ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (หรุ้ทบอร์ด)ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) Application ZOOM Cloud Meetings พร้อมด้วย นายนราพัฒน์ แก้วทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัด กษ. นายประยูร อินสกุล รองปลัด กษ. ดร.สมบัติ ตงเต๊า รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายอนันต์ แก้วกำเนิด รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนผู้ประกอบการ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนเกษตรกรชาวสวนผลไม้ และนายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ร่วมกันหารือประชุมขับเคลื่อนโดยมีประเด็นผลการดำเนินงานการบริหารจัดการผลไม้ในรอบฤดูกาลผลิตที่ 2/2564 ทั่วประเทศ ผลการจัดประชุมกลุ่มย่อย Focus group เพื่อวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคการบริหารจัดการผลไม้ทั้งระบบ คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ มาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2565 โดย กระทรวงพาณิชย์ และร่วมกันพิจารณาโครงการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2565 ที่เสนอโดยสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ตามยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” และนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ต่อไป
การบริหารจัดการผลไม้ปี 2564 ของภาคเหนือ (ลำไย) และภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ในภาพรวมสอดคล้องกับแนวทางบริหารจัดการผลไม้ปี 2564 – 2566 โดยจังหวัดสามารถบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง โดยผ่านกลไกของคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ในเชิงคุณภาพสอดคล้องตามยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ.2558 – 2564 และในเชิงปริมาณที่เน้นการจัดสมดุลอุปสงค์และอุปทาน โดยผลไม้ภาคเหนือ (ลำไย) ปริมาณ 671,308 ตัน และผลไม้ภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ปริมาณ 785,459 ตัน มีการกระจายผลผลิตผ่านกลไกตลาดปกติ โดย คพจ. และเกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตในราคาไม่ต่ำกว่าราคาต้นทุนการผลิต และราคาเฉลี่ยของผลผลิตตลอดฤดูกาลสูงกว่าราคาต้นทุนการผลิตไม่น้อยกว่าร้อยละ 30
จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ได้กระทบต่อแผนการบริหารจัดการผลไม้ทำให้ทั้งการส่งออก การแปรรูป และการกระจายในประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน นั้น ได้มีการจัด Focus group วิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคการบริหารจัดการผลไม้ โดยร่วมกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเชิงตั้งข้อสังเกตถึง “ปัญหาและอุปสรรค” (Pain Point) ใน ประเด็นโครงสร้าง ระบบ และการบริหารจัดการ Fruit Board ประเด็นกลไกการทำงานในภาวะวิกฤต ประเด็นแผนงาน โครงการ และงบประมาณ รวมไปถึงแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มและแบรนดิ้ง (Branding) ผลไม้ การพัฒนากลไกการค้าผลไม้และการตลาดเชิงรุกทั้งในและต่างประเทศ การบริหารจัดการล้ง การบริหารจัดการระดับ Area based ผลไม้ภาคตะวันออก-ใต้-ใต้ชายแดน การบริหารจัดการระดับ Area based ผลไม้ภาคเหนือ การจัดการปัญหาและอุปสรรคการบริหารจัดการผลไม้รายสินค้า (ทุเรียน, ลำไย, มังคุด, เงาะ, ลองกอง และมะม่วง) โดยข้อมูลดังกล่าวได้ให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รับทราบและพิจารณาใช้ประโยชน์ และนำมาวางแผนเพื่อรับมือวิกฤติการณ์ในรูปแบบต่างๆ ในอนาคต
คณะกรรมการฯ รับทราบคำสั่งของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานฟรุ้ทบอร์ดในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน ครอบคลุมทั้งระบบ ประกอบด้วย
1. คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้
1) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการผลิต
2) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า
3) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการตลาด
4) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการผลไม้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
5) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการผลไม้ภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคอื่นๆ
2. คณะทำงานภายใต้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้
1) คณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์
2) คณะทำงานศึกษาเสถียรภาพกลุ่มสินค้าลำไย
3) คณะทำงานศึกษาเสถียรภาพกลุ่มสินค้าทุเรียน
4) คณะทำงานแก้ไขปัญหาผลไม้ล่วงหน้าทั้งระบบ
ในด้านการรองรับและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นประกอบกับภาพรวมผลไม้ไทยจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 3,500,000 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 8% โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนด 17 มาตรการรองรับผลไม้ ปี 2565 ล่วงหน้า 6 เดือน ประกอบด้วย
