‘อลงกรณ์’ วาง 3 กลยุทธ์ 7 มาตรการ รับมือฤดูผลิตผลไม้ล่วงหน้า จับมือ ‘ลาว’ ขนส่งทางรถไฟสายใหม่

Mummai Media

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board)เปิดเผยวันนี้ว่าได้จัดประชุมคณะทำงานฯและเชิญทุกภาคส่วนร่วมประเมินสถานการณ์ปัญหาการขนส่งผลไม้ส่งออกไปจีนจากผลกระทบของนโยบายและมาตรการ Zero Covid19 ทำให้เกิดปัญหาการส่งออกผลไม้ไปจีนทางบกติดขัดอย่างรุนแรงเกือบทุกด่านบริเวณพรมแดนจีน-ลาวและจีน-เวียดนามซึ่งไทยต้องขนส่งผ่านแดนได้แก่ ด่านโมฮ่าน ด่านเหอโขว่ ด่านตงชิง ด่านผิงเสียงและด่านโหยวอี้กวน เป็นต้น

โดยที่ประชุมประเมินว่านโยบายซีโร่โควิด (Zero Covid-19) จะกระทบการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนถึงขั้นวิกฤติ หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันฤดูกาลผลิตปี2565 จึงเสนอให้ยกระดับปัญหาการส่งออกผลไม้และสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและมาตรการ Zero Covid19 ของสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นวาระแห่งชาติ โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมทำงาน หรือมอบหมายคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เป็นหลักในทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ

‘อลงกรณ์’ วาง 3 กลยุทธ์ 7 มาตรการ รับมือฤดูผลิตผลไม้ล่วงหน้า จับมือ ‘ลาว’ ขนส่งทางรถไฟสายใหม่

นอกจากนี้ คณะทำงานฯได้กำหนด 3 กลยุทธ์และ 7 มาตรการเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้แก่
1.กลยุทธ์ความร่วมมือในการด้านมาตรการปฏิบัติในการป้องกันโควิดและระบบโลจิสติกส์
2.กลยุทธ์ด้านการตลาดทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศ การตลาดออนไลน์และการตลาดแบบออฟไลน์
3.กลยุทธ์ด้านซัพพลาย เช่น การแปรรูป การจัดเก็บสินค้าด้วยห้องเย็น การขนส่งโดยระบบ Cold Chain การเกลี่ยปริมาณผลผลิตด้วยการผลิตผลไม้นอกฤดู

โดยมี 7 มาตรการเป็นแนวทางการทำงาน
1.การเร่งเจรจาเปิดด่าน การกำหนดเกณฑ์ที่ชัดเจนในเรื่องการเปิด-ปิดด่าน โดยใช้การทูตในการสร้างความร่วมมือและการสร้างความเข้าใจ ผ่านกลไกทุกระดับโดยเฉพาะคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงเกษตรของสาธารณรัฐประชาชนจีน
2.มาตรการ Covid Certification ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อสร้างความเชื่อมั่น
3.การเร่งเปิดบริการการขนส่งผ่านเส้นทางรถไฟลาวจีนให้เร็วที่สุด
4.การเร่งจัดระบบโลจิสติกส์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศและการนำระบบ Cold Chainเข้ามาใช้จากต้นทางจนถึงปลายทาง
5.ขยายตลาดต่างประเทศไปยังตลาดรองอื่นๆ
6.ขยายตลาดในประเทศ การกระจายขายภายในประเทศให้มากที่สุด ผ่านระบบสหกรณ์ บริษัทไปรษณีย์ไทย ประเทศขนส่งภาคเอกชน
7.การแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การจัดเก็บผลไม้ระบบสต็อก การเกลี่ยผลผลิตผลไม้นอกฤดูกาล

