บทความตอนที่แล้วผมเล่าเรื่องสโลเวเนียกับความจริงจังในการเข้าใจเรื่องถ้ำ กับการท่องเที่ยวไปแล้ว
ทีนี้มาดูเกาหลีใต้ครับ
เกาหลีใต้มีงานศึกษาที่ชี้ว่าตลาดนักท่องเที่ยวถ้ำ มีการเติบโตที่น่าสนใจ โดยเป็นกิจกรรมสาขาหนึ่งของการท่องเที่ยวแนวอนุรักษ์ธรรมชาติ
จำนวนคนมากน้อยอาจไม่ใช่ประเด็น เพราะคนกลุ่มนี้ยอมจ่าย ยอมใช้เวลา และยอมบุกฝ่าอุปสรรคสารพันเพื่อไปสัมผัสบรรยากาศการเที่ยวถ้ำ
เกาหลีใต้เลยสงสัยใคร่รู้เหมือนกันว่าคนแบบไหนกันนะ ที่หันมาชื่นชอบกิจกรรมแบบนี้..
งานศึกษาของกระทรวงการต้อนรับและการท่องเที่ยว (Ministry of Hospitality and Tourism)ของเกาหลีเมื่อ ปี2008 เปิดผลการสอบถามผู้ที่ไปปีนป่ายมุดอยู่ที่ถ้ำชื่อ Hwansun Cave ในเกาหลี ว่า
กลุ่มผู้มาที่ถ้ำแบ่งได้เป็นสี่ประเภท
พวกแรกคือผู้หนีความจำเจ
เกาหลีเรียกกลุ่มนี้ว่าเป็น escape-seeking group ดังนั้นพวกเขาเพียงแต่หนีของเดิมๆที่คนกำลังนิยมเท่านั้น คือเบื่อของคุ้นเคย
พวกที่สองคือ อยากแสวงความรู้ เกาหลีเรียกกลุ่มนี้ว่า knowledge seeking group
พวกที่สามคือ เน้นหาความแปลกใหม่ แต่อาจไม่ถึงขนาดสนใจจะเอาเป็นความรู้ เกาหลีเรียกกลุ่มนี้ว่า novelty seeking group กลุ่มนี้รวมถึงผู้รักความตื่นเต้นลึกลับท้าทายด้วย บ้างมาถ้ำเพราะชอบที่ “ความมืดอันจริงแท้”
บ้างมาเพราะชอบที่ “เงียบสงัด” อย่างที่หาข้างนอกไม่ได้
พวกที่สี่ คือ พวกที่มาเข้าถ้ำเพื่อจะได้มีกิจกรรมกลุ่ม มาร่วมประสบการณ์กันเป็นหมู่เป็นคณะ
เกาหลีเรียกกลุ่มนี้ว่า Socialization group
ถ้ำเป็นเครื่องมือให้เกิดกิจกรรมร่วมเฉยๆ มีตั้งแต่เด็กประถมมากับครู เด็กโตมากับผู้นำกิจกรรม ครอบครัวมากับไกด์ และบริษัทมากับไลฟ์โค้ช
ในงานศึกษาที่อื่นๆ ชี้ว่าผู้ที่ไปเที่ยวเชิงธรณีวิทยานั้นยังมีระดับอีกด้วยคือ ระดับที่ไปเอาแค่ความเพลิดเพลิน กับระดับที่ไปมุ่งจะสังเกต ฝึกฝน ศึกษา เปรียบเทียบ คือชอบเข้าไปค้นเอาจริงเอาจัง
อีกชิ้นของงานศึกษาในต่างประเทศ ตั้งข้อสังเกตว่า ป้ายบอกในแหล่งท่องเที่ยวประเภทธรณีวิทยาจะมีพลังมากขึ้นมาก ถ้าภาษาที่ใช้อธิบายในป้ายจะลดความเป็นวิชาการลง แต่ออกไปในทางเปรียบเปรยให้เห็นภาพ
ที่จะขายมุมมองให้ผู้อ่านป้ายต้องทึ่ง แล้วจะนำมาซึ่งความเคารพต่อป้ายถัดๆ ไป และให้ความเคารพต่อสถานที่นั้น เป็นผลทางจิตวิทยาที่เกิดจากการได้มุมมองที่เกินคาด จากข้อความในป้ายอธิบาย
เช่น เขาแมทเทอร์ฮอรน์ในสวิตเซอร์แลนด์ (ที่กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของสวิตเซอร์แลนด์) ติดป้ายที่นักท่องเที่ยวได้อ่านว่า ….