1.มาตรการเร่งรัดตรวจและรับรอง GAP ซึ่งมีเป้าหมายในปี 2565 ไม่ต่ำกว่า 120,000 แปลง
2.มาตรการช่วยผู้ประกอบการหรือเกษตรกรหรือล้งกระจายผลผลิตผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต กิโลกรัมละ 3 บาท ปริมาณ 80,000 ตัน
3.มาตรการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ส่งออกโดยจะช่วยเหลือดอกเบี้ยร้อยละ 3 และช่วยผู้ส่งออกที่ส่งออกผลไม้อีกกิโลกรัมละ 5 บาท ปริมาณ 60,000 ตัน
4. กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตร สนับสนุนให้มีการใช้พระราชบัญญัติเกษตรพันธสัญญา การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้านผลไม้ โดยจะสนับสนุนให้มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเกษตรกรได้ทราบว่าขายผลไม้ได้เท่าไหร่ มีคนซื้อที่มีหลักประกัน เซ็นสัญญาตามกฏหมายชัดเจนไม่ต่ำกว่า 30,000 ตัน
5.มาตรการส่งเสริมการบริโภคผลไม้ในประเทศ ประสานงานกับสายการบินต่างๆ เปิดโอกาสให้โหลดผลไม้ขึ้นเครื่องบินในประเทศไทยฟรี 25 กิโลกรัม ตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2565 เป็นต้นไป
6.มาตรการช่วยสนับสนุนกล่อง พร้อมค่าจัดส่งผลไม้ที่ขายตรงจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ไปยังผู้บริโภคโดยตรงโดยสนับสนุนกล่องมากขึ้นกว่าปี 2564 ที่สนับสนุน 200,000 กล่อง ปี 2565 จะสนับสนุนถึง 300,000 กล่อง
7.ในช่วงที่ผลไม้ออกเยอะ กระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนให้มีรถเร่ รถโมบาย ไปรับซื้อผลไม้และนำออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรง โดยปี 2557 จะสนับสนุนที่15,000 ตัน
8.ประสานงานกับห้างท้องถิ่นและปั๊มน้ำมันต่างๆ เปิดพื้นที่ระบายผลไม้ให้กับเกษตรกรโดยเพิ่มปริมาณจากปี 2564 ที่ช่วย 1,500 ตัน ปี 2565 จะเพิ่มเป็น 5,000 ตัน
9.จะทำเซลล์โปรโมชั่นในการส่งเสริมการขายผลไม้ในต่างประเทศซึ่งใช้ชื่อโครงการ Thai Fruits Golden Months ดำเนินการในตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ 12 เมือง เช่นเดียวกับปี 2564 ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้ผลดีมาก
10.จะจัดการเจรจาจับคู่ซื้อขายผลไม้ทางธุรกิจในระบบออนไลน์หรือที่เรียกว่า OBM มุ่งเน้นตลาดใหม่ เช่น อินเดียและรัสเซียเป็นต้น
11.จะส่งเสริมการขายผลไม้ในต่างประเทศในรูปแบบ THAIFEX – Anuga Asia จัดงานส่งเสริมการบริโภคผลไม้ระดับนานาชาติ ช่วงเดือนพฤษภาคม 65 ที่ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี
12.เร่งจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยไปในประเทศต่างๆทั่วโลกเป็น 5 ภาษา เพื่อประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทย
13.จะจัดให้มีการอบรมให้ความรู้เกษตรกรกลุ่มเกษตรกรในเรื่องของการค้าออนไลน์เพื่อขายตรงให้กับผู้บริโภคและจะเพิ่มเติมหลักสูตรการส่งออกเบื้องต้นให้ด้วย ตั้งเป้าอบรมเกษตรกรให้ได้อย่างน้อย 1,000 ราย
14.มาตรการขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องในการเคลื่อนย้ายแรงงาน เพื่อให้สามารถดำเนินการเก็บผลไม้และส่งเสริมการขายผลไม้ได้ต่อไป
15.ในบางช่วงที่ขาดแคลนแรงงาน ให้ กอ.รมน.ส่งกำลังพลเข้ามาช่วยเก็บเกี่ยวและขนย้ายผลไม้
16.กระทรวงพาณิชย์จะสั่งการให้ทีมเซลล์แมนจังหวัดและทีมเซลล์แมนประเทศประสานงานกันช่วยระบายผลไม้ของเกษตรกรทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศต่อไป ให้มีความเข้มข้นขึ้น
17.กระทรวงพาณิชย์และจังหวัดจะบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายผลไม้ที่มีคุณภาพ และได้ราคาดีไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าและกฎหมายชั่งตวงวัดโดยเคร่งครัดต่อไป
พร้อมกันนี้ คณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นชอบ โครงการบริหารจัดการผลไม้ 2565 เสนอโดยสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ประกอลด้วยงบประมาณ เงินจ่ายขาด จำนวนเงิน 113.13726 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงิน 109.842 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนค่าบริหารจัดการกระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต และวงเงิน 3.29526 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและติดตามกำกับดูแลของ หน่วยงาน
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า คณะกรรมการ fruit Board ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ และ คณะทำงานที่เกี่ยวข้องซึ่งได้จัดตั้งตามโครงสร้างใหม่นำเสนอแผนงานโครงการและงบประมาณเพื่อ ขับเคลื่อนการบริหารจัดการผลไม้ในการประชุมคราวหน้า
นอกจากนี้Fruit Board ยังมีมติจัดตั้งคณะทำงานศึกษาโครงการศูนย์บริหารจัดการมหานครผลไม้และสนามบินจังหวัดจันทบุรี โดยให้นำเสนอผลการพิจารณาในการประชุมฟรุ้ทบอร์ดครั้งต่อไปเดือนธันวาคม