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ทุกมาตรการเป็นการบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดการพัฒนาและเกิดความยั่งยืนในระบบผลไม้ไทย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้หารือกับเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมาโดยได้หยิบยกปัญหาด่านจีนและมาตรการซีโร่โควิดโดยสถานเอกอัครราชทูตจีนยินดีที่จะประสานการทำงานร่วมกัน นอกจากนี้จะมีการจัดประชุมคณะกรรมการเกษตรไทย-จีนในเดือนมกราคมนี้และการประชุมเรื่องความร่วมมือด้านสุขอนามัยพืช-สัตว์ในเดือนถัดไป

“เราหวังว่า ด้วยความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีระหว่าง2ประเทศจะช่วยให้ปัญหาคลี่คลายโดยเร็วก่อนจะถึงฤดูกาลผลผลิตผลไม้ของไทยในเดือนมีนาคม2565 รวมทั้งการร่วมมือกับลาวและจีนในการขนส่งทางรถไฟจากไทยผ่านลาวไปจีนให้เปิดบริการโดยสมบูรณ์ให้เร็วที่สุด” นายอลงกรณ์ กล่าว

‘อลงกรณ์’ วาง 3 กลยุทธ์ 7 มาตรการ รับมือฤดูผลิตผลไม้ล่วงหน้า จับมือ ‘ลาว’ ขนส่งทางรถไฟสายใหม่

สำหรับการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมที่ระดมพลผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนประกอบด้วยนายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายยุคล ชนะวัฒน์ นายชรัตน์ เนรัญชน ปัญญา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะทำงานฯ จากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร กรมการค้าภายใน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยมี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นฝ่ายเลขานุการคณะทำงานฯ และได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ได้แก่ที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง นครกว่างโจว นครเซี่ยงไฮ้ นายชาญศักดิ์ ชื่นชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่วิศวกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายพงษ์ทร วิเศษสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด นายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าผลไม้และผู้ส่งออกผลไม้ไทย สมาคมทุเรียนไทย สมาคมผู้ส่งออกผักและผลไม้ เป็นต้น

ที่ประชุมได้มีการนำเสนอข้อมูลจากภาคเอกชนได้แก่ Guangzhou Speed Refrigeration Equipment Co,.Ltd. และสตีเวีย เทคนิว ประเทศไทย บจก. (บริษัทอุปกรณ์ทำความเย็นความเร็วกวางโจว) บริษัท อินเตอร์ เอ็กเพรส โลจิสติกส์ จำกัด บริษัท เวียงจันทร์ โลจิสติกส์ พาร์ค จำกัด ผู้ประกอบการโลจิสติกส์จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี Nitrogen Freezer เพื่อวางระบบโครงสร้างระบบโลจิสติกส์ Cold chain รวมทั้งรับทราบรายงานโครงการมหานครผลไม้จันทบุรี

สำหรับข้อมูลการส่งออกนำเข้าผักผลไม้ระหว่างไทบกับจีน ปรากฎว่าไทยได้เปรียบดุลการค้าจีน ปี 2563  ไทยส่งออกผลไม้ไปจีน 1.02 แสนล้านบาท ไทยนำเข้าผลไม้จากจีน 30,735 ล้านบาท ไทยได้เปรียบจีน 7.2 หมื่นล้าน หรือกว่า 3 เท่าตัว ในปี 2564 (10 เดือน ม.ค-ต.ค) ไทยส่งออกผลไม้ไปจีนกว่า 2 ล้านตัน มูลค่า 1.48 แสนล้านบาท  คาดว่าจะได้เปรียบจีนกว่า 4 เท่าตัว สูงสุดในรอบ 13 ปี หมายเหตุ: ตัวเลขปี 2563 จีนส่งออกผักมาไทย 8 พันล้าน ไทยส่งออกผักสดผักแข็งผักแห้งและมัน หัวมัน 30,000 ล้าน (รหัส 07) แต่ถ้าแยกผักออกมา ไทยส่งออกผักไปจีนน้อยกว่า เสียเปรียบ 7 พันล้าน แต่ไทยได้เปรียบส่งออกผลไม้ไปจีนกว่า 7 หมื่นล้าน)

Leave a Comment