โหมโรง เทศกาลโคมล้านนาปู่จาผางประทีป เชียงใหม่ 8 – 13 พ.ย.นี้

โหมโรงต้อนรับการท่องเที่ยว จัดเทศกาลโคมล้านนา ปู่จาผางประทีปหนองบัวพระเจ้าหลวง หลังจากงดจัดกิจกรรมมา 2 ปี ครั้งนี้จัดยิ่งใหญ่นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีประเพณีแบบล้านนา ปล่อยโคมไฟล้านนานับหมื่นลูก พร้อมผางประทีปนับหมื่นดวง นำมาตกแต่งภายในพื้นที่หนองบัวพระเจ้าหลวง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

นายธนกฤต ฉันทะจำรัสศิลป์ นายอำเภอดอยสะเก็ด พร้อมด้วยนายมงคล ชัยวุฒิ นายกเทศมนตรีตำบลเชิงดอย ดร.นพดล มณีเฑียร ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา นายยอด คุณยศยิ่ง สาธารณสุขดอยสะเก็ด และนางสาวพิมพ์ลภัส ขัติวงษ์ นายกก่อตั้งสโมสรไลออนเชียงใหม่ดอยสะเก็ดร่วมกันแถลงข่าวเตรียมจัดกิจกรรม ประเพณียี่เป็ง เทศกาลโคมล้านนาปู่จาผางประทีปหนองบัวพระเจ้าหลวง จัดขึ้นวันที่ 8 -13 พฤศจิกายน 2565 ณ หนองบัวพระเจ้าหลวง ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ดจังหวัดเชียงใหม่ ให้นักท่องเที่ยวร่วมการปล่อยโคมไฟ ซึ่งได้ขออนุญาตและรับอนุญาตจากอำเภอดอยสะเก็ด ในห้วงวันที่ 8-9 พฤศจิกายน 2565 เนื่องจากเป็นพื้นที่นอกเขตการบินของจังหวัดเชียงใหม่ ทางเทศบาลตำบลเชิงดอย ได้มีมาตรการเฝ้าระวังในห้วงการปล่อยโคมไฟ และจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ตระเวนจัดเก็บซากโคมในระยะ 10 กิโลเมตร

นอกจากนี้ภายในงานจัดเตรียมสร้างอุโมงค์ไฟยาว 50 เมตร ตกแต่งศาลาแปดเหลี่ยมด้วยโคมไฟแบบล้านนาอย่างตระการตา บริเวณหาดทรายจะมีผางประทีปนับหมื่นดวง มีแสงสีอย่างสวยงาม และการแสดงความบันเทิงมากมาย ให้ผู้มาร่วมงานได้สนุกสนานของประเพณียี่เป็ง ซึ่งหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ต้องงดการจัดกิจกรรมไป 2 ปี จะกลับมาจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวของอำเภอดอยสะเก็ด

จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่จัดงานกิจกรรมให้กับนักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสประเพณียี่เป็ง เป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูสืบสาน ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นแผนงานการศาสนาวัฒนธรรม และนันทนาการงานศาสนาวัฒนธรรมท้องถิ่น จะช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านและชุมชนโดยรอบ พร้อมจัดเตรียมที่จอดรถไว้ 2 พันคัน คาดว่าจะมีผู้ร่วมงานมากกว่า 5 พันคนต่อวัน

ยี่เป็ง เป็นภาษาล้านนา แปลว่า พระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ เป็นงานประเพณีของชาวล้านนาที่ถือปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน เดือนยี่ของชาวล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือน 12 ของภาคกลาง อันเป็นช่วงปลายฤดูฝน ต้นฤดูหนาว ประเพณีดังกล่าวชาวล้านนาจะมีการตบแต่งสถานที่บ้านเรือน วัด ด้วยซุ้มประตูป่า โคมไฟ ต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้ ตุง ช่อประทีป และชักโคมยี่เป็งแบบต่าง ๆ ขึ้นเป็นพุทธบูชา กลางคืนจะมีมหรสพและการละเล่นมากมาย มีการแห่โคมทอง จุดถ้วยประทีป (จุดผางผะติ๊บ) เพื่อบูชาพระรัตนตรัย การจุดบอกไฟ จุดโคมไฟประดับตกแต่งตามวัดวาอาราม และจุดโคมลอยปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ประกอบกับหนองบัวพระเจ้าหลวงมีตำนานของพญานาคราชที่อาศัยอยู่ซึ่งเป็นที่มาของชื่ออำเภอดอยสะเก็ด

ตำบลเชิงดอย เป็นชุมชนที่ต้องการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญไว้เพื่อสืบทอดให้เยาวชนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงประเพณีอันงดงามและเก่าแก่ของบรรพบุรุษ และสืบสาน ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของล้านนาให้ถาวรคงอยู่ รวมถึงการประชาสัมพันธ์หนองบัวพระเจ้าหลวงให้กลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมอีกครั้งหนึ่ง ตลอดจนให้ชนรุ่นหลังได้ระลึกถึงประวัติความเป็นมา (ตำนาน) ของหนองบัวพระเจ้าหลวง เทศบาลตำบลเชิงดอย ร่วมกับสภาวัฒนธรรมตำบลเชิงดอย ผู้นำชุมชน ผู้สูงอายุ กลุ่มสตรีแม่บ้าน เด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไป จึงพร้อมใจกันจัดงานประเพณียี่เป็งหนองบัวพระเจ้าหลวง ประจำปี 2565 (ปีงบประมาณ 2566) จึงคาดว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาท่องเที่ยวประเพณียี่เป็งหนองบัวพระเจ้าหลวง ซึ่งตั้งอยู่ชานเมืองได้เป็นจำนวนมาก


ฮอนด้า แอคคอร์ด

ที่สุดแห่งเทคโนโลยีการขับเคลื่อนระดับพรีเมียม