนธรรม เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับประเทศกลุ่มBRICSมากขึ้นโดยไม่ทิ้งความสัมพันธ์กับคู่ค้าดั้งเดิมอย่างสหรัฐฯ และ EU
ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงเพิ่มบทบาทของประเทศไทยในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและความเข้มแข็งของระบบพหุภาคีที่เสรีและเป็นธรรมเป็นการยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศในทุกมิติให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้นเพื่อสร้างพื้นฐานใหม่ของประเทศไทยทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนระหว่างประเทศในอนาคต.