รองนายกรัฐมนตรี ”วิษณุ เครืองาม” มอบรางวัลราชบัณฑิตยสภาสรรเสริญให้เยาวชน 4 ภาคที่ชนะเลิศกิจกรรมต่างๆ ในวันภาษาไทยแห่งชาติประจำปี 2565 ภาคเหนือตัวแทนจาก ลำปาง-พะเยา-เชียงใหม่ รับรางวัลด้วย
วันที่ 27 ก.ค.65 ที่ห้องแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้น ถ.วิภาวดี กรุงเทพฯ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2565 ภายใต้หัวข้อ “ภาษาไทย ภาษาถิ่นในแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ 240 ปี” โดยได้รับเกียรติจาก ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมมอบรางวัลราชบัณฑิตยสภาสรรเสริญให้แก่นักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ จำนวนทั้งสิ้น 21 คนใน 3 กิจกรรม ประกอบด้วย 1.การพูดเล่าเรื่องด้วยภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยถิ่น หัวข้อ “ท้องถิ่นที่มา ภาษา วัฒนธรรม” ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 2.การแข่งขันทักษะการใช้ภาษาไทยของเยาวชน ทักษะการอ่านออกเสียงของนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย และ3.กิจกรรมการประกวดแข่งขันคัดลายมือของนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลายและระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยในเวทีภาคเหนือมีนักเรียนที่ชนะเลิศที่เข้ารับรางวัลครั้งนี้คือ เด็กหญิงจิราภัทร รักสถาน โรงเรียนบ้านสบพลึง จังหวัดลำปาง รองชนะเลิศอันดับ1 เด็กหญิงชนิดาภา พงศ์วรินทร์ โรงเรียนพะเยาพิทยาคม จังหวัดพะเยา และรองชนะเลิศอันดับ2ได้แก่ เด็กหญิงต้นอ้อ ลุงต่า โรงเรียนฝางชนูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่
โอกาสนี้ ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งภายหลังพิธีมอบรางวัลว่า รัฐบาลมีความยินดีและให้การสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ในวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี การที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาให้ความสำคัญและจัดงานนี้ขึ้นมาเป็นเรื่องที่ดีทำให้ผู้คนตื่นตัวกันมากและเห็นคุณค่าของภาษาไทย เพราะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่นประกวดพูด ประกวดเล่าเรื่อง ประกวดคัดลายมือ มีการใช้ทักษะด้านภาษาต่าง ๆ มากมาย ขณะเดียวกันทางกระทรวงวัฒนธรรม และสำนักนายรัฐมนตรีก็มีการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติเช่นกัน จึงอยากให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ มหาวิทยาลัย สนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมเช่นนี้ด้วย เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญด้านภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติที่สำคัญ“ เราเป็นประเทศที่โชคดีมีภาษาเป็นของเราเอง อย่างบางประเทศไม่มีภาษาของตนเอง ต้องใช้ภาษาของประเทศอื่น เช่น สหรัฐอเมริกาหรือสวิตฯ ความจริงการใช้ภาษาไทยภาษาถิ่นเป็นเรื่องที่สนุกมาก ถ้าเราเพลิดเพลินไปกับมัน บางครั้งอาจมองเป็นเรื่องตลกขบขันก็ได้ เพราะเราไม่คุ้นกับมัน อย่างเวลาเราไปเจอภาษาถิ่นอีสาน ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากลาง เมื่อเราพูดคำว่าไก่ย่าง เขาจะหมายถึงไก่เดิน ถ้าเราต้องการจะชี้ไก่ที่อยู่บนเตาแล้วอยากซื้อ เราต้องเรียกว่าไก่ปิ้ง เพราะถ้าบอกว่าซื้อไก่ย่าง เขาก็จะไปอุ้มไก่ในเล้ามาเดินให้เราดู เรื่องแบบนี้ผมว่ามันสนุก ภาษามีเสน่ห์ในตัวมันเอง”
รองนายกรัฐมนตรียกตัวอย่างความแตกต่างในการใช้ภาษาถิ่น ซึ่งการที่จะสื่อสารอะไรออกไปจะต้องเข้าใจความหมายคำนั้นด้วย พร้อมบอกว่า ความเป็นประเทศไทยมิได้มีเฉพาะกรุงเทพฯ ไทยมี 76 จังหวัดและการปกครองพิเศษ กรุงเทพฯ ทุกพื้นที่ทุกภาคต่างมีภาษาท้องถิ่นที่สะท้อนถึงอารยะธรรมประเพณีวัฒนธรรมอันงดงาม มีอายุเก่าแก่ เช่น เชียงใหม่ก็ฉลองมากว่า 700 ปี หรือหลายจังหวัดก็มีอายุมากกว่า 240 ปีมากกว่ากรุงเทพฯ ภาษาถิ่นของไทยจึงมีคุณค่าอย่างมากที่จะต้องช่วยกันอนุรักษ์สืบสานไปพร้อมๆกับภาษาไทยกลางตามยุคสมัย ราชบัณฑิตยสภาทำกิจกรรมแบบนี้เป็นเรื่องที่ดีและอยากให้มีการขยายผลส่งเสริมกระตุ้นให้เห็นความสำคัญ สถานศึกษา องค์กรต่างๆหากมีการสร้างความรู้หรือความตระหนักในวงกว้างก็จะเป็นผลดีอย่างมาก โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นหลัง
ด้าน รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา กล่าวถึงการจัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติในปีนี้ว่า เป็นกิจกรรมที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาให้ความสำคัญและดำเนินการจัดอย่างต่อเนื่องมาหลายปี โดยในปีนี้เป็นปีที่มีวาระสำคัญ 2 วาระคือ เป็นปีครบรอบ 60 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานกระแสพระราชดำริเรื่อง”ปัญหาการใช้คำไทย”ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ และอีกวาระเป็นปีที่ครบรอบการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ครบ 240 ปีในปี 2565 นี้ด้วยอย่างไรก็ตามการจัดกิจกรรมในวันนี้มีทั้งการเสวนาทางวิชาการในประเด็น อดีต ปัจจุบันและอนาคตของภาษาไทย โดยวิทยากรได้แก่ ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ราชบัณฑิต และรศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ รองราชเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา และพิธีการมอบรางวัลราชบัณฑิตสรรเสริญให้แก่เยาวชนผู้มีความสามารถในการใช้ภาษาไทยและภาษาถิ่น โดยร่วมกิจกรรมที่ราชบัณฑิตฯจัดขึ้นในแต่ละภูมิภาค ซึ่งเยาวชนเหล่านี้เป็นอนาคตที่จะทำให้ภาษาไทยเจริญงอกงามต่อไป ทั้งนี้ตลอดการจัดงานยังมีการถ่ายทอดสดทั้งภาพและเสียงผ่านเครือข่ายสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(ม.ก.)ทั้ง 4 ภูมิภาคในทุกแพลทฟอร์มอีกด้วย.