“แมทเทอฮอรน์มีสถานะที่เหมือนไส้กลางของแซนวิชที่ขนมปังข้างหนึ่งคือแอฟริกา และอีกข้างหนึ่งคือยุโรป’’….
เพราะแม้ภูเขาที่เป็นทรงปิรามิดสูงชันและผิวเรียบน่าทึ่งนี้จะอยู่ไกลจากแผ่นดินทวีปแอฟริกามากตามแผนที่ทางการเมือง
แต่ในทางธรณีวิทยา เทือกเขาแอลป์อันเลื่องชื่อ ซึ่งมีภูเขาแมทเทอฮอรน์เป็นหนึ่งในยอดเขานั้น แท้จริงแล้วคือผลของแผ่นเปลือกโลกสองชิ้นเคลื่อนมาชนกัน คือแผ่นเปลือกโลกแอฟริกา กับแผ่นเปลือกโลกยุโรปเมื่อนับล้านปีก่อน!!
หินที่เป็นยอดของแมทเทอฮอรน์นั้น นักธรณีบางท่านอธิบายว่าเป็นหินที่มาจากแผ่นเปลือกโลกแอฟริกา
ผลในทางจิตวิทยาคือ คนยุโรปจะรู้สึกโดยไม่รู้ตัวว่า ควรให้เกียรติแก่ชาวแอฟริกาที่มาเยือนแมทเทอฮอรน์ และเมื่อชาวแอฟริกามาเที่ยวที่นั่น ก็จะรู้สึกผูกพันกับเทือกเขานี้อย่างสดชื่นขึ้น
ส่วนชาวทวีปอื่นที่มารับรู้ข้อความ ก็จะทึ่ง ว่าตัวเองได้มาเยือนจุดเชื่อมสำคัญของแผ่นเปลือกโลก ไม่ใช่แค่มาเห็นภูเขาสวยชื่อดังจากหน้ากล่องช้อคโกแลต
เรื่องการท่องเที่ยวของโลกในยุคหลังโควิด19 นั้น เป็นที่รู้กันว่า ยังไงก็จะกลับคืนมา ในเชิงปริมาณ
แต่พฤติกรรมจะเปลี่ยนไป
นักท่องเที่ยวจะวางแผนการออกเดินทางอย่างระแวงระวังมากขึ้น
ส่วนใหญ่จะเลี่ยงการท่องเที่ยวในแหล่งที่แออัดด้วยผู้คน
จำนวนหนึ่งจะต้องการสัมผัสธรรมชาติ สัมผัสความสดชื่นของอากาศ
บ้างอยากสัมผัสความท้าทาย แต่ต้องการความปลอดภัยที่วางใจได้
อยากเคลื่อนไหวในลักษณะที่ไม่เคยบ้าง ตั้งแต่เดินป่า ปีนเขา เข้าถ้ำ หรือดำน้ำ
กิจกรรมกลางแจ้งจะเป็นที่หมายปองในทุกเพศวัย และจากหลากกลุ่มเป้าประสงค์
การเดินทางแบบกรุ้ปใหญ่มากๆ จะถูกซอยแบ่งให้เล็กลง
กลุ่มเดินทางจะเน้นสมาชิกเฉพาะกลุ่ม ใช้พาหนะเล็กลงเพื่อลดความเสี่ยงที่ต้องปะปนกับคนที่ไม่แน่ใจว่าจะป้องกันตัวเองมาดีพอ
วิธีเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะจะถูกตั้งเงื่อนไขมากขึ้น คนจะสนใจใช้ระบบไร้สัมผัส สนใจสุขอนามัย สนใจระบบที่ไม่ต้องจับเงินสด
ให้น้ำหนักกับระบบจองคิวล่วงหน้า
อยากใช้เวลานานขึ้นกับแต่ละแหล่งท่องเที่ยว ชะโงกทัวร์แบบมาเพื่อถ่ายรูปทำแต้มน่าจะยิ่งแผ่วลงๆ
ผู้เดินทางไม่อยากหมดเวลาไปกับการรอคอยระหว่างเดินทางอย่างไม่สมเหตุสมผล
ตรงนี้คือโอกาสสำคัญของไทยในการพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวทีเดียวครับ
เราควรจะลดการกระจุก
ผลักดันการกระจายตัว
