ที่กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 5 มกราคม 2564 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาลและการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานคร กลุ่มปฏิบัติการด้านการจัดการเตียงและรักษาพยาบาล UHosNet BKK กรมการแพทย์ และคณะอนุกรรมการด้านการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (ครั้งที่ 29/2564) เพื่อติดตามสถานการณ์และความคืบหน้าการฉีดวัคซีน COVID-19 สถานการณ์การระบาด COVID-19 พร้อมศักยภาพเตียงและการเตรียมการเพื่อรองรับการระบาด COVID-19 สายพันธุ์ Omicron สถานการณ์การเริ่มต้น Wave ที่ 5 ของการระบาด COVID-19
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการคาดการณ์ของดร.สันต์ ศรีอรรฆ์ธำรง อาจารย์พิเศษคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สถานการณ์ COVID-19 ขณะนี้ก้าวเข้าสู่ระลอกที่ 5 โดยมาเร็วกว่าคาดการณ์ไว้ และกราฟการติดเชื้อกำลังตั้งชัน วันนี้แม้ผู้ป่วยติดเชื้อจะอยู่ที่ 3,899 คน แต่ตัวเลขติดเชื้อจากการตรวจ ATK อีก 3,000 คน ซึ่งจะทำให้มีผู้ป่วยรวมกว่า 7,000 คน
สำหรับอาการของโอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าเดลตา แต่แพร่ได้เร็วกว่า จากการรักษาผู้ติดโอไมครอนในไทย 100 คน พบครึ่งหนึ่งมีอาการอีกครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ นอกจากนี้อาการของผู้ติดเชื้อโอไมครอนยังแยกได้ยากกับโรคหวัด เพราะในจำนวน 100 คนมี 7 คน เชื้อลงปอด แต่ไม่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และพบว่ามีอาการไอ 54% เจ็บคอ 37% มีไข้ 29% ปวดกล้ามเนื้อ 15% มีน้ำมูก 12% ปวดศีรษะ 10% หายใจลำบาก 5% ได้กลิ่นลดลง 2%
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวด้วยว่า หากมีอาการคล้ายไข้หวัด ไอ เจ็บคอ ให้กันตัวเองออกจากที่ชุมชน อย่าเพิ่งไปร่วมกิจกรรม และให้ตรวจ ATK ซึ่งหลังจากนี้การตรวจวัดไข้ ก่อนเข้าสถานที่ต่างๆนั้นไม่ได้ผลแล้ว อยากขอให้สื่อช่วยสื่อสาร ทั้งในหน่วยงาน องค์กร ห้างสรรพสินค้า อาจต้องมีป้าย หรือระบบในการย้ำประชาชนที่เข้ามาใช้บริการว่าหากมีอาการคล้ายไข้หวัดให้สงสัย และรีบตรวจ ATK อย่าเพิ่งเข้าแหล่งชุมชน หรือพื้นที่สาธารณะ ตรวจ ATK ติดเชื้อติดต่อสายด่วน 1330 สปสช.ภายใน 6 ชั่วโมงจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ ประเมินอาการเบื้องต้น ถ้าอาการไม่หนักจะเข้าสู่ระบบ การแยกกักที่บ้าน (Home Isolation :HI) หรือ ศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation :CI) หากอาการหนักให้โทร 1669 เพื่อรักษาในโรงพยาบาล”
นพ.สมศักดิ์ ระบุว่า หากการระบาดเป็นไปตามฉากทัศน์ที่กรมควบคุมโรค สธ.ประเมินว่า อาจมีผู้ติดเชื้อสูงสุดถึงวันละ 30,000 ราย กรมการแพทย์จะมีเตียงเพียงพอในการรักษา ขณะเดียวกัน แนวทางการรักษาผู้ป่วยหลังจากนี้ จะเน้นที่การแยกกักที่บ้าน และศูนย์พักคอยในชุมชนเป็นลำดับแรก แต่หากมีอาการหนักจะส่งต่อรักษายังโรงพยาบาล (รพ.) ที่มีเตียงรองรับ
ทั้งนี้การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยระลอกแรก พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อู่ฮั่น จากประเทศจีน ต่อมาระลอกที่ 2 พบสายพันธุ์จี (G) (แรงงานสมุทรสาคร ช่วงปลายปี 2563-ต้นปีใหม่ 2564) ระลอกที่ 3 พบสายพันธุ์แอลฟา (สถานบันเทิงย่านทองหล่อ ช่วงเดือนเมษายน 2564) ระลอกที่ 4 พบสายพันธุ์เดลต้า (แคมป์คนงานหลักสี่ เดือนมิถุนายน 2564 และต่อเนื่อง) และล่าสุด ระลอกที่ 5 พบสายพันธุ์โอไมครอน (จากผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564)