กระแสกัญชงมาแรงหลังจากรัฐบาลปลดล็อกเปิดโอกาสให้สามารถขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะ “กัญชง” (Hemp) เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา
ผมเคยเขียนเรื่องกัญชงครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายนปี2562และเสนอให้รัฐบาลปลดล็อคกัญชงเพราะกัญชงสามารถเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทยสามารถแปรรูปใช้ประโยชน์ได้ไม่น้อยกว่า10กลุ่มอุตสาหกรรมตั้งแต่อุตสาหกรรมอาหารและยาจนถึงอุตสาหกรรมยานยนต์และไฮเทค
ประการสำคัญคือสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงซึ่งเป็นองค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำการวิจัยและพัฒนากัญชงมากว่า10ปีจนสามารถพัฒนาพันธุ์กัญชงผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นรายแรกและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท เรียกว่ามีองค์ความรู้และฐานข้อมูลดีที่สุดในบ้านเรา
กัญชง ถือว่าเป็นพืชที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อยอดทางธุรกิจได้มากมาย และกําลังเป็นสินค้าที่นิยมของผู้บริโภคกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ทั้งต้น ใบ เมล็ด เปลือก สามารถแปรรูปนำไปทำผลิตภัณฑ์ได้มากมายหลากหลายอย่างตั้งแต่อุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่นําเส้นใยมาทําเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม อีกทั้งทำเสื้อเกราะกันกระสุนชั้นดีที่มีน้ำหนักเบา และสามารถใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ทำเยื่อกระดาษ (โดยเฉพาะกระดาษพิมพ์ธนบัตร) วัสดุหีบห่อ ฉนวนกันความร้อน ไบโอพลาสติก ทำอิฐ (Hempcrete) หรือคอนกรีต สำหรับงานก่อสร้าง ทำส่วนประกอบรถยนต์ ทำเฟอร์นิเจอร์ เช่น พรม เก้าอี้ เป็นต้น
นอกจากนั้นน้ำมันและสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ยังใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหาร ความงาม และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีทั้งโปรตีน วิตามินอี และโอเมก้าสูงมาก โดยนำไปทำเป็นอาหาร เช่น เส้นพาสต้า คุกกี้ ขนมปัง เบียร์ ไวน์ ซอส น้ำมันพืช เนยเทียม ชีส นม ไอศกรีม น้ำมันสลัด อาหารเสริม เต้าหู้ โปรตีนเกษตร หรือผลิตเป็นแป้งทดแทนถั่วเหลืองได้เป็นอย่างดี มีประโยชน์ต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดการเกิดโรคมะเร็ง ช่วยรักษาไมเกรน โรคเกาต์ โรคบิด โรคลมชัก อีกทั้งนำไปทำน้ำมันซักแห้ง ทำสบู่ แชมพู โลชั่น เครื่องสำอาง ครีมกันแดด ครีมบำรุงผิว รักษาโรคผิวแห้งคันและสะเก็ดเงินได้เป็นอย่างดี แม้แต่ในอุตสาหกรรมการเกษตร สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ย อาหารสัตว์ หรือผลิตเป็นพลังงานชีวมวลในรูปแบบต่างๆ เช่น ถ่านไม้ แอลกอฮอล์ น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น แกนของต้นกัญชงมีคุณสมบัติดูดซับกลิ่น น้ำ หรือน้ำมัน ที่ประเทศญี่ปุ่นจึงมีการปลูกต้นกัญชงเพื่อช่วยดูดซับกัมมันตภาพรังสีอีกด้วยจากสรรพคุณที่กล่าวมาทั้งหมดถือได้ว่า กัญชงเป็นพืชมหัศจรรย์โดยแท้จริง
ปัจจุบันอุตสาหกรรมเส้นใยกัญชงและอุตสาหกรรมอาหารจากกัญชงเจริญเติบโตรวดเร็วมาก มีการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมมากกว่า ๓๐ ประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศอังกฤษนั้นเป็นผู้นำระดับโลกในอุตสาหกรรมนี้ ในทวีปยุโรป เช่น ออสเตรีย เยอรมนี ฝรั่งเศส แคนาดา สวีเดน นิวซีแลนด์ มีองค์กรระดับชาติที่ส่งเสริมการปลูกกัญชงทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสหรัฐอเมริกามียอดขายผลิตภัณฑ์จากกัญชงหลายล้านดอลลาร์ต่อปี ในทวีปเอเชีย สาธารณรัฐประชาชนจีนมีการผลิตกัญชงมากที่สุด และส่งออกกัญชงไปสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับหนึ่ง สร้างรายได้มหาศาลให้เกษตรกรชาวจีน อีกทั้งจีนยังได้จดสิทธิบัตรไว้จำนวนมาก ซึ่งกัญชงยังถูกจัดเป็น ๑ ใน ๕ พืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศจีน
กัญชงหรือเฮมพ์ต่างจากกัญชา
“กัญชง” หรือที่ฝรั่งเรียกว่าเฮมพ์ (Hemp) เป็นพืชที่จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับ “กัญชา” (Marijuana) มีสารCBD(Cannabioil)จำนวนมากและมีสารออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท หรือ สารเสพติด (Tetrahydrocannabinol: THC) น้อยมาก ในช่อดอกกัญชามีค่า THC ประมาณ ๑-๑๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ในกัญชงมีค่า THC ประมาณ ๐.๓ เปอร์เซ็นต์ ถึงกระนั้นในประเทศไทย กัญชงก็ยังถูกจัดเป็นพืชสารเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ ตามพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ จึงปลูกอยู่ในวงจำกัดเฉพาะในพื้นที่ควบคุมเท่านั้นตามกฎกระทรวงสาธารณสุขปี2559
กัญชง เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุเพียงปีเดียว ที่สำคัญปลูกเพียง ๓-๔ เดือน ก็สามารถใช้การได้ ปลูกง่าย ใช้น้ำน้อย ไม่ต้องพรวนดินใส่ปุ๋ยหรือกำจัดวัชพืช กัญชงคุณภาพดีควรปลูกในพื้นที่อากาศ หนาวเย็นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลอย่างน้อย ๖๐๐ เมตร ดังนั้นจึงส่งเสริมให้ปลูกแต่ในภาคเหนือเท่านั้น ประเทศไทย โชคดีที่มีสภาพภูมิอากาศและพื้นที่เหมาะสมกับพืชกัญชง จึงสามารถปลูกได้ ๒-๓ ครั้งต่อปีและด้วยการพัฒนาสายพันธุ์กัญชงใหม่ๆจะสามารถปลูกได้เกือนทุกภาคทุกจังหวัดทั่วประเทศ ขณะนี้มีพื้นที่ที่ได้รับการอนุญาตปลุกแบบควบคุมเพียง5จังหวัดเท่านั้น ต่อไปจะต้องปลดล็อคกัญชงให้เกษตรกรและ เอกชนปลูกโดยขออนุญาตได้ทั่วประเทศและต้องกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปกัญชงเพื่อใช้ในประเทศและส่งออกโดยตั้งเป้าให้ไทยเป็นฮับกัญชงของอาเซียน