เชียงใหม่ ม.เกษตรศาสตร์ ร่วมกับปางช้างแม่แตง จัดยิ่งใหญ่นิทรรศการศิลปะเพื่อช้าง Art for Elephant
บรรยากาศ ที่ปางช้างแม่แตง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ได้มีการจัดพิธีบวงสรวงพระพิฆเณศวรประจำปีพร้อมทั้งแถลงข่าวการจัดนิทรรศการศิลปะเพื่อช้าง พร้อมมีการวาดภาพร่วมกัน ระหว่างศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับประเทศกับศิลปินช้างน้อยชื่อดังแห่งปางช้างแม่แตงทั้ง พลายธันวา พังสุรีย์ และพังสุดา ที่เคยสร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการศิลปะวาดภาพร่วมกับศิลปินชื่อดังแล้วนำไปประมูลได้รายได้ระดับภาพละเป็นล้านบาทมาแล้ว
นิทรรศการศิลปะเพื่อช้างจะจัดขึ้นที่ห้องนิทรรศการอาคารศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ 60 พรรษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2565 ซึ่งจะมีการนำเสนอผลงานวิจัย “โครงการวิจัย การถอดรหัสพันธุกรรมของช้างไทย เพื่อจัดทำฐานข้อมูลจีโนมอ้างอิงเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เป็นการดำเนินการ โดย รศ.ดร. ครศร ศรีกุลนาถ และคณะวิจัย หน่วยวิจัยจีโนมิกส์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้งบประมาณวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ” ซึ่งใช้ช้างจากปางช้างแม่แตงเป็นกรณีศึกษาในเบื้องต้น และในงานก็จะมีจัดการแสดงภาพวาดจากศิลปินช้างน้อยจากปางช้างแม่แตงเป็นนิทรรศการศิลปะเพื่อช้าง Art for Elephant ซึ่งนอกจากจะมีผลงานวาดเดี่ยวของศิลปินช้างไว้เพื่อจำหน่ายแล้ว ยังมีผลงานของศิลปินระดับประเทศอีกหลายท่านซึ่งให้เกียรติมาวาดรูปร่วมกับช้างศิลปินแห่งปางช้างแม่แตง เพื่อนำไปจัดประมูลในงานครั้งนี้ นำโดยอาจารย์พรชัย ใจมา ศิลปินรางวัลศิลปาธร แห่งพิพิธภัณฑ์หอศิลป์เชียงใหม่ ChiangMai Art museum
รศ.ดร.ครศร ศรีกุลนาถ อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิจัยหัวหน้าหน่วยวิจัยจีโนมิกซ์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า จากการที่ได้ลงพื้นที่ทำการวิจัยที่ปางช้างแม่แตง เมื่อหลายเดือนก่อน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากปางช้างแม่แตง และยังได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขาดแคลนรายได้เพราะผลกระทบจากโควิด 19 จึงได้คิดที่จะจัดนำเสนอผลงานวิจัยพร้อมกับนิทรรศการศิลปะเพื่อช้างครั้งนี้ขึ้น เพื่อที่จะสามารถช่วยเหลือช้างได้บ้างในสถานการณ์ที่ยังคงย่ำแย่อยู่แบบนี้ ซึ่งก็คาดหวังว่ากิจกรรมศิลปะเพื่อช้างในครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จไม่มากก็น้อย
ทางด้านกลุ่มศิลปินเพื่อช้าง นางสาวสุชาดา ปัญญากาบ หรือครูน้อง ในฐานะตัวแทนอาจารย์พรชัย ใจมา ศิลปินรางวัลศิลปาธร ซึ่งอาจารย์เป็นตัวตั้งตัวตีในการรวมกลุ่มศิลปินมาวาดรูปร่วมกันช้างในครั้งนี้แต่ไม่สามารถที่จะเดินทางมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ได้ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าตั้งใจมาร่วมกิจกรรมสำคัญในครั้งนี้อยู่แล้ว เพราะทางอาจารย์พรชัยได้ติดต่อทาบทามมาให้มาช่วยกันวาดรูปกับศิลปินช้างน้อย เพื่อนำไปประมูลหาเงินมาช่วยช้าง ส่วนตัวก็ได้ร่วมกิจกรรมกับอาจารย์มาโดยตลอดก็มาด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยช้างในครั้งนี้ เพราะด้วยความที่ร่ำเรียนมาในทางศิลปะก็มีความศรัทธาต่อพระพิฆเณศวรอยู่แล้ว อีกอย่างช้างเป็นเป็นสัตว์สำคัญประจำชาติไทย ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มาช่วยช้าง และรู้สึกดีใจและตื่นเต้นที่จะได้ทำงานศิลปะร่วมกับช้างในครั้งนี้
นายธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย และเจ้าของปางช้างภัทร ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่ามาให้กำลังใจศิลปินกับกิจกรรมดีๆ เพื่อช้างในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือช้างไทยมอบรายได้ให้กับทางโรงพยาบาลช้างและทางสมาคมสหพันธ์ช้างไทยด้วย เพื่อเป็นการดูแลรักษาสุขภาพช้างให้มีสุขภาพแข็งแรง อยู่คู่บ้านคู่เมืองของเราตลอดไป รู้สึกชื่นชมทั้งศิลปินที่มาช่วยงาน และชื่นชมกับศิลปินช้างน้อยที่มีความสามารถพิเศษซึ่งได้รับจากการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ให้ช้างได้แสดงความแสดงศักยภาพความเก่งของเขาออกมา ซึ่งช้างเป็นสัตว์ที่ตัวใหญ่ที่สุดบนพื้นโลกนี้ มีขนาดมันสมองที่ใหญ่มากๆ สามารถเรียนรู้และจดจำสิ่งต่างๆ ได้เป็นอย่างดี รู้สึกชื่นชมช้างไทยของเรา ต้องขอบคุณทางคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ให้ความสำคัญกับช้างไทย มีงานวิจัยดีๆ เกี่ยวกับช้างออกมาและให้โอกาสให้ช้างได้แสดงความสามารถพิเศษ โดยจัดนิทรรศการศิลปะเพื่อช้างโดยศิลปินช้างและศิลปิน
ที่มีชื่อเสียงให้ได้มีโอกาสมาทำงานศิลปะระดับชาติร่วมกัน
ดร.บุญทา ชัยเลิศ ประธานบริหารปางช้างแม่แตง ได้เปิดเผยว่าทางปางช้างแม่แตงของเราเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาและวิจัยเรื่องช้างไทยมาตลอด หลายๆ สถาบันหลายๆ สถานศึกษา ส่งนักเรียน นักศึกษามาเรียนรู้ บ้างมาฝึกงาน และทำการศึกษาวิจัยให้หลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นงานด้านบริการ บริหารการท่องเที่ยว ทั้งทางด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และเรื่องของการดูแลสุขภาพสัตว์ ก็มีสัตวแพทย์มาฝึกงานเรียนรู้กันอย่างจริงๆ จังๆ ที่ปางช้างแม่แตงของเรามาโดยตลอด
ซึ่งทางเราก็มีความยินดีที่จะรับใช้ทุกๆ สถาบันการศึกษา ให้เป็นที่ศึกษาดูงานฝึกงานกันอย่างที่เราทำมาตลอดเวลาด้วยความยินดีและเต็มใจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับงานวิจัยเรื่องจีโนมครั้งนี้ นับเป็นการศึกษาวิจัยที่สำคัญเป็นก้าวที่สำคัญอย่างยิ่งต่อวงการช้างไทย ต้องขอขอบพระคุณหน่วงานจีโนมิกส์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์ที่ให้ความสำคัญกับช้าง ลงพื้นที่ศึกษาวิจัยที่ปางช้างแม่แตงมาเป็นเวลาหลายเดือนจนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ทั้งยังให้โอกาสช้างศิลปินของเราได้แสดงความสามารถในทางศิลปะ จัดนิทรรศการศิลปะเพื่อช้างควบคู่ไปกับการนำเสนอผลงานวิจัยชิ้นสำคัญ
สำหรับบรรยากาศในปางช้างแม่แตงในวันนี้นั้น มีการบวงสรวงสักการะองค์พระพิฆเณศวรประจำปางช้างซึ่งว่างเว้นการจัดไปถึงสองปีแล้ว เพราะสถานการณ์โควิด 19 หลังจากนั้นก็มีการร่วมรับประทานอาหารกลางวันและแถลงข่าวพร้อมทั้งศิลปินชื่อดังร่วมวาดรูปกับศิลปินช้างน้อยแห่งปางช้างแม่แตงทั้งสามเชือก เพื่อนำไปจำหน่ายและประมูลหารายได้มอบเป็นค่าอาหารและค่ารักษาพยาบาลช้างป่วยต่อไป
นิทรรศการศิลปะเพื่อช้าง Art for Elephant จะจัดขึ้น ณ อาคารศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ 60 พรรรษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ใน วันที่ 23 พฤษภาคม 2565.