นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์ FB โดยแสดงภาพที่ผู้ผลิตวัคซีน sinovac ส่งภาพนี้มาให้ผม เพื่อยืนยันว่าวัคซีนโควิด ล็อตแรกสำหรับประเทศไทย พร้อมจะเดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ นี้ ตามที่ผมได้แจ้งต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และจะส่งมาอย่างต่อเนื่องจนครบ 2ล้านโดส ตามที่องค์การเภสัชกรรม ได้สั่งซื้อไป ภายในเดือนเมษายน
#คนไทยต้องปลอดภัย
เมื่อวัคซีนมาถึงกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะตรวจคุณภาพวัคซีนใช้เวลา 5 วัน แล้วจะกระจายไปยังจังหวัดเป้าหมาย และเริ่มฉีดให้เร็วที่สุด โดยจังหวัดเป้าหมายที่จะได้ฉีดวัคซีนลอตแรก คือ พื้นที่สีแดงหรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่สีส้ม คือ พื้นที่ควบคุม ปัจจุบันประกอบด้วย สมุทรสาคร กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี ตาก ราชบุรี
สำหรับขั้นตอนการฉีดวัคซีนเป็นไปตาม 8 ขั้นตอน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วางไว้ มีดังนี้
1.ลงทะเบียน (ทำบัตร)
2.ชั่งน้ำหนักวัดความดันโลหิต
3.คัดกรอง ซักประวัติ ประเมินความเสี่ยง ลงนามความยินยอมรับวัคซีน
4.รอฉีดวัคซีน
5.ฉีดวัคซีน
6.พักสังเกตอาการ 30 นาที และสแกน line official account “หมอพร้อม”
7.ตรวจก่อนกลับ พร้อมรับเอกสารการปฏิบัติตัวหลังฉีดวัคซีน
8.ประเมินผลความครอบคลุมการฉีดวัคซีนและอาการไม่พึงประสงค์ และนัดหมายฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ผ่าน “หมอพร้อม”
ประชากรในจังหวัดเป้าหมายซึ่งจะได้ฉีดวัคซีนล็อตแรกมี 3 กลุ่ม ได้แก่
1.บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข อสม. และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย เช่น ตำรวจ ทหาร
2.ประชาชนที่ป่วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจ และหลอดเลือด ไตเรื้อรังโรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน โดยให้แพทย์เป็นผู้ประเมินและคัดเลือกจากฐานข้อมูลการเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล
3.ประชาชนทั่วไปอายุ 18-59 ปี ที่ทำงานที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว แรงงานภาคอุตสาหกรรม ผู้ที่ต้องเดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักบิน/ลูกเรือ นักธุรกิจระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ และนักการทูต
สำหรับกรณีประชาชนที่เป็นผู้ป่วยโรคที่ควรจะได้รับการฉีดวัคซีนก่อน หากปกติเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดที่ไม่ได้เป็นเป้าหมายการฉีด แต่ทำงานอยู่ในจังหวัดเป้าหมายซึ่งเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ ให้ไปพบแพทย์ที่รักษาประจำ แล้วขอประวัติการรักษาเพื่อไปยื่นต่อแพทย์ในจังหวัดที่ทำงานอยู่ แพทย์จะพิจารณาให้ฉีดวัคซีนได้
การฉีดวัคซีนระยะแรกจะให้บริการในโรงพยาบาลเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
สถานบริการที่จะให้บริการฉีดวัคซีนในจังหวัดเป้าหมายระยะแรก 2 ล้านโดส ที่จะมาถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ ประกอบด้วย
สมุทรสาคร โรงพยาบาลรัฐ 4 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 6 แห่ง รวม 10 แห่ง
กรุงเทพฯ โรงพยาบาลรัฐ 32 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 30 แห่ง รวม 62 แห่ง
นนทบุรี โรงพยาบาลรัฐ 9 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 12 แห่ง รวม 21 แห่ง
ปทุมธานี โรงพยาบาลรัฐ 10 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 12 แห่ง รวม 22 แห่ง
ระยอง โรงพยาบาลรัฐ 8 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 5 แห่ง รวม 13 แห่ง
ชลบุรี โรงพยาบาลรัฐ 19 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 13 แห่ง รวม 32 แห่ง
จันทบุรี โรงพยาบาลรัฐ 12 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 2 แห่ง รวม 14 แห่ง
ตราด โรงพยาบาลรัฐ 7 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 1 แห่ง รวม 8 แห่ง
และตาก โรงพยาบาลรัฐ 9 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 2 แห่ง รวม 11 แห่ง
ในอนาคต เบื้องต้น จะ มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่ให้บริการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ 1,000 แห่ง แต่ละแห่งสามารถฉีดได้ 500 คน/วัน โดยเฉลี่ยฉีดได้เดือนละ 10 ล้านโดส แต่หากสามารถขยายไปฉีดใน รพ.สต.ได้จะลดเวลาการฉีดลง