“อลงกรณ์” เปิดวิสัยทัศน์ “ปลดกระดุมทุกเม็ดแล้วกลัดใหม่” ลุยปฏิรูปเกษตรไทย

Mummai Media

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ.รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ อดีตส.ส.6สมัยและอดีตรัฐมนตรี เขียนบทความใน เฟสบุ้ควันนี้ เรื่อง “ปฏิรูปเกษตรไทย อนาคตประเทศไทย” “ปลดกระดุมทุกเม็ดแล้วกลัดใหม่” เป็นตอนที่2ของซีรี่ย์”ก้าวใหม่ประเทศไทย”อย่างน่าสนใจ…….


ก้าวใหม่ประเทศไทย (ตอนที่2) เรื่อง“ปฏิรูปเกษตรไทย อนาคตประเทศไทย”
“ปลดกระดุมทุกเม็ดแล้วกลัดใหม่” โดย อลงกรณ์ พลบุตร
 

4 มกราคม 2564
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) โครงการอาหารโลก(World Food Program) องค์การสหประชาชาติ(UN) และองค์การอนามัยโลก(WHO)รายงานผลการประชุมสุดยอดระบบอาหารโลก(UN Food System Summit 2021)โดยสรุปว่า โลกกำลังเผขิญภาวะขาดแคลนอาหารจากประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นและการ แพร่ระบาดของโควิด19 ทำให้ประชากรโลกประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารและราคาอาหารจะแพงขึ้น
     

เป็นวิกฤติของโลกแต่ก็เป็นโอกาสของไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารชั้นนำของโลก

ประเทศไทยของเรามีศักยภาพการผลิตและการตลาดด้านเกษตรและอาหารสูงมาก
    

ปี2560 เราเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ14ของโลก 
    

ปี2561 ขึ้นเป็นอันดับ 12ของโลกซึ่งมีเพียง2ประเทศเท่านั้นที่ปีเดียวขึ้น2อันดับและเป็นครั้งแรกที่ขึ้นเป็นที่2ของเอเซียรองจากประเทศจีนเท่านั้น
    

ปี2562 ขยับต่อเนื่องขึ้นเป็นอันดับ11ของโลกและยังครองอันดับ2ของเอเซีย
    

นับเป็นประเทศ “หนึ่งเดียวในโลก” ที่ 2 ปีขึ้น 3 อันดับ
   

ไทยแลนด์ โอนลี่ครับ
    

หลังโควิดคลี่คลาย เราจะสานฝัน”ครัวไทย ครัวโลก”สู่อันดับท็อปเทนของโลกตามนโยบายของรัฐบาล
    

วันนี้สินค้าเกษตรสินค้าอาหารและสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมของไทยติดท็อปเทนของโลกจำนวนไม่น้อย เช่น ยางพารา ยางรถยนต์ ถุงมือยาง น้ำตาล ทุเรียน ข้าว สัปปะรดกระป๋อง อาหารทะเล ทูน่ากระป๋อง อาหารสัตว์เลี้ยง เอทานอล มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ.

ส่วนใหญ่ส่งออกในรูปวัตถุดิบและสินค้าแปรรูปขั้นต้นมูลค่าต่ำแบบที่เรียกว่า”ทำมากได้น้อย(More for Less)” ประเทศและเกษตรกรจึงมีรายได้น้อยมาอย่างยาวนาน เรา จึงต้องเปลี่ยนใหม่สู่การ”ทำน้อยได้มาก(Less for More)”
   

ถ้าทำแบบเดิมๆจะไม่สามารถยกระดับอัพเกรดภาคเกษตรเทคออฟสู่เพดานใหม่ได้
   

อย่างไรก็ตามแม้โจทย์จะชัดเจนในตัวเอง แต่คำถามคือ แล้วเราจะทำอย่างไร 
    

ผมจะยกตัวอย่างการถอดสมการนำมาสู่การออกแบบโมเดลการปฏิรูปภาคเกษตรไทย
    

ถ้าเราย้อนมองบริษัทเช่น  Amazon Alibaba Google Apple Teslaจะได้คำตอบว่าทำไมบริษัทเหล่านี้จึงสามารถทะยานขึ้นสู่บริษัทแนวหน้าของโลกภายในเวลา20ปีโดยเฉพาะAppleเป็นบริษัทแรกของโลกที่มีมูลค่าตลาดทะลุ3ล้านล้านดอลลาร์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา(มากกว่างบประมาณไทย30ล้านเท่า)