สร้างวงจรการเชื่อมต่อให้ได้ประโยชน์แก่ชุมชนท้องถิ่นมากๆ
ใช้ความมีอัตลักษณ์ของแต่ละที่มาเป็นจุดดึงดูด จุดจดจำ และเป็นจุดขาย
พัฒนาความสะดวก ให้ดีขึ้น แต่ไม่ต้องถึงขนาดยัดเยียดความเจริญรุดหน้า
จัดวางกติกาที่ทำให้ต้องเคารพ พอๆกับการให้มุมมองที่ทำให้ต้องอยากค้นหา
ใช้ความร่วมมือของเครือข่าย ไม่พึ่งพาแต่การใช้กฏหมายทางอาญาเข้าขู่ ยกเว้นเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัย
ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกเคารพ เชื่อมั่น
ช่วยรักษาสภาพแวดล้อม ลดปริมาณขยะ
ทำป้ายทำสื่อทำห้องน้ำ ทำที่จอดพาหนะ และจุดบริการที่เข้ากับระบบสากล มีอารยสถาปัตย์
ด้วยวัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่ ติดตั้งสั่งประกอบโดยคนในพื้นที่ เพื่อให้การดูแลรักษาทั้งง่าย ประหยัดเวลาและสร้างงานให้คนท้องถิ่น
ใช้ดิจิทัลในการจอง การจ่าย การแจกข้อมูล การประมวลและประเมินผล
เพื่อนำมาปรับปรุง เสริมลดกิจกรรมได้อย่างยืดหยุ่นเหมาะกับแต่ละสภาพพื้นที่ ห้วงเวลา ฤดูกาลและความสามารถในการรองรับและบริหาร
มีอัตราค่าบริการที่โปร่งใส ให้ข้อมูลและส่งมอบได้อย่างมืออาชีพ สามารถสื่อสารได้ข้ามภาษา ข้ามวัฒนธรรม ข้ามกลุ่มอายุได้ดี
ป้ายเชิงสัญลักษณ์หรือ pictogram จะสำคัญขึ้นมาก ใช้พื้นที่น้อย แต่มนุษย์เข้าใจง่ายในทุกภาษา
ประเทศไทยในสายตาของชาวต่างชาติ นั้น จุดเด่นคือมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย มีชาวพื้นเมืองที่เป็นมิตรในทุกที่
เมืองไทยมีดี
แถมมีความหลากหลาย
ในขณะเดียวกัน ตลาดนักท่องเที่ยวไทยก็โตขึ้นมาก และมีศักยภาพที่พึ่งพาได้
นักท่องเที่ยวกลุ่มรักธรรมชาติ กลุ่มใฝ่รู้ กลุ่มหนีความจำเจ กลุ่มอยากรับสัมผัสใหม่ๆ กลุ่มอยากมีกิจกรรมท้าทาย หรือแค่อยากได้กิจกรรมกลุ่ม
ล้วนเป็นนักท่องเที่ยวที่ให้คุณค่า และให้มูลค่าได้
ถ้าเราทำระบบให้มีคุณภาพ
ทำให้พวกเขาสามารถทำการบ้านล่วงหน้า ทำให้เขาใช้เวลากับแต่ละกิจกรรมอย่างมีความหมาย
ทำให้เขากลับไปด้วยจิตวิญญาณใหม่ๆ
ใส่ใจกับสภาพแวดล้อม ผู้คนแวดล้อม มีความพร้อมและความกล้าที่จะปรับปรุงปรับเปลี่ยน
มีความนิ่งทางอารมณ์ มีความมั่นคงทางสมาธิ
เปิดศักราชครั้งใหม่ ไม่ว่าจะหลังหรือระหว่างโควิด19
วงการท่องเที่ยวไทยต้องไม่ไหลกลับไปเผชิญกับ ‘’วงจรเดิมๆ’’ ครับ
อ่านต่อตอนจบพรุ่งนี้
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา