นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเริ่มพบผู้ติดเชื้อในร้านอาหารที่นั่งดื่มแอลกอฮอล์ ว่า ร้านจะต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ต้องตรวจตราร้านอาหารที่จะเปิดให้บริการ พนักงาน พ่อครัว ผู้ให้บริการ ต้องรับวัคซีนโควิด 19 รวมถึงผ่านมาตรฐาน SHA และ SHA Plus นอกจากนี้ ลูกค้าควรต้องฉีดวัคซีนด้วย หากเดินหน้าด้วยมาตรการเหล่านี้ก็จะขยายเปิดกิจการอื่นๆ ได้มากขึ้น
ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้ครบ 100 ล้านโดส ขณะนี้เหลือกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรกไม่ถึง 10 ล้านคน ซึ่งกลุ่มหนึ่งอาจจะเข้าไม่ถึงจริง ๆ จากสภาพแวดล้อมเป็นอุปสรรค กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหน่วยเคลื่อนที่เพื่อฉีดวัคซีนเชิงรุก ส่วนกลุ่มที่รอวัคซีนที่สั่งจองซื้อไว้ แนะนำว่าหากยังไม่ได้รับวัคซีนทางเลือกให้มาฉีดวัคซีนของรัฐก่อนได้ เนื่องจากขณะนี้มีทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นาที่ได้รับการบริจาค ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA เหมือนกัน แต่การจะฉีดวัคซีนใดขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ในแต่ละสถานการณ์ ส่วนวัคซีนที่จองไว้อาจแสดงความจำนงบริจาคให้โรงพยาบาลนำไปฉีดต่อได้ ถือเป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัย
ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า วันนี้ประเทศไทยพบผู้ป่วยรักษาหาย 7,318 ราย สูงกว่าผู้ติดเชื้อใหม่ที่พบ 5,857 ราย เสียชีวิต 55 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่เครื่องช่วยหายใจลดลงต่อเนื่อง จุดสำคัญในการติดตามสถานการณ์เมื่อฉีดวัคซีนทั่วถึง คือ จำนวนเตียงและอัตราการครองเตียง ซึ่งข้อมูลถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน มีผู้เข้ารับการรักษา 69,588 ราย จำนวนเตียงคงเหลือ 132,007 เตียง ระดับเขตสุขภาพ อัตราครองเตียง 33% ส่วน กทม. อัตราครองเตียง 51% หลังการเปิดประเทศต้องติดตามเปลี่ยนแปลงของอัตราการครองเตียงต่อเนื่อง แต่ภาพรวมสถานการณ์การระบาดมีแนวโน้มลดลง ยกเว้นบางพื้นที่ยังพบคลัสเตอร์เพิ่มขึ้นบ้าง ต้องจับตาเป็นพิเศษ โดยคลัสเตอร์ที่พบขณะนี้ มีทั้งโรงงาน/สถานประกอบการ ตลาด งานศพ งานกฐิน และงานแต่ง จึงขอให้ผู้จัดงานเข้มมาตรการป้องกันและใช้เวลาให้กระชับที่สุด หลีกเลี่ยงการพูดคุย เปิดหน้ากาก รับประทานอาหารร่วมกันซึ่งเป็นความเสี่ยง ส่วนการติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว ข้อมูล 7 วันย้อนหลัง พบผู้ติดเชื้อรวม 44,768 ราย คลัสเตอร์ที่พบแรงงานต่างด้าว คือ โรงงาน/สถานประกอบการ เป็นเมียนมา 10%, แคมป์คนงาน เป็นเมียนมา 38.5% กัมพูชา 30.8% และคลัสเตอร์พิธีกรรมศาสนา เป็นเมียนมา 10%
สำหรับการเปิดประเทศ ตั้งแต่ 1-23 พฤศจิกายน มีผู้เดินทางเข้ามา 94,756 คน เป็นระบบ Test & Go มากที่สุด 73,383 คน ติดเชื้อ 60 คน คิดเป็น 0.08% ระบบแซนด์บ็อกซ์ 17,319 คน ติดเชื้อ 33 คน คิดเป็น 0.19% และระบบกักกัน ทั้ง 7 วัน และ 10 วัน รวม 4,054 คน ติดเชื้อ 33 คน คิดเป็น 0.81% ภาพรวมติดเชื้อ 126 คน คิดเป็น 0.13% ซึ่งถือว่ายังพบน้อย ส่วนที่กังวลว่าเมื่อเดินทางเข้ามาแล้วตรวจ RT-PCR ทันทีอาจเร็วเกินไป ได้ให้คำแนะนำว่าหากมีอาการป่วยหรือสงสัย ให้ตรวจซ้ำด้วย ATK เมื่อเจอผลบวกจะส่งเข้ารับการดูแล แต่ไม่ว่าจะเป็นระบบใดก็ไม่สามารถป้องกันได้ 100% ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมที่สุด ร่วมกับมาตรการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ จะช่วยให้เปิดประเทศได้ราบรื่นต่อไป โดยขณะนี้ฉีดวัคซีนโควิด 19 สะสม 89.8 ล้านโดส เป็นเข็มแรก 65.3% ของประชากร และเข็มสอง 55.1% ของประชากร ยังมี 19 จังหวัดที่ฉีดได้ 40-49% อาจเป็นเพราะไม่มีการระบาดใหญ่ ทำให้การระดมฉีดวัคซีนเริ่มช้ากว่าที่อื่น แต่ปัจจุบันวัคซีนได้ส่งไปทุกจังหวัดอย่างทั่วถึงพร้อมฉีดให้กับทุกคนที่ต้องการ ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุมีเพียง 2 จังหวัดที่ยังฉีดไม่ถึง 50% คือ แม่ฮ่องสอน และนครนายก
“จากการติดตามสถานการณ์ ยังไม่พบคลัสเตอร์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานลอยกระทง อาจเป็นเพราะมีการสื่อสารมาตรการก่อนจัดงาน แต่เพิ่งผ่านมา 5 วัน จึงยังต้องติดตามต่อ หากผ่านไป 7 หรือ 10 วันแล้วไม่เกิดคลัสเตอร์ แสดงว่าประชาชนร่วมมือกันป้องกันการแพร่ระบาดได้ดี เป็นการสร้างความมั่นใจว่าแม้จะมีการรวมตัวกันจำนวนมาก แต่หากทุกคนมีความระมัดระวัง ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น เปิดหน้ากาก รับประทานอาหารร่วมกันเป็นเวลานานก็จะป้องกันติดเชื้อได้ และมั่นใจได้มากขึ้นในการเปิดประเทศ” นพ.เฉวตสรรกล่าว