คำตอบคือ วิสัยทัศน์ เทคโนโลยีและการบริหารจัดการใหม่ๆ
    

อีกตัวอย่างเช่น ประเทศจีนที่พัฒนาตัวเองจากประเทศยากจนด้อยพัฒนาสู่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ2และมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีภายใน30ปี
    

คำตอบก็เหมือนกัน
    

การถอดบทเรียนจากตัวอย่างเหล่านี้ช่วยให้การดีไซน์การปฏิรูปง่ายขึ้น
    

การปลดกระดุมแล้วกลัดใหม่จึงเกิดขึ้นที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
    

เป็นกระบวนการปฏิรูปการบริหารจัดการเชิงโครงสร้างและระบบ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นแก่นกลาง
     

2ปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งรัดการปฏิรูปภาคเกษตรเดินหน้าภายใต้5ยุทธศาสตร์ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ.(จบปริญญาเอกด้านยุทธศาสตร์โดยตรง)และนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีพาณิชย์(เจ้าของสโลแกน”ทำได้ไวทำได้จริง”)

ด้วยการสร้างกลไก 4 แกนหลักคือภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการและภาคเกษตรกรเป็น4เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 ยุทธศาสตร์ 3S(Safety-Security-Sustainability)เกษตรปลอดภัยเกษตรมั่นคงเกษตรยั่งยืน ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนและยุทธศาสตร์บูรณาการทำงานเชิงรุก นโยบายโลจิสติกส์เกษตร นโยบายอาหารแห่งอนาคต รวมทั้งการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการ22หน่วยงานเพื่อยกระดับศักยภาพองค์กรและพัฒนาต้นน้ำการผลิตด้วยการเพิ่มผลิตภาพ(productivity)ลดต้นทุน การพัฒนาคนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน(Competitiveness)ของประเทศ

ผมจะเล่าให้ฟังโดยสังเขปว่า  2ปีมานี้ เราทำอะไรไปบ้าง ขอยกตัวอย่างเพียง 10 เรื่อง
    

1.เราจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(Agritech and Innovation Center)เรียกสั้นๆว่า ศูนย์AIC 77 จังหวัดเป็นฐานเทคโนโลยีของทุกจังหวัดและยังมีศูนย์AICประเภทศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะด้าน(Center of Excellence:COE)อีกกว่า20ศูนย์ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนา(R&D)และเป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะเกษตรกรผู้ประกอบการและถ่ายทอดนวัตกรรมเน้นเมดอินไทยแลนด์(Made In Thailand)เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีของเราเองโดยคิกออฟพร้อมกันทุกศูนย์ทุกจังหวัดทั่วประเทศเมื่อ1มิถุนายน2563 วันนี้มีเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมกว่า624ชิ้นงานพร้อมถ่ายทอดต่อยอดสู่แปลงนาแปลงสวนแปลงไร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่องกว่า7,000ราย

เราจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ(National Agriculture Big Data Center:NABC)ภายใต้แพลตฟอร์มดิจิตอลใหม่ๆที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)เริ่มตั้งแต่มีนาคม2563 เพราะเทคโนโลยีข้อมูล(Information Technology)คือเครื่องมือเอนกประสงค์ของทุกภารกิจและทุกหน่วยงานโดยกำลังเชื่อมต่อกับBig Dataของหน่วยงานรัฐ เอกชนและศูนย์AICทุกจังหวัด
   

เราปฏิรูปกระทรวงเกษตรฯ.ภายใต้คอนเซ็ปท์GovTechให้เป็นกระทรวงที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี(TechMinistry)
22หน่วยงานในสังกัดกำลังพัฒนาตัวเองโดยโครงการดิจิตอล ทรานสฟอร์เมชั่น(Digital Transformation)เพื่อ เปลี่ยนบริการอนาล็อคเป็นบริการออนไลน์ เปลี่ยนการลงนามอนุมัติด้วยมือเป็นลายเซ็นดิจิตอล(Digital Signature) การเชื่อมโยงตามโครงการNational Single Window การบริการออนไลน์และแพลตฟอร์มแผนที่เกษตร(Agrimap)แบบmobile users
     

2.เราขับเคลื่อนฟาร์มอัจฉริยะ(smart farming)ตามแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเช่น ระบบเซนเซอร์ตรวจวัดดินน้ำอากาศและการอารักขาพืช การปรับระดับพื้นแปลงเกษตร(Land Leveling) ระบบเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์(Sead Technology) ระบบชลประทานอัจฉริยะรวมทั้งการใช้โดรนการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมและแพลตฟอร์มแผนที่เกษตรดิจิตอล(Agrimap platform)
    

3.เราริเริ่มโครงการใหม่ๆเช่นการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง(urban Farming)อย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรกตอบโจทย์Urbanization(ประชากรไทยในเมืองมากกว่าในชนบทตั้งแต่ปี2562) การจัดตั้งสภาเกษตรอินทรีย์PGSแห่งประเทศไทย การขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์1.3ล้านไร่ การวางหมุดหมายแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่บนฐานศาสตร์พระราชาทุกตำบล การจัดตั้งองค์กรชุมขนประมงท้องถิ่น2พันองค์กร การฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพประมงไทย การพัฒนาเกลือทะเลไทย การพัฒนาวัคซีนจากโปรตีนพืชสำหรับสัตว์ โครงการเกษตรแม่นยำ(Recision Agriculture)2ล้านไร่ โครงการพลังงานทดแทนโซล่ารถเซลล์ในฟาร์มกุ้งฟาร์มปลา โครงการธนาคารสีเขียว(Green Bank)ตอบโจทย์Climate Changeโดยเพิ่มต้นไม้ลดก๊าซเรือนกระจกโครงการCold Chainตลอดห่วงโซ่อุปทานและระบบแช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลวแบบNitrogen Freezer เป็นตัวอย่าง

4.เราริเริ่มและขับเคลื่อนนโยบายอาหารแห่งอนาคต พืชแห่งอนาคต(Future Food Future Crop)เช่นการส่งเสริมโปรตีนทางเลือกจากพืช(Plant base Protein) มีบริษัทstartupเกิดขึ้นจำนวนมาก การสนับสนุนโปรตีนทางเลือกจากแมลง(Edible Inseat base Protein)ปัจจุบันมีกว่า2หมื่นฟาร์ม(FAOประกาศเมื่อ3ปีที่แล้วว่าแมลงกินได้Edible Insectคืออนาคตใหม่ของโปรตีนโลก)
    

เราเปลี่ยนวิสัยทัศน์และแนวทางใหม่โดยโฟกัสการผลิตและการตลาดใหม่แบบคลัสเตอร์เช่น คลัสเตอร์อาหารเจอาหารVeganและอาหารFleximiliamอาหารใหม่(Novel food) คลัสเตอร์อาหารฮาลาลซึ่งมีลูกค้ากลุ่มประชากรมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมกว่า2พันล้านคน มูลค่าตลาด48พันล้านบาท และการส่งเสริมการตลาดแบบไฮบริดแพลตฟอร์ม(hybrid marketing platform)ทั้งตลาดในและต่างประเทศ ทั้งออนไลน์ (on-line)ออฟไลน์(off-line)และออนไซต์(on-site)ด้วยโครงการLocal HeroทุกจังหวัดมีทีมE-Commerceรับผิดชอบเป็นต้น
   

5.เราได้วางโรดแม็ปเส้นทางโลจิสติกส์เกษตรเชื่อมไทยเชื่อมโลกในระบบการขนส่งหลายรูปแบบ(Multimodal Transportation)ทั้งทางรถทางรางทางน้ำและทางอากาศ(Low Cost Air Cargo)เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์และเพิ่มความรวดเร็วในการเข้าถึงตลาดทั่วโลกและตลาดเป้าหมายใหม่เช่น


โครงการดูไบคอริดอร์-ไทยแลนด์ คอริดอร์ (Dubai Coridor- Thailand Corridor),เส้นทางรถไฟอีต้าอีลู่(BRI)เชื่อมไทย-ลาว-จีนสู่จีนทุกมณฑล-เอเซียใต้-เอเซียตะวันออก-เอเซียกลาง-ตะวันออกกลาง-รัสเซียและยุโรป และกำลังเปิดประตูใหม่จากอีสานสู่แปซิฟิกไปทวีปอเมริกาเหนืออเมริกาใต้และเปิดประตูตะวันตกประตูใต้สู่ทะเลอันดามัน-อ่าวเบงกอลและมหาสมุทรอินเดียสู่เอเซียใต้ อัฟริกา ตะวันออกกลางและยุโรป
   

6.เรากำลังปรับเปลี่ยนเกษตรแปลงย่อยเป็นเกษตรแปลงใหญ่(Big Farm)ซึ่งขณะนี้ขยายเพิ่มเป็นกว่า8,000แปลงเป็นพื้นที่รวมกว่า7ล้านไร่แล้วโดยมีการสนับสนุนเครื่องจักรกลเกษตรและระบบเกษตรอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

7.เราพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่เป็นyoung smart farmerได้กว่า 20,000คนและส่งเสริมพัฒนาศูนย์ศพก.เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ระดับอำเภอพร้อมกับยกระดับเกษตรกรที่มีประสบการณ์สู่ระบบคุณวุฒิวิชาชีพโดยร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ


8.เรานำระบบทรัพย์สินทางปัญญา(Intellectual property)มาใช้ในการสร้างเกษตรมูลค่าสูงสร้างผลิตภัณฑ์สร้างแบรนด์ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์(Creative Economy)โดยมีทีมงานรับผิดชอบโดยตรง


9.เราบริหารการพัฒนาเชิงพื้นที่(Area base)ควบคู่กับการบริหารการพัฒนาเชิงคลัสเตอร์เช่น โครงการ1กลุ่มจังหวัด1นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารทั้งหมด18กลุ่มจังหวัดเป็นศูนย์การแปรรูปผลผลิตเกษตรเพื่อกระจายการพัฒนาทุกภาคทุกจังหวัดไม่ให้เจริญแบบกระจุกตัวซึ่งก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาโดยปี2565 รัฐมนตรีเกษตรฯ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อนได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาการเกษตรระดับอำเภอ878อำเภอทั่วประเทศและคณะทำงานเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล7,255ตำบลเพื่อสร้างจุดเปลี่ยนระดับพื้นที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

10.ความก้าวหน้าของงานแต่ละด้านเกิดจากการบริหารแบบเปิดกว้างสร้างหุ้นส่วน(Partnership platform)ในการทำงานกับทุกภาคีภาคส่วนเช่นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมต่างๆ สถาบันอาหาร มหาวิทยาลัยและวิทยาลัย สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย เครือข่ายองค์กรเอกชน ทุกกระทรวงและทุกพรรคการเมืองไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาล การยึดประโยชน์บ้านเมืองมาก่อนประโยชน์ทางการเมืองได้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจนำมาซึ่งความร่วมมืออย่างจริงจังและจริงใจ ประการสำคัญคือการทำงานอย่างทุ่มเทของคนกระทรวงเกษตรฯ.
    

งานหนักและอุปสรรครออยู่ข้างหน้าอีกมาก แต่ด้วยก้าวใหม่ๆตามโรดแม็ปที่วางไว้ เราเดินเข้าใกล้เป้าหมายในทุกก้าวที่กล้าเดิน
    

การปฏิรูปรากฐานใหม่ของภาคเกษตรกรรมเพื่อสร้างศักยภาพใหม่ให้กับเศรษฐกิจฐานรากและสร้างความพร้อมของประเทศในการเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆของวันนี้และวันหน้าเป็นอนาคตที่ต้องรีบสร้างโดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรไทยต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีรายได้สูงพ้นจากความยากจนและหนี้สินที่เสมือนเป็นโคลนติดล้อของชีวิตมาอย่างยาวนานและประเทศไทยของเราต้องเข้มแข็งและมั่งคั่งขึ้นเพื่อประโยชน์ของคนไทยทุกคนครับ
   

ยังมีเรื่องกระดุมอีกหลายเม็ดที่กลัดใหม่ไว้จะเล่าในโอกาสต่อๆไปครับ.

เกี่ยวกับผู้เขียน:
นายอลงกรณ์ พลบุตร
รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์
ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ.
อดีตรมช.พาณิชย์ อดีต ส.ส.6สมัย
ที่ปรึกษาสันนิบาตสหกรณ์ฯ.

"อลงกรณ์" เปิดวิสัยทัศน์ "ปลดกระดุมทุกเม็ดแล้วกลัดใหม่" ลุยปฏิรูปเกษตรไทย

Leave a